แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโรงรับจำนำ การที่โจทก์รับแลกเช็คพิพาทไว้นั้นเป็นเพียงการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านเงินทุนอันเป็นกิจการที่ผู้ซึ่งประกอบการค้าหรือธุรกิจอย่างอื่นอาจกระทำได้เป็นปกติไม่ถึงกับเป็นการนอกวัตถุประสงค์ เมื่อได้ความว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทซึ่งมีลายมือชื่อจำเลยลงไว้ในฐานะผู้สั่งจ่ายและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง
การที่เช็คพิพาทมีตราของบริษัทจำกัดประทับอยู่ด้วยนั้นไม่ว่าจำเลยจะสั่งจ่ายเช็คพิพาทในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะที่กระทำแทนบริษัท จำเลยก็ย่อมมีความรับผิดในทางอาญาเช่นเดียวกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือ ต่อมาผู้ถือนำเช็คมาชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรง เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเข้าบัญชีแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ให้เหตุผลว่า ยังไม่มีการตกลงกับธนาคาร แสดงว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า เช็คพิพาทโจทก์ได้มาโดยมีผู้นำมาแลกเงินสด เป็นเรื่องการรับซื้อลดเช็ค การกระทำดังกล่าวอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย และเช็คพิพาทมีชื่อจำเลยและประทับตราบริษัทจำกัด ไม่ได้ความว่าจำเลยทำในฐานะส่วนตัวหรือทำแทนบริษัท พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทางไต่สวนมูลฟ้องได้ความว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คที่สั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือโดยมีลายมือชื่อจำเลยลงไว้ในฐานะผู้สั่งจ่าย ฉะนั้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายและย่อมเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ส่วนการที่โจทก์ได้เช็คพิพาทไว้โดยรับแลกเงินสดกับผู้อื่นนั้น เห็นว่า การรับแลกเช็คเป็นกิจการที่ผู้ซึ่งประกอบการค้าหรือธุรกิจอย่างอื่นอาจกระทำได้เป็นปกติเพราะเท่ากับเป็นการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านเงินทุนเท่านั้นหาถึงกับเป็นการนอกวัตถุประสงค์ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาไม่ และการที่เช็คพิพาทมีตราของบริษัทจำกัดประทับอยู่ด้วยนั้น ไม่ว่าจำเลยจะสั่งจ่ายเช็คพิพาทในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะที่กระทำแทนบริษัทจำเลยก็คงมีความรับผิดในทางอาญาเช่นเดียวกัน
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งหรือพิพากษาใหม่ตามรูปคดี