แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่รถยนต์ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมราคานอกเหนือจากการที่จำเลยใช้รถยนต์นั้นโดยชอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3, ลักษณะ 5 ว่าด้วยเช่าซื้อ มิได้บัญญัติเรื่องอายุความฟ้องร้องไว้โดยตรงแต่การที่จำเลยในฐานะผู้เช่าซื้อเป็นแต่เพียงเช่าทรัพย์นั้นไปโดยมีคำมั่นของโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อว่าจะขายทรัพย์นั้นให้เท่านั้น จึงต้องนำมาตรา 562 ในลักษณะเช่าทรัพย์มาบังคับใช้โดยอนุโลม เมื่อโจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อคืนได้วันที่ 23 มีนาคม 2537 กรณีจึงถือได้ว่าเป็นวันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่7 กันยายน 2537 ยังไม่เกินกำหนด 6 เดือน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะเรียกร้องมาเป็นค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญา ไม่ได้เรียกร้องเป็นค่าเสียหายฐานผิดสัญญาต่อโจทก์ก็ตาม แต่คำบรรยายฟ้องโจทก์กล่าวว่าโจทก์ได้ทวงถามค่าเช่าซื้อจากจำเลยผู้เช่าซื้อแล้วจำเลยผิดนัดโจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีถือได้ว่า โจทก์ได้เรียกค่าเสียหายฐานจำเลยใช้รถยนต์อันเป็นทรัพย์ของโจทก์มาตลอดเวลาที่จำเลย ยังคงครอบครองรถยนต์ของโจทก์อยู่ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลย ใช้ค่าเสียหายได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เขตอำนาจศาลว่าด้วยศาลที่จะรับคำฟ้อง ย่อมเป็นไปตาม สภาพแห่งคำฟ้องและชั้นของศาลว่าศาลนั้นมีอำนาจฟ้องที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและต้องปรากฏว่าคดีนั้นอยู่ในเขตศาลนั้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยศาลที่จะรับคำฟ้องและตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดเขตศาล ตามมาตรา 2 ด้วย ขณะโจทก์จำเลยทำข้อตกลงกันเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535ที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์ในกรุงเทพมหานคร ว่าตกลงให้ฟ้องคดีที่ศาลแพ่ง ขณะนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขแล้ว มาตรา 4(1) ซึ่งใช้บังคับอยู่ได้บัญญัติให้ฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลได้ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ และมาตรา 5 บัญญัติว่า คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้นไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดีเพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดีหรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดีถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้เช่นนี้ เมื่อคำฟ้องของโจทก์อาจเสนอต่อศาลได้สองศาลขึ้นไปคือศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลและศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขแล้วก็ได้ยกเลิกบทบัญญัติตาม มาตรา 7(4) เดิมว่าด้วยข้อตกลงที่คู่สัญญาตกลงที่คู่สัญญาตกลงกันล่วงหน้าให้ฟ้องคดีที่ศาลใดศาลหนึ่ง ดังนี้ เมื่อสำนักงานใหญ่ของโจทก์เป็นสถานที่ที่เกิดมูลคดีขึ้นและอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ฉะนั้น การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้และศาลรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาข้างต้นจึงเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535 จำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ ในราคา 203,004 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ในการทำสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันได้จัดทำขึ้นที่ภูมิลำเนาโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อันเป็นศาลซึ่งมูลคดีเกิดขึ้นในการฟ้องคดีนี้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 13 ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันต่อมาโจทก์ติดตามยึดรถยนต์คืนได้ในสภาพชำรุดและนำออกประมูลขายได้เงินเพียง 60,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นค่าเสื่อมราคา 70,000 บาท และขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการให้บุคคลอื่นเช่าได้ค่าเช่าเดือนละ5,000 บาท เป็นเวลา 11 เดือนครึ่งเป็นเงิน 57,500 บาทค่าใช้จ่ายติดตามรถยนต์คืน 5,000 บาท ค่าเช่าซื้อที่ค้างก่อนบอกเลิกสัญญา 2 เดือน เป็นเงิน 11,278 บาท รวมเป็นเงิน143,778 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกัน ชำระเงิน 143,778 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะตามสัญญามีข้อตกลงให้ฟ้องที่ศาลแพ่ง และค่าเสื่อมราคาขาดอายุความแล้วเพราะเกิน 6 เดือนโจทก์เรียกไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน60,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 58,750 บาท แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งจำเลยที่ 2 ฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า เมื่อวันที่30 มกราคม 2535 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อบี.เอ็ม.ดับบลิว หมายเลขทะเบียน 1จ-4350 กรุงเทพมหานครไปจากโจทก์ราคา 203,004 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ 36 งวด งวดละ 5,639 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่29 กุมภาพันธ์ 2535 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 30 ของเดือนจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว ทำขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์เลขที่ 163 ถนนสุรวงศ์ แขวงสุริยวงศ์เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ภายหลังทำสัญญา จำเลยที่ 1ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติดต่อกัน ตั้งแต่งวดที่ 13 ประจำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2536 เป็นต้นมา ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2536 เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม 2537 โจทก์ติดตามยึดรถยนต์คืนได้รถยนต์ที่เช่าซื้อสภาพช่วงล่างมีเสียงสีด้านและมีรอยขีดข่วนไฟท้ายขวาแตก ประตูด้านขวาปิดไม่ได้ ทำให้เสื่อมราคาโจทก์นำออกประมูลขายได้เพียง 60,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายข้อแรกว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสื่อมราคารถยนต์ที่เช่าซื้อขาดอายุความ 6 เดือนแล้วนับแต่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่รถยนต์ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมราคานอกเหนือจากการที่จำเลยใช้รถยนต์นั้นโดยชอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 5 ว่าด้วยเช่าซื้อ มิได้บัญญัติเรื่องอายุความฟ้องร้องไว้โดยตรงแต่การที่จำเลยในฐานะผู้เช่าซื้อเป็นแต่เพียงเช่าทรัพย์นั้นไปโดยมีคำมั่นของโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อว่าจะขายทรัพย์นั้นให้เท่านั้น จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 562 ในลักษณะเช่าทรัพย์มาบังคับใช้โดยอนุโลมและมาตรา 563 บัญญัติว่า “คดีอันผู้ให้เช่าจะฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่านั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้อง เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า” ดังนั้น เมื่อโจทก์ติดตามยึดรถยนต์คืนได้วันที่ 23 มีนาคม 2537 กรณีจึงถือได้ว่าเป็นวันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่7 กันยายน 2537 ยังไม่เกินกำหนด 6 เดือน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1585/2517 คดีระหว่าง บริษัทสยามกลการ จำกัดโจทก์นายสมุน สุมนเตมีย์ กับพวก จำเลย
จำเลยที่ 2 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายต่อมาว่า ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์แทนค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเป็นการกำหนดค่าเสียหายนอกคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องจึงเป็นการพิพากษาที่ไ่ม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะเรียกร้องมาเป็นค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญา ไม่ได้เรียกร้องเป็นค่าเสียหายฐานผิดสัญญาต่อโจทก์ก็ตาม แต่คำบรรยายฟ้องโจทก์กล่าวว่าโจทก์ได้ทวงถามค่าเช่าซื้อจากจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดนัดโจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งกรณีดังกล่าวพอถือได้ว่าโจทก์ได้เรียกค่าเสียหายฐานจำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์อันเป็นทรัพย์ของโจทก์มาตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองรถยนต์ของโจทก์อยู่ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1ใช้ค่าเสียหายได้ ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 601/2513 คดีระหว่าง บริษัทสยามกลการและนิสสัน จำกัด โจทก์นายเผยอบบ์ พุ่มชูศรี กับพวกจำเลย
จำเลยที่ 2 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายข้อสุดท้ายว่า ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันมีข้อตกลงในสัญญาให้ฟ้องคดีที่ศาลแพ่งแต่โจทก์ฟ้องคดีที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อันเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ศาลแพ่งกรุงเทพใต้จึงไม่มีอำนาจรับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เขตอำนาจศาลว่าด้วยศาลที่จะรับคำฟ้องนั้น ย่อมเป็นไปตามสภาพแห่งคำฟ้องและชั้นของศาลว่าศาลนั้นมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และปรากฏว่าคดีนั้นอยู่ในเขตศาลนั้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยศาลที่จะรับคำฟ้องและตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดเขตศาลด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 2 เมื่อโจทก์จำเลยทำข้อตกลงกันเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535 ที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์เลขที่ 163 ถนนสุรวงศ์ แขวงสุริยวงศ์เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ขณะนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขแล้ว มาตรา 4(1)ซึ่งใช้บังคับอยู่บัญญัติว่า “คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่” และมาตรา 5 บัญญัติว่า”คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้นไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดีหรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้”ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลขึ้นไปคือศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลและศาลที่มีมูลคดีเกิดขึ้น ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขแล้วก็ได้ยกเลิกบทบัญญัติตาม มาตรา 7(4) เดิม ว่าด้วยข้อตกลงที่คู่สัญญาตกลงที่คู่สัญญาตกลงกันล่วงหน้าให้ฟ้องคดีที่ศาลใดศาลหนึ่ง ดังนี้ เมื่อสำนักงานใหญ่ของโจทก์เป็นสถานที่ที่เกิดมูลคดีขึ้น และอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ฉะนั้น การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาข้างต้นจึงเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว
พิพากษายืน