แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
รถยนต์พิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 ได้ให้จำเลยที่ 1เช่าซื้อไปโดยจำเลยที่ 1 ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบต่อมาโจทก์ได้ติดต่อซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากจำเลยที่ 1โดยตกลงซื้อเป็นเงินสด ขณะที่โจทก์ไปติดต่อซื้อรถยนต์พิพาท รถยนต์พิพาทอยู่ที่สำนักงานจำเลยที่ 1 แล้ว การที่จำเลยทั้งสอง ติดต่อค้าขายกันมาก่อน และจำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีอาชีพซื้อขายรถยนต์ นอกจากนี้ในการนำรถยนต์ ไปจอดขาย จำเลยทั้งสองมีเงื่อนไขว่าถ้าจำเลยที่ 1 จะขายรถยนต์ให้ผู้ใด จำเลยที่ 1 จะต้องมาแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบและชำระเงินส่วนที่เหลือให้เรียบร้อยก่อน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ดังนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมมิใช่เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 แต่ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อ ยอมให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็น ตัวการว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาท ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 เมื่อจำเลยที่ 1 ขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ จึงต้องผูกพันด้วย จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าจำเลยที่ 1 ขายรถยนต์โดยพลการและไม่นำเงินมาชำระให้จำเลยที่ 2 เพื่อยันแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและขวนขวาย ได้สิทธิโดยได้ซื้อรถยนต์มาจากจำเลยที่ 1 ก่อนที่จะรู้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 หาได้ไม่ ส่วนการที่ จำเลยที่ 1 ไม่นำเงินค่ารถยนต์ไปชำระให้จำเลยที่ 2 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 เอง จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ไปจดชื่อโจทก์ในทะเบียนรถยนต์ พิพาทและมอบทะเบียนรถยนต์พิพาทให้โจทก์กับต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ติดต่อขอซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1ในราคา 374,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2537 หลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากโจทก์ครบถ้วนแล้วก็ได้ส่งมอบรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขเครื่องยนต์ ดี-24937 หมายเลขตัวถังเอ-9313654 ให้แก่โจทก์ โดยจะจัดการโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ภายในสองเดือนนับจากส่งมอบ เมื่อครบกำหนดสัญญาโจทก์ได้ติดตามจำเลยที่ 1 จัดการให้แต่จำเลยที่ 1 ผัดผ่อนต่อมาโจทก์ทราบว่ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขายให้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 เช่าซื้อมาจากจำเลยที่ 2 แต่ยังชำระเงินค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 2 ไม่ครบถ้วน ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 นำรถยนต์คันดังกล่าวไปขายให้แก่บุคคลอื่นเพื่อหากำไรในเชิงพาณิชย์ตามวัตถุประสงค์ของจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงถือเป็นเหมือนเชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนค้าต่าง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจัดการลงชื่อโจทก์ในทะเบียนรถยนต์เป็นเจ้าของรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุหมายเลขเครื่องยนต์ ดี-24937หมายเลขตัวถัง เอ-9313654 พร้อมทั้งส่งมอบทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาแทนและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์วันละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะจัดการลงชื่อโจทก์ในทะเบียนพร้อมทั้งส่งมอบทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ โจทก์ไม่ได้แต่งตั้งหรือเชิดผู้ใดเป็นผู้แทนและจำเลยที่ 1ไม่ใช่ตัวแทนค้าต่างหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 แต่รับว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 จริงซึ่งให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไป และจำเลยที่ 1 ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องจดทะเบียนหรือส่งมอบทะเบียนรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 หรือโจทก์และค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาวันละ 500 บาท สูงเกินควร เพราะโจทก์ได้ใช้รถยนต์คันพิพาทอย่างเจ้าของตลอดเวลา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จัดการลงชื่อโจทก์ในทะเบียนรถยนต์ในฐานะเจ้าของรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุหมายเลขเครื่องยนต์ ดี-24937 หมายเลขตัวถัง เอ-9313654พร้อมส่งมอบทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวให้แก่โจทก์หากเพิกเฉยให้ถือคำพิพากษาแสดงเจตนาแทน และให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 50 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์และส่งมอบทะเบียนให้แก่โจทก์ครบถ้วน ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ว่าหากจำเลยที่ 1 เพิกเฉยให้ถือคำพิพากษาแสดงเจตนาแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้ซื้อรถยนต์พิพาทไปจากจำเลยที่ 1 ในราคา 374,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 รับว่าจะจดทะเบียนโอนให้ภายใน 2 เดือน เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 1 ก็ยังไม่จดทะเบียนโอนให้ต่อมาเดือนมิถุนายน 2538 โจทก์ทราบว่านายชาติชาย ธาดาตรีธารทิพย์ หุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ถูกจับในเรื่องที่ขายรถยนต์ให้ผู้อื่นแล้วไม่สามารถจดทะเบียนโอนรถยนต์ให้ได้ และทราบจากจำเลยที่ 2 ว่า รถยนต์พิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 ได้ให้จำเลยที่ 1 เชื่อซื้อไปโดยยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบ
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 2จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานจำเลยแล้วข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าขณะที่โจทก์ไปติดต่อซื้อรถยนต์พิพาทได้เห็นรถยนต์พิพาทอยู่ที่สำนักงานจำเลยที่ 1 แล้ว ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 รู้หรือไม่ว่า จำเลยที่ 1 นำรถยนต์พิพาทไปจอดขายที่สำนักงานจำเลยที่ 1 เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีสำนักงานอยู่ที่อำเภอเมืองสระบุรี ส่วนจำเลยที่ 1 มีสำนักงานอยู่ที่อำเภอบ้านหมอจังหวัดเดียวกันย่อมจะไม่ห่างกันนักทั้งตามคำเบิกความของนางมาลา บุญวิสุทธิ์ กรรมการบริษัทจำเลยที่ 2 ก็ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 2 ก่อนค้นพิพาทไปแล้ว 2 คน แสดงว่าจำเลยทั้งสองติดต่อค้าขายกันมาก่อน จำเลยที่ 2 ย่อมจะทราบว่าจำเลยที่ 1มีอาชีพซื้อขายรถยนต์ นอกจากนี้นางมาลายังเคยให้การไว้ในคดีที่นายชาติชาย ธาดาตรีธารทิพย์ ถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาฉ้อโกง ตามเอกสารหมาย จ.6 ว่า นางมาลาทราบว่านายชาติชายนำรถยนต์ไปจอดขาย โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าจะขายรถยนต์ให้ผู้ใดจะต้องมาแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบและชำระเงินส่วนที่เหลือให้เรียบร้อยก่อนจากตามพฤติการณ์ดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้อ้างว่าเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยที่ 1ผู้เป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 เมื่อจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นตัวแทนได้ขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการต้องผูกพันด้วย จะอ้างว่าจำเลยที่ 1 ขายรถยนต์โดยพลการและไม่นำเงินมาชำระให้จำเลยที่ 2 เพื่อยันแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและขวนขวายได้สิทธิโดยได้ซื้อรถยนต์มาจากจำเลยที่ 1 ก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 หาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 ไม่นำเงินค่ารถยนต์ไปชำระให้จำเลยที่ 2 ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 เอง จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ไปจดชื่อโจทก์ในทะเบียนรถยนต์พิพาทและมอบทะเบียนรถยนต์พิพาทให้โจทก์และรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันลงชื่อโจทก์ในทะเบียนรถยนต์ในฐานะเจ้าของรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุหมายเลขเครื่องยนต์ ดี-24937 หมายเลขตัวรถยนต์ เอ-9313654พร้อมส่งมอบทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากเพิกเฉยให้ถือคำพิพากษาแสดงเจตนาแทน และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 50 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์และส่งมอบทะเบียนแก่โจทก์ครบถ้วน