แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายเพราะโจทก์ถอนการยึด แม้จะถือว่าโจทก์เป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างอื่นตามที่ระบุไว้ในตารางท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 อันจะทำให้โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อมีพฤติการณ์เห็นได้ว่าจำเลยประวิงการบังคับคดีโดยไม่สุจริตศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๑ ผิดนัด โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ ๑ ไว้จำนวน ๑๐๘ แปลง ต่อมาโจทก์ขออายัดเงินของจำเลยที่ ๑ ในคดีอื่นของศาลชั้นต้นมาชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงขอถอนการยึดเจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมการยึดโดยไม่มีการขายเป็นเงิน ๒๔๙,๙๙๗.๕๐ บาท จำเลยที่ ๑ ร้องขอต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ ๑ ไม่มีหน้าที่ต้องชำระขอให้ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เป็นฝ่ายชำระ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี แล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งใหม่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๙ ต่อไป
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหามีว่าในกรณีนี้จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายตามตาราง ๕ ข้อ ๓ ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่พิเคราะห์แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๙ ค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างอื่นตามที่ระบุไว้ในตารางท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น ให้คู่ความผู้ดำเนินกระบวนพิจารณานั้น ๆ เป็นผู้ชำระเมื่อโจทก์เป็นผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ ถือได้ว่าโจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างอื่นตามมาตราดังกล่าว เมื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ แล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย เพราะโจทก์ขอถอนการยึดทรัพย์ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง ๕ ข้อ ๓ ท้ายประมวลกฎหมายดังกล่าว แต่เมื่อมีพฤติการณ์เห็นได้ว่าจำเลยที่ ๑ ปล่อยให้ล่วงเลยกำหนดเวลามิได้ขวนขวายชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น เป็นเหตุให้โจทก์ต้องบังคับคดีเมื่อโจทก์นำยึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๑ แล้ว ต้องเลื่อนการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไปและประกาศขายใหม่หลายครั้งเนื่องมาจากนางสาวพรทิพย์ ดีสมโชค น้องสาวของจำเลยที่ ๑ และเด็กหญิงนิภาภรณ์ ดีสมโชค บุตรของจำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ที่ขายทอดตลาด จำเลยที่ ๑ เองก็ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดอ้างว่าราคาต่ำไปบ้าย ยื่นคำร้องขอให้รวมการขายทอดตลาดที่ดินไปด้วยกันบ้าง ผู้สู้ราคาสูงสุดได้หลบหนีไม่ชำระเงินตามเงื่อนไขของการประกาศขายทอดตลาดบ้าง เมื่อข้อเท็จจริงตามท้องสำนวนมีเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาตามฎีกาของโจทก์จึงไม่จำต้องย้อนสำนวนกลับไปให้ศาลชั้นต้นไต่สวนในเรื่องจำเลยที่ ๑ ประวิงการบังคับคดีโดยไม่สุจริตหรือไม่โดยในกรณีนี้พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ เป็นการประวิงการบังคับคดีโดยไม่สุจริต จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๖๑ มาใช้บังคับ กล่าวคือศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง ๕ ข้อ ๓ ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งไว้
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ ๑