คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 192/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การสลักหลังเช็คซึ่งสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือย่อมเป็นการประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921,989 และตามมาตรา940 วรรคแรก ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกับบุคคลซึ่งตนประกัน ซึ่งมีความหมายว่าผู้สั่งจ่ายมีความรับผิดต่อผู้ทรงอย่างใด ผู้รับอาวัลย่อมต้องมีความรับผิดต่อผู้ทรงเช่นเดียวกัน ดังนั้นอายุความที่ผู้สลักหลังดังกล่าวจะยกขึ้นต่อสู้ผู้ทรงจึงมีกำหนด 1 ปีนับแต่เช็คถึงกำหนดตามมาตรา 1002 หาใช่ต้องใช้อายุความทั่วไปไม่
จำเลยนำเช็คที่จำเลยลงชื่อสลักหลังมาขายให้ธนาคารโจทก์โดยจำเลยต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แก่ธนาคารโจทก์คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยรับเงินค่าขายเช็คไปจากธนาคารโจทก์จนถึงวันที่เช็คถึงกำหนด และธนาคารโจทก์ได้หักดอกเบี้ยนี้ไว้แล้ว ดังนี้เป็นค่าตอบแทนที่ธนาคารโจทก์รับซื้อเช็คไว้เท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในกรณีธนาคารโจทก์ขึ้นเงินตามเช็คไม่ได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีข้อตกลงไว้โดยชัดแจ้งธนาคารผู้ทรงย่อมเรียกร้องจากจำเลยได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 จะนำประเพณีธนาคารในการคิดดอกเบี้ยมาเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 14 ต่อปีหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับรวมเป็นเงิน 150,000 บาทแล้วขายให้โจทก์โดยมีข้อตกลงว่า โจทก์จ่ายเงินตามเช็คไปก่อน และเมื่อถึงกำหนดเวลาตามเช็คจึงจะส่งเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารผู้จ่าย แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ทวงถามจำเลยผ่อนชำระให้คงค้างอยู่ 120,000 บาท กับค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 14 ต่อปีนับแต่วันที่เช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 34,232.74 บาทขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวและดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ในต้นเงิน120,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยไม่เคยตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีแก่โจทก์ และไม่รับรองยอดหนี้ที่โจทก์คำนวณมาในฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ 120,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีของเช็คแต่ละฉบับนับแต่วันที่เช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดถึงวันฟ้อง แต่ไม่เกิน 34,232.74 บาท กับดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวจากต้นเงิน 120,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาเรื่องอายุความฟ้องคดีนี้ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ดังกล่าวข้างต้น เห็นว่าจำเลยในฐานะผู้สลักหลังเช็คพิพาททั้งสามฉบับซึ่งเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง โดยถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นการประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ซึ่งมีอายุความฟ้องร้อง 1 ปี นับแต่วันเช็คถึงกำหนดตามมาตรา 1002 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ทั้งนี้เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940 วรรคแรก บัญญัติว่า ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน อันมีความหมายถึงว่า ผู้สั่งจ่ายมีความรับผิดต่อผู้ทรงอย่างใด ผู้รับอาวัลย่อมต้องมีความรับผิดต่อผู้ทรงเช่นเดียวกันดังนั้น อายุความที่ผู้สลักหลังจะยกขึ้นต่อสู้ผู้ทรงจึงเป็นเช่นเดียวกับผู้สั่งจ่าย หาใช่ต้องใช้อายุความทั่วไปดังที่โจทก์อ้างในฎีกาไม่ ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปจึงมีว่า ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยผ่อนชำระหนี้ตามเช็คเป็นการรับสภาพหนี้ซึ่งการผ่อนชำระครั้งสุดท้ายนับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เป็นความจริงหรือไม่

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ตามเอกสาร จ.6 ถึง จ.8 จริง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ส่วนปัญหาต่อไปที่ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี จากหนี้ตามเช็คที่ยังค้างอยู่ 120,000 บาท หรือไม่เพียงไร ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์นำสืบนายวิทยา ตุลยายน ว่า การซื้อขายเช็คตามประเพณีธนาคาร ธนาคารคิดดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี จะคิดดอกเบี้ยน้อยกว่านี้ก็ทำได้ แต่ต้องตกลงกันเป็นพิเศษ และมีหลักฐานข้อตกลงไว้โดยชัดแจ้ง สำหรับหนี้รายนี้ไม่มีข้อตกลงไว้เป็นพิเศษ คงถือตามระเบียบและประเพณีธนาคาร ในการซื้อขายเช็ค ธนาคารจะต้องคิดดอกเบี้ยแล้วหักออกจากเงินตามเช็คก่อนจ่ายเงินให้ผู้ขายเช็ค เว้นแต่ในกรณีขายเช็คเอาเงินเข้าบัญชีของลูกค้า ธนาคารจะจ่ายเงินเต็มตามเช็ค แล้วลูกค้านำดอกเบี้ยมาชำระให้ภายหลัง เช็คพิพาททั้งสามฉบับ จำเลยนำมาขายรับเงินสดจากโจทก์ไป ธนาคารโจทก์ได้หักดอกเบี้ยไว้แล้ว จำเลยอ้างตัวเองเป็นพยานว่า ไม่มีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ย เป็นแต่ให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้สลักหลังเช็คเท่านั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์แสดงว่า การที่จำเลยนำเช็คมาขายให้ธนาคารโจทก์นั้น จำเลยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แก่ธนาคารโจทก์โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ซึ่งย่อมต้องหมายความว่า เป็นดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่จำเลยรับเงินค่าขายเช็คไปจากธนาคารโจทก์จนถึงวันที่เช็คถึงกำหนดเป็นค่าตอบแทนที่ธนาคารโจทก์รับซื้อเช็คไว้เท่านั้น การที่ธนาคารโจทก์ขึ้นเงินตามเช็คไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่ธนาคารโจทก์ในฐานะผู้ทรงจะเรียกร้องให้ผู้สั่งจ่ายหรือจำเลยในฐานะผู้สลักหลังใช้เงินตามเช็คให้โจทก์ ส่วนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีข้อตกลงกันไว้โดยแจ้งชัด ธนาคารโจทก์ผู้ทรงย่อมเรียกร้องจากจำเลยได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 จะนำเอาประเพณีธนาคารในการคิดดอกเบี้ยมาใช้บังคับแก่กรณีนี้หาได้ไม่

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้เงิน 120,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่เช็คพิพาทถึงกำหนดจนถึงวันชำระเสร็จสิ้นให้โจทก์

Share