แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนี้ที่ผู้ร้องนำมายื่นคำร้องในคดีนี้เป็นหนี้ตามสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัท อ. ทำกับเจ้าหนี้เดิม โดยลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน สิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ดังนั้น เมื่อนับจากวันที่บริษัท อ. ทำสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้วผิดนัดชำระหนี้ถึงวันที่เจ้าหนี้เดิมได้ฟ้องบริษัท อ. ผู้ค้ำประกันรายอื่นและลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เป็นจำเลยที่ศาลอุตรดิตถ์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1123/2542 ยังไม่เกิน 10 ปี ไม่ขาดอายุความ ผลของการฟ้องคดีดังกล่าวทำให้อายุความในหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 มีต่อเจ้าหนี้เดิมในฐานะผู้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคสอง คดีของศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ดังกล่าวสิ้นสุดลงตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 ในวันที่ 10 มิถุนายน 2548 ซึ่งมิใช่คำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ที่ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง อายุความสำหรับฟ้องคดีนี้จึงต้องนับใหม่ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2548 ผู้ร้องนำหนี้ดังกล่าวมายื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2552 ยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องจึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งหกเด็ดขาด
ระหว่างพิจารณา ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องถอนคำร้องและจำหน่ายคดีสำหรับลูกหนี้ที่ 1 และที่ 6 และมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับลูกหนี้ที่ 3 และที่ 5 เนื่องจากถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีอื่นแล้ว
ลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 ไม่ยื่นคำคัดค้าน
ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่า มูลหนี้ที่นำมาร้องขอคดีนี้เป็นหนี้ที่ขาดอายุความ กรณีมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 ล้มละลาย จึงมีคำสั่งยกคำร้อง ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 20,000 บาท
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องในข้อแรกว่า หนี้ที่ผู้ร้องนำมายื่นคำร้องขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า หนี้ที่ผู้ร้องนำมายื่นคำร้องในคดีนี้เป็นหนี้ตามสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัทโรงพยาบาลเอกชนอุตรดิตถ์ จำกัด ทำกับเจ้าหนี้เดิม โดยลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน สิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ดังนั้น เมื่อนับจากวันที่บริษัทโรงพยาบาลเอกชนอุตรดิตถ์ จำกัด ทำสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้วผิดนัดชำระหนี้ถึงวันที่เจ้าหนี้เดิมได้ฟ้องบริษัทโรงพยาบาลเอกชนอุตรดิตถ์ จำกัด ผู้ค้ำประกันรายอื่นและลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เป็นจำเลยที่ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1123/2542 ยังไม่เกิน 10 ปี ไม่ขาดอายุความ ผลของการฟ้องคดีดังกล่าวทำให้อายุความในหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 มีต่อเจ้าหนี้เดิมในฐานะผู้ค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 สะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (2) ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 วรรคสอง คดีของศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ดังกล่าวสิ้นสุดลงตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 ในวันที่ 10 มิถุนายน 2548 ซึ่งมิใช่คำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้อง หรือทิ้งฟ้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ที่ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง อายุความสำหรับฟ้องคดีนี้จึงต้องนับใหม่ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2548 ผู้ร้องนำหนี้ดังกล่าวมายื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2552 ยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องจึงไม่ขาดอายุความ ซึ่งข้อเท็จจริงในการฟ้องคดีและการจำหน่ายคดีของศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ดังกล่าวผู้ร้องได้บรรยายไว้ในคำร้องและนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาของศาลล้มละลายกลางแล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องประการต่อไปมีว่า ลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ผู้ร้องสั่งโดยที่ลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 อยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้หรือไม่ ประเด็นนี้ศาลล้มละลายกลางยังมิได้วินิจฉัย แต่เมื่อคดีมีการสืบพยานผู้ร้องและลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นนี้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยก่อน เห็นว่า ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ของเจ้าหนี้เดิม จำนวน 519,945,403.97 บาท ที่มีต่อลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เมื่อผู้ร้องมีหนังสือและประกาศแจ้งให้ลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 ชำระหนี้หรือเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้ แต่ลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เพิกเฉย โดยลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงว่าลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 ได้ชำระหนี้หรือให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังว่าลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ผู้ร้องสั่งโดยที่ลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 อยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เด็ดขาด ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้ลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนผู้ร้อง โดยหักจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร