คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6495/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ซึ่งเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้แต่เมื่อเป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กล่าวแก้ เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ ซึ่งหากศาลพิพากษาให้เพิกถอน น.ส.3 ก. พิพาท ตามคำขอของโจทก์ ก็ย่อมเป็นผล ต่อเนื่องในเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน อันเป็นการ ให้แสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั่นเอง จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ปรากฏว่าโจทก์ซื้อที่ดินจาก บ. เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน59 ตารางวา ในราคา 10,000 บาท และจำเลยที่ 1 ขอออก น.ส.3 ก. ทับที่ดินของโจทก์เพียงบางส่วน และจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 เนื้อที่ 3 ไร่ 55 ตารางวา ในราคา 60,000 บาท จำเลยที่ 3ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 เนื้อที่ 3 งาน 88 ตารางวาในราคา 20,000 บาท โจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจาก ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินมาจากจำเลยที่ 1เพียงประมาณ 1 ปี ราคาของที่ดินจึงไม่น่าจะต่างกันมากนัก ที่ดินเฉพาะในส่วนที่พิพาทกันมีเนื้อที่เป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับทั้งแปลง ราคาของที่ดินพิพาทซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ของคดีนี้ย่อมไม่เกิน50,000 บาทจึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ ในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 49 ตารางวา เดิมที่ดินดังกล่าวเป็นของนางบุญทอง สมประสงค์และโจทก์ได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนางบุญทองเมื่อปี 2515 และได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมาโดยตลอด ไม่มีผู้ใดโต้แย้ง ตลอดจนได้เสียภาษีที่ดินติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 164 หมู่ที่ 2 เนื้อที่ 3 ไร่3 งาน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 149 เนื้อที่ 4 ไร่43 ตารางวา แล้วจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวเป็น 2 แปลง คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 149 เนื้อที่ 3 ไร่ 55 ตารางวาแล้วโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 กับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 152 เนื้อที่ 3 งาน 88 ตารางวาแล้วโอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่ที่ดินผู้กระทำการในฐานะเจ้าหน้าที่ที่ดินในการรับเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตลอดถึงการสอบสวนสิทธิและรังวัดที่ดินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นนายอำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้ลงลายมือชื่อและประทับตราประจำตำแหน่งในหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ทั้ง 2 ฉบับตลอดถึงการทำนิติกรรมใด ๆ ในที่ดินดังกล่าวด้วย เมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคม 2534 โจทก์ถูกฟ้องคดีอาญาในข้อหาบุกรุกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 152 ของจำเลยที่ 3 เป็นคดีอาญาโจทก์จึงทราบว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ร่วมกันฉ้อฉลโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ดังกล่าวและกำลังดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินแต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ร่วมกันขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ต่อเจ้าหน้าที่ที่ดิน โดยอาศัยแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) ของจำเลยที่ 1 ทั้งที่ไม่ทราบว่าที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) ดังกล่าวตั้งอยู่ที่บริเวณใดแต่ได้นำชี้แนวเขตให้เจ้าหน้าที่รังวัดออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์และได้ให้การอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ในการออกหนังสือดังกล่าวเมื่อเจ้าหน้าที่ได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ทั้ง 2 ฉบับให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันที่23 เมษายน 2534 แล้ว ต่อมาในวันที่ 24 เมษายน 2534จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวจึงออกโดยเหตุแห่งการฉ้อฉล อันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 149 และ 152 ที่จำเลยที่ 4 ในฐานะเจ้าหน้าที่ที่ดินอำเภอเมืองกาญจนบุรี เป็นผู้ดำเนินการโดยการอนุมัติของจำเลยที่ 5เป็นที่ดินอยู่ในเขตอำนาจของราชพัสดุจังหวัดกาญจนบุรี และเป็นบริเวณที่มีระวางออกโฉนด การที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้อนุมัติให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากราชพัสดุจังหวัดกาญจนบุรี และไม่ได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2532) ว่าด้วยเงื่อนไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 149 เนื้อที่ 3 ไร่ 55 ตารางวาและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 152เนื้อที่ 3 งาน 88 ตารางวา
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทและได้ยื่นเรื่องราวขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ตามระเบียบทุกประการ หนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 149 และ 152 จึงชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้รับโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต โดยมีค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า โจทก์และนางบุญทอง สมประสงค์ไม่เคยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามที่โจทก์ฟ้องที่ดินที่นางบุญทองเคยครอบครองนั้นได้ขอออกโฉนดและขายให้ผู้อื่นไปแล้ว ไม่ใช่ที่ดินแปลงที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ และที่ดินตามที่โจทก์ฟ้องเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง(ส.ค.1) เลขที่ 164 ซึ่งต่อมาได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 149 และ 152 โจทก์เคยยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2534 และได้นำชี้ล้ำเข้าไปในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 149 และ 152 ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หมดทั้งแปลงนอกจากนี้ในระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2534 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน2534 โจทก์ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 152 ของจำเลยที่ 3 และโจทก์ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาข้อหาบุกรุก การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องก็เพื่ออาศัยผลคดีไปใช้อ้างต่อศาล เพื่อให้โจทก์พ้นผิดจากคดีอาญาดังกล่าว หนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 149 จำเลยที่ 4 เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วเสนอจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 5 ได้สั่งการให้จำเลยที่ 4 ทำการรังวัดที่ดิน เมื่อรังวัดที่ดินเสร็จแล้วจำเลยที่ 4 เพียงแต่เสนอผลการรังวัดให้จำเลยที่ 5 ทราบเท่านั้น ในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 149 และ 152 นั้น เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบของทางราชการทุกประการ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ซึ่งเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ก็ตาม แต่คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ก็กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ ซึ่งหากศาลพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) พิพาทตามคำขอของโจทก์ ก็ย่อมเป็นผลต่อเนื่องในเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน อันเป็นการให้แสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั่นเอง จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของตัวโจทก์ว่า เมื่อปี 2515 โจทก์ซื้อที่ดินจากนางบุญทอง สมประสงค์ เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 59 ตารางวาในราคา 10,000 บาท และจำเลยที่ 1 ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทับที่ดินของโจทก์เพียงบางส่วน ตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.17 และเมื่อปี 2534จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 เนื้อที่ 3 ไร่ 55 ตารางวาในราคา 60,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.13 และจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1เนื้อที่ 3 งาน 88 ตารางวา ในราคา 20,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ล.4 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2535 อันเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยที่ 2และที่ 3 ซื้อที่ดินมาจากจำเลยที่ 1 เพียงประมาณ 1 ปีราคาของที่ดินจึงไม่น่าจะต่างกันมากนัก ที่ดินเฉพาะในส่วนที่พิพาทกันเมื่อดูจากแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.17 แล้ว เห็นว่ามีเนื้อที่เป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับทั้งแปลง เช่นนี้ราคาของที่ดินพิพาทซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ของคดีนี้ย่อมไม่เกิน 50,000 บาทจึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งที่โจทก์อุทธรณ์ว่าเมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานของโจทก์และของจำเลยทั้งห้าแล้ว เห็นได้ว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงต้องเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 149 และ 152 ตำบลท่ามะขามอำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ ถือว่าข้อเท็จจริงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับและให้ยกฎีกาของโจทก์คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้โจทก์

Share