คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 65/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำซากสัตว์เคลื่อนย้ายผ่านเข้ามาในเขตโรคระบาดสัตว์ และสงสัยว่ามีโรคระบาดสัตว์โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ มาตรา 17 และ 42 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเคลื่อนย้ายซากสัตว์ผ่านเข้ามาในเขตโรคระบาดและสงสัยว่ามีโรคระบาดสัตว์โดยมีหนังสืออนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วแต่ใบอนุญาตดังกล่าวอนุญาตให้เคลื่อนย้ายซากสัตว์เข้าในหรือผ่านได้เฉพาะเขตปลอดโรคระบาด ดังนี้การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงฝ่าฝืนเงื่อนไขในใบอนุญาตอันเป็นความผิดตามมาตรา 34 วรรค 2 และ 49 ไม่เป็นความผิดตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้อง ศาลจะลงโทษจำเลยไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค 3 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2499 มาตรา 13

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบังอาจนำซากสัตว์หนังโค 100 ผืน หนังกระบือ200 ผืน บรรทุกรถยนต์เคลื่อนย้ายผ่านเข้ามาในเขตโรคระบาดและสงสัยว่ามีโรคระบาด เป็นการฝ่าฝืนประกาศกำหนดเขตโรคระบาดสัตว์และเขตสงสัยว่ามีโรคระบาดสัตว์ของผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามประกาศท้ายฟ้องซึ่งจำเลยทราบประกาศนี้แล้ว ทั้งนี้โดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยซากสัตว์หนังโคกระบือดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 มาตรา 15, 17, 42 คืนของกลางแก่เจ้าของ

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง คืนของกลางแก่เจ้าของ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 ปรับ 150 บาท คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลย 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยเคลื่อนย้ายหนังโคกระบือของกลางซึ่งเป็นซากสัตว์บรรทุกรถยนต์จากจังหวัดนครศรีธรรมราชไปยังกรุงเทพฯ ตามใบอนุญาตนำหรือเคลื่อนย้ายซากสัตว์ของนายเที้ยง แซ่โก้ และนายสุรินทร์ จิตรเชื้อกุล ซึ่งออกโดยสัตว์แพทย์จังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยถูกจับพร้อมด้วยซากสัตว์ในเขตท้องที่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ออกประกาศเป็นเขตโรคระบาดและสงสัยว่ามีโรคระบาดสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทำการเคลื่อนย้ายซากสัตว์ของกลางเข้าในเขตที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ประกาศกำหนดเป็นเขตโรคระบาด และเป็นเขตสงสัยว่ามีโรคระบาด โดยมีหนังสืออนุญาตของสัตว์แพทย์จังหวัดนครศรีธรรมราชตามเอกสาร จ.1 จ.2 แล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้อง แม้ว่าใบอนุญาตดังกล่าวจะอนุญาตให้เคลื่อนย้ายซากสัตว์ของกลางเข้าในหรือผ่านได้เฉพาะเขตปลอดโรคระบาด เมื่อจำเลยเคลื่อนย้ายซากสัตว์เข้าในหรือผ่านเขตที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ประกาศเป็นเขตโรคระบาด จึงเป็นเพียงฝ่าฝืนเงื่อนไขในใบอนุญาตเท่านั้น การฝ่าฝืนเงื่อนไขในใบอนุญาตพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 บัญญัติความผิดไว้ตามมาตรา 34 วรรคสอง ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา 49 ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลจะลงโทษจำเลยไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2499 มาตรา 13 วรรคสาม

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ของกลางคืนเจ้าของ

Share