คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 651/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยต่างแย่งกันครอบครองที่ดินมือเปล่ามา แต่ไม่ได้ความชัดว่าใครครอบครองส่วนไหนเท่าไร ควรฟังว่าโจทก์จำเลยต่างมีสิทธิครอบครองด้วยกัน และให้แบ่งคนละครึ่ง (อ้างฎีกา 587/2480)
………………………………..
โจทก์ฟ้องว่า เดิมข้าหลวงพิเศษจัดแบ่งที่พิพาทรวม 6 แปลง ให้ผู้มีชื่อ 6 คน แต่ยังไม่ได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินให้ ผู้มีชื่อดังกล่าวไม่เคยครอบครองทำประโยชน์เลย เมื่อ พ.ศ. 2482 โจทก์ได้เข้าครอบครองที่พิพาท 2 แปลง ต่อมาโจทก์ขอซื้อที่ที่พิพาทนอกนั้นจากผู้มีชื่อ เมือ พ.ศ. 2485 และครอบครองเป็นเจ้าของมา จำเลยต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นของ อ. บิดาภรรยาจำเลย จำเลยได้ครอบครองร่วมกับ อ. จน อ. ตายจำเลยได้ครอบครองแต่ผู้เดียวจนบัดนี้ 10 ปีเศษแล้ว
ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ฟังว่าโจทก์จเลยต่างมีส่วนครอบครองที่พิพาท แต่ไม่แน่ชัดว่าฝ่ายใดครอบครองเพียงใด หรือทั้งหมด เพราะคู่ความไม่ขอให้ทำแผนที่พิพาทพิพากษาให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์จำเลย จะฟ้องร้องกันใหม่
ศาลอุทธรณ์ ฟังว่าโจทก์ครอบครองโดยตั้งใจ จะซื้อจากเจ้าของเดิม ซึ่งไม่มีสิทธิ จึงไม่มีสิทธิดีกว่าเจ้าของเดิม และเชื่อพยานจำเลย เห็นว่าจำเลยมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าโจทก์ พิพากษายืนให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า โจทก์เข้าครอบครองเพื่อเจตนาเป็นเจ้าของ ที่รายนี้เป็นที่ดินมือเปล่า เมื่อโจทก์จำเลยต่างมีพยานนำสืบว่าต่างแย่งกันครอบครองมา แต่ไม่ได้ความชัดว่า ใครครอบครองที่ส่วนไหนเท่าไร ควรฟังว่า โจทก์จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่พิพาทมาด้วยกันดังศาลชั้นต้นโจทก์จำเลยต่างมีสิทธิในที่พิพาทเท่า ๆ กัน
พิพากษากลับ ให้แบ่งที่พิพาทให้โจทก์จำเลยคนละครึ่ง ถ้าไม่ตกลงให้ประมูลราคาหรือขายทอดตลาดแบ่งเงินคนละครึ่ง
(นนทประชา – ธรรมบัณฑิต – ศิลปสิทธิ)
ศาลจังหวัดสมุทรปราการ – นายนิ่ม กลัสประวิทย์
ศาลอุทธรณ์ – พระดุลยรัตน์พจนาท

Share