คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6489/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาให้ใช้สิทธิ (LicensingAgreement) กับบริษัท ช.ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศแคนาดา โดยบริษัทช. อนุญาตให้โจทก์มีสิทธิผลิตสินค้าเครื่องสำอางและเครื่องหอมภายใต้เครื่องหมายการค้าซึ่งบริษัทมีสิทธิอนุญาตให้ผู้อื่นใช้ ทั้งจะให้คำแนะนำแก่โจทก์ในข้อปฏิบัติและกรรมวิธีในการผลิตสินค้าตามเครื่องหมายการค้าดังกล่าว รวมทั้งการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตลอดจนจัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาดูแลและให้คำแนะนำแก่โจทก์เป็นครั้งคราว โดยโจทก์ต้องจ่ายค่าตอบแทนคิดคำนวณจากยอดขายของโจทก์ให้บริษัท สัญญานี้โจทก์ทำกับสำนักงานใหญ่ของบริษัทโดยตรง แต่หลังจากทำสัญญาแล้วสำนักงานสาขาประเทศไทยของบริษัท เป็นตัวแทนปฏิบัติตามพันธะ ดังกล่าว รวมทั้งการตรวจสอบยอดขายและการเปลี่ยนแปลงราคาขายของโจทก์สำนักงานสาขาประเทศไทยอันเป็นนิติบุคคลเดียวกันกับบริษัทจึงเป็นผู้กระทำกิจการอันเป็นเหตุให้บริษัทได้รับเงินค่าสิทธิในประเทศไทย และมีหน้าที่เสียภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 66กรณีมิใช่เงินได้ของนิติบุคคลต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยตามมาตรา 70 โจทก์ผู้จ่ายเงินค่าสิทธิจึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายพร้อมเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน1,316,632.37 บาท อ้างว่าโจทก์จ่ายเงินค่าสิทธิให้บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่มิได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70(2) โจทก์อุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าการประเมินชอบแล้ว ให้ยกอุทธรณ์ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า โจทก์ทำสัญญาให้ใช้สิทธิกับสำนักงานใหญ่ของบริษัทดังกล่าวโดยตรง สำนักงานสาขาประเทศไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดเงินค่าสิทธิดังกล่าวในประเทศไทย โจทก์จึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งตามประมวลรัษฎากรมาตรา 70(2)เมื่อโจทก์มิได้หักและนำส่ง การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงชอบแล้ว
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่คู่ความรับกันว่า บริษัทชีสเบรอ-พอนด์สอินเตอร์เนชันนั่ล จำกัด เป็นบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศแคนาดา มีสำนักงานอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ได้เข้ามาตั้งสาขาในประเทศไทยเมื่อปี 2502 มีสถานการค้าตั้งอยู่เลขที่226 ถนนนเรศ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร โดยจดทะเบียนพาณิชย์ต่อสำนักงานกลางทะเบียนพาณิชย์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2502ประกอบธุรกิจการค้าและขายเครื่องสำอาง และจดทะเบียนการค้าต่อกรมสรรพากรเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2504 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2521บริษัทดังกล่าวได้ทำสัญญาให้ใช้สิทธิ (Licensing Agreement)กับโจทก์ โดยยินยอมให้โจทก์มีสิทธิผลิตสินค้า เครื่องหอม และเครื่องสำอางภายใต้ชื่อเครื่องหมายการค้า วาสเซอลีน พอนด์สและแองเจิลเฟซ และเครื่องหมายการค้าอื่นซึ่งบริษัทดังกล่าวมีสิทธิให้ผู้อื่นใช้ได้ และจะให้คำแนะนำแก่โจทก์ในข้อปฏิบัติและกรรมวิธีในการผลิตเครื่องสำอางตามเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ให้คำแนะนำทางด้านเทคนิคและความช่วยเหลืออื่น ๆ เพื่อให้โจทก์สามารถผลิตและบรรจุผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการจัดส่งและคำอธิบายทั้งหลายที่เกี่ยวกับสูตรและคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ ตลอดจนจัดให้มีบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิมาเยี่ยมเยียนเพื่อดูแลและให้คำแนะนำแก่โจทก์เกี่ยวกับวิธีการผลิตและบรรจุเป็นครั้งคราวโดยโจทก์ต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนคิดคำนวณจากยอดขายของโจทก์ ปรากฏตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2523 โจทก์ได้จ่ายเงินค่าสิทธิตามสัญญาเป็นเงิน 7,535,648.51บาท และในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2524 ได้จ่ายอีก 4,388,774.56 บาทรวม 2 รอบระยะเวลาบัญชีเป็นเงิน 11,924,423.07 บาท ให้แก่บริษัทดังกล่าวผ่านสาขาประเทศไทยโดยโจทก์ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา 70(2) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะเห็นว่าเป็นเงินได้อันเกิดจากการประกอบกิจการในประเทศไทยของบริษัทดังกล่าว
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า เงินค่าสิทธิในคดีนี้เป็นเงินได้ของนิติบุคคลต่างประเทศที่มิได้เกิดจากการประกอบกิจการในประเทศไทยดังที่จำเลยอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายยิ่งยงโกมลมิศร์ กรรมการผู้จัดการโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ตามข้อตกลงให้โจทก์ใช้สิทธิตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 ที่บริษัทชีสเบรอ-พอนด์สอินเตอร์เนชันนั่ล จำกัด ให้โจทก์มีสิทธิผลิตสินค้า เครื่องหอมและเครื่องสำอางภายใต้ชื่อเครื่องหมายการค้าวาสเซอลีน พอนด์สและแองเจิลเฟซ และเครื่องหมายการค้าอื่นซึ่งบริษัทดังกล่าวมีสิทธิให้ผู้อื่นใช้ได้ โดยบริษัทดังกล่าวจะให้คำแนะนำในข้อปฏิบัติกรรมวิธีการผลิตสินค้าดังกล่าว รวมทั้งการช่วยเหลืออื่น ๆตลอดจนส่งผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำโจทก์เป็นครั้งคราว ในการขอคำแนะนำตามสัญญานี้ โจทก์จะขอคำแนะนำผ่านสำนักงานสาขาประเทศไทย เมื่อได้รับคำแนะนำจากบริษัทดังกล่าวแล้วจะแจ้งให้โจทก์ทราบอีกต่อหนึ่งบางครั้งบริษัทดังกล่าวส่งผู้เชี่ยวชาญมาประจำที่สำนักงานสาขาประเทศไทย โจทก์จะขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่สำนักงานสาขาประเทศไทยโดยตรง สำหรับการชำระเงินค่าสิทธิ โจทก์ได้ชำระให้แก่สำนักงานสาขาประเทศไทยภายใน 90 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของแต่ละเดือน โดยรวมยอดขายและคำนวณค่าสิทธิเป็นอัตราร้อยละส่งให้สำนักงานสาขาประเทศไทยตรวจสอบเมื่อถูกต้องสำนักงานสาขาก็จะส่งใบเสร็จรับเงินมาเรียกเก็บจากโจทก์ หากโจทก์เปลี่ยนแปลงราคาสินค้าก็ต้องแจ้งให้สำนักงานสาขาทราบ เพราะการเปลี่ยนแปลงจะกระทบต่อยอดขายและยอดเงินค่าสิทธิ โดยโจทก์มีเอกสารที่ใช้ในการติดต่อดังกล่าวเป็นพยานสนับสนุนคำเบิกความ คือ เอกสารหมาย จ.12เป็นเทเล็กซ์ ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2524 ของเจ้าหน้าที่บริษัทดังกล่าวสาขาออสเตรเลียมีถึงเจ้าหน้าที่สำนักงานสาขาประเทศไทยแจ้งให้ทราบว่าจะส่งแบบสำหรับแป้งฝุ่นพอนด์สที่ได้รับจากสำนักงานใหญ่มาให้สำนักงานสาขาประเทศไทยต่อไป โดยสำเนาเทเล็กซ์ให้โจทก์ทราบด้วย เอกสารหมาย จ.18 และ จ.20 เป็นหนังสือของนายไมเคิล เจ.บลูท เจ้าหน้าที่ชั้นสูงของสำนักงานสาขาประเทศไทยลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2524 ถึงนายอีริค เฮเลสเทค ผู้จัดการโรงงานของโจทก์ถามเรื่องส่งใบเรียกเก็บเงินค่าแม่พิมพ์ล่าช้าและแจ้งให้ทราบถึงสูตรที่ใช้ในการผลิตสินค้าเป็นสูตรที่ถูกต้องเอกสารหมาย จ.16 เป็นเทเล็กซ์ ลงวันที่ 6 มีนาคม 2528 ของนายไมเคิล เจ.บลูท มีถึงเจ้าหน้าที่บริษัทดังกล่าวประจำภาคตะวันออกไกล แจ้งให้ทราบว่าได้ตรวจภาชนะบรรจุครีมถนอมผิวพบข้อบกพร่องเล็กน้อย ขออนุญาตให้โจทก์ใช้ผลิตต่อไปได้ โดยสำเนาให้โจทก์ทราบด้วย เอกสารหมาย จ.19 เป็นหนังสือของนายไมเคิลเจ.บลูท ลงวันที่ 6 มีนาคม 2524 มีถึงนายอีริค ไฮเลสเทค ผู้จัดการโรงงานของโจทก์ทักท้วงเรื่องค่าใช้จ่ายในการออกของว่าสูงเกินไปเอกสารหมาย จ.17 เป็นเทเล็กซ์ ลงวันที่ 25 มีนาคม 2524 ของเจ้าหน้าที่บริษัทดังกล่าวประจำภาคตะวันออกไกลมีถึงโจทก์เรื่องภาชนะที่ใช้บรรจุสินค้า โดยสำเนาถึงสำนักงานสาขาประเทศไทยด้วยเอกสารหมาย จ.24 ลงวันที่ 7 เมษายน 2524 และหมาย จ.25 ลงวันที่26 กุมภาพันธ์ 2534 เป็นหนังสือที่โจทก์แจ้งให้สำนักงานสาขาประเทศไทยทราบถึงการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้า และสำนักงานสาขาประเทศไทยมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.21 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2534แจ้งให้บริษัทดังกล่าวทราบถึงการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าสิทธิ เอกสารเหล่านี้โจทก์ได้รับมาตามข้อพันธะในข้อสัญญา นายยิ่งยงพยานโจทก์เบิกความตามเอกสารในฐานะกรรมการผู้จัดการโจทก์ที่มีส่วนรู้เห็นจึงหาใช่พยานบอกเล่าดังที่จำเลยกล่าวอ้างมาในอุทธรณ์ไม่ข้อเท็จจริงตามเอกสารล้วนแต่แสดงถึงการดำเนินงานของสำนักงานสาขาประเทศไทยเกี่ยวกับการให้คำแนะนำการผลิตสินค้าตามสัญญาให้ใช้สิทธิ การติดต่อประสานงาน การควบคุม การกำหนดราคาสินค้าของโจทก์ การตรวจยอดจำหน่ายสินค้าของโจทก์ในแต่ละเดือน อันเป็นเหตุให้บริษัทดังกล่าวปฏิบัติตามสัญญาได้ถูกต้องครบถ้วน ทำให้ได้เงินค่าสิทธิตามสัญญาจากโจทก์ เอกสารเหล่านี้มีผู้ลงชื่อในหนังสือและการประทับตราลงรับโดยถูกต้อง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในช่วงที่โจทก์ต้องชำระเงินค่าสิทธิในคดีนี้ เมื่อจำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่าเอกสารเหล่านี้ไม่ถูกต้องอย่างไร จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามเอกสารนั้น ที่จำเลยโต้แย้งว่าบุคคลที่มีชื่อในเอกสารเหล่านั้นบางคนไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสาขาประเทศไทย เพราะไม่มีรายชื่อเป็นลูกจ้างของสำนักงานสาขาประเทศไทยตามแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายนั้น ในข้อนี้นายยิ่งยงเบิกความแล้วว่านายไมเคิล เจ.บลูท เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของสำนักงานสาขาประเทศไทยที่บริษัทดังกล่าวส่งมาอยู่ที่สำนักงานสาขาชั่วคราวเพื่อคอยช่วยเหลือ แนะนำโจทก์ในการผลิตสินค้า ซึ่งตามเอกสารก็ปรากฏชัดว่านายไมเคิล เจ.บลูท ได้กระทำในฐานะเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสาขาซึ่งเป็นของบริษัทดังกล่าว นายไมเคิล เจ.บลูท อาจรับค่าจ้างจากสำนักงานใหญ่โดยตรงก็ได้ การไม่มีชื่อเป็นลูกจ้างในแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายไม่เป็นพิรุธ แม้โจทก์จะทำสัญญาให้ใช้สิทธิตามเอกสารหมาย จ.2 กับบริษัทดังกล่าวโดยตรงสำนักงานสาขาประเทศไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องตอนทำสัญญาก็ตาม แต่การที่บริษัทดังกล่าวจะได้เงินค่าสิทธิตามสัญญา นอกจากจะต้องยอมให้โจทก์ผลิตสินค้าและใช้เครื่องหมายการค้าตามที่ระบุไว้แล้ว บริษัทดังกล่าวยังมีพันธะตามสัญญาข้อ 1ข. ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือแนะนำ การจัดซื้อและติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมทั้งจัดให้มีบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิมาดูแลและให้คำแนะนำเป็นครั้งคราว ซึ่งบริษัทดังกล่าวก็ได้มอบหมายให้สำนักงานสาขาประเทศไทยเป็นตัวแทนเพื่อปฏิบัติตามพันธะข้อนี้ รวมทั้งการตรวจสอบยอดขายและการเปลี่ยนแปลงราคาขายของโจทก์ อันเป็นเหตุให้บริษัทดังกล่าวได้เงินค่าสิทธิจากโจทก์โดยถูกต้องครบถ้วนด้วย มิใช่เพียงแต่การทำสัญญาอย่างเดียวเท่านั้นก็จะทำให้บริษัทดังกล่าวได้เงินค่าสิทธิอย่างครบถ้วนหรือสำนักงานสาขาประเทศไทยเป็นเพียงผู้รับเงินค่าสิทธิแทนเท่านั้นดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ คดีฟังได้ว่าสำนักงานสาขาประเทศไทยอันเป็นนิติบุคคลเดียวกันกับบริษัทดังกล่าวได้กระทำกิจการอันเป็นเหตุให้ได้เงินค่าสิทธินั้นในประเทศไทยซึ่งสำนักงานสาขาประเทศไทยเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 66 และสำนักงานสาขาประเทศไทยก็ได้เสียภาษีแล้ว กรณีนี้จึงมิใช่เงินได้ของนิติบุคคลต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 โจทก์ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง…”
พิพากษายืน.

Share