คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 648/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำฟ้องของจำเลยบรรยายเกี่ยวกับข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาอันเป็นเหตุให้จำเลยเลิกสัญญากับโจทก์ที่ 1 และอ้างว่าโจทก์ที่ 1 ทราบข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาดังกล่าวแล้วแม้จะไม่มีเอกสารประกอบข้ออ้างนั้นก็ย่อมเป็นคำบรรยายฟ้องที่แสดงแจ้งชัดแล้ว ข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาจะมีอยู่หรือไม่อย่างไรย่อมสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา หาจำต้องแนบมากับคำฟ้องไม่ ส่วนที่โจทก์ที่ 1 อ้างว่า จำเลยมิได้บรรยายว่าจำเลยได้รับความเสียหายอย่างไรจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เป็นข้อที่โจทก์ที่ 1 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น คำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ในฐานะที่เป็นโจทก์ในสำนวนแรกและคำให้การของโจทก์ที่ 1 ในฐานะที่เป็นจำเลยที่ 1 ในสำนวนที่สองนั้นกล่าวไว้อย่างเดียวกันว่าในวันนัดลงนามในสัญญาก่อสร้างกับจำเลยนั้นจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบว่าหนังสือของบริษัท ซ. ที่โจทก์ที่ 1 ยื่นแก่จำเลยครั้งแรกไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ที่1 ลงนามในสัญญาแทนบริษัท ซ. ได้ ในวันนั้นโจทก์ที่ 1 จึงลงนามไปฝ่ายเดียวก่อน โดยจะจัดการให้บริษัท ซ. ทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 มีอำนาจลงนามมายื่นแก่จำเลยอีกครั้งหนึ่งคำฟ้องและคำให้การของโจทก์ที่ 1 เช่นนี้จึงเป็นการยอมรับแล้วว่าในการลงนามในสัญญาก่อสร้างจะต้องให้บริษัท ซ. ลงนามด้วยดังนั้นที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์ที่ 1 มิได้ผิดสัญญาเพราะโจทก์ที่ 1 ไม่มีหน้าที่จะต้องนำบริษัท ซ. มาลงนามด้วยเพียงแต่โจทก์ที่ 1 ลงนามฝ่ายเดียวในสัญญาก็สมบูรณ์แล้วเนื่องจากมิได้มีข้อกำหนดระบุไว้เช่นนั้น จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกให้โจทก์ในสำนวนแรกและจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 1เรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยในสำนวนแรกและโจทก์ในสำนวนหลังว่า จำเลย
โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่า จำเลยได้ดำเนินการคัดเลือกและขึ้นทะเบียนผู้รับเหมาเบื้องต้นเพื่อเปิดประมูลการทำสัญญาก่อสร้างทางด่วนสายบางนา-ท่าเรือ โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องมีบริษัทผู้ร่วมดำเนินงานในต่างประเทศเข้าร่วมดำเนินงานด้วย โจทก์ได้ยื่นความจำนงขอเข้ารับการคัดเลือกและขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับเหมาเบี้องต้นต่อจำเลยโดยเสนอบริษัทซิน ดอง ยาง ก่อสร้าง จำกัด แห่งประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเป็นบริษัทผู้ร่วมดำเนินงาน จำเลยได้คัดเลือกให้โจทก์ขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับเหมาเบื้องต้นมีสิทธิเข้าร่วมประมูลการก่อสร้าง โดยบริษัทซิน ดอง ยาง ก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ร่วมดำเนินงานได้ โจทก์ซื้อแบบพิมพ์เพื่อยื่นประมูลและได้ยื่นประมูลการก่อสร้างต่อจำเลยในราคา 450,454,000 บาท โดยมีธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสีลมเป็นผู้ค้ำประกันซองประกวดราคาในวงเงิน 10,000,000 บาท วันที่3 พฤษภาคม 2522 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่า โจทก์เป็นผู้ประมูลการก่อสร้างทางด่วนสายบางนา-ท่าเรือ ได้ให้ไปทำสัญญากับจำเลย ต่อมาโจทก์ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างก่อสร้างทางด่วนสายบางนา-ท่าเรือ กับจำเลย เนื่องจากในสัญญาดังกล่าวจะต้องมีบริษัทผู้ร่วมดำเนินงานลงนามด้วย จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่า หนังสือของบริษัทซิน ดอง ยาง ก่อสร้าง จำกัด ที่โจทก์ยื่นต่อจำเลยในครั้งแรกนั้นไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ลงนามในสัญญาแทนได้ให้โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจของบริษัทดังกล่าวมาใหม่ เมื่อโจทก์นำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาแสดงต่อจำเลย จำเลยกลับปฏิเสธไม่ยอมให้โจทก์ลงนามในสัญญาแทนบริษัทซิน ดอง ยาง ก่อสร้าง จำกัด และต่อมานายคิม กุย เต็ก ประธานกรรมการบริษัทซิน ดอง ยาง ก่อสร้าง จำกัดได้เดินทางมาเพื่อลงนามในสัญญาจำเลยก็ไม่ยอมที่สุดจำเลยบอกเลิกความตั้งใจที่จะให้โจทก์และบริษัทซิน ดอง ยาง ก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทางด่วนดังกล่าว และแจ้งริบเงินค้ำประกันซองจำนวน 10,000,000 บาท จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสีลม โดยไม่มีเหตุอันจะอ้างได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 52,000,000 บาท และให้ถอนการริบเงินค้ำประกัน10,000,000 บาท จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสีลม
โจทก์สำนวนหลังฟ้องว่า โจทก์ได้ประกาศเชิญชวนให้บริษัทต่าง ๆทั้งภายในและภายนอกประเทศส่งรายละเอียด คุณสมบัติต่าง ๆ และผลงานต่าง ๆ เกี่ยวกับการก่อสร้างเพื่อคัดเลือกเป็นผู้รับเหมาเบื้องต้นเข้าร่วมในการประกวดราคาก่อสร้างทางด่วนขึ้นที่หนึ่งในกรุงเทพมหานครสายบาลนา-ท่าเรือ โดยบริษัทผู้แสดงความจำนงจะร่วมงานกับบริษัทอื่นหนึ่งหรือสอบบริษัทก็ได้ จำเลยที่ 1 ได้แสดงความจำนงขอเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้รับเหมาเบื้องต้นโดยระบุว่า จำเลยที่ 1 ร่วมค้ากับบริษัทซิน ดอง ยาง ก่อสร้าง จำกัด แห่งประเทศสาธารณรัฐเกาหลีโจทก์พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 กับบริษัทดังกล่าวมีคุณสมบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ จึงคัดเลือกให้จำเลยที่ 1 กับบริษัทดังกล่าวขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับเหมาเบื้องต้นมีสิทธิเข้าประมูลการก่อสร้างได้ 2 สัญญา และแจ้งให้ทราบว่าจะได้รับพิจารณาต่อเมื่อมีเช็คหรือหนังสือค้ำประกันตามแบบที่กำหนดไว้โดยธนาคารหรือสถาบันการเงินที่โจทก์ยอมรับกับสั่งจ่ายในนามของโจทก์ จำนวนเงินค้ำประกันซองประกวดราคาสำหรับสัญญาที่ 1 เป็นเงิน 10,000,000 บาท และสัญญาที่ 2 เป็นเงิน 5,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ยื่นซองประกวดราคาทางด่วนสายบางนา-ท่าเรือ สัญญาที่ 1 ช่วงระหว่างถนนเกษมราษฎร์-ถนนสุขุมวิท ซอย 50 ต่อโจทก์ ในวงเงิน 452,000,000 บาท มีจำเลยที่ 2เข้าทำสัญญาค้ำประกันการประกวดราคา โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1และบริษัทซิน ดอง ยาง ก่อสร้าง จำกัด ทราบ และให้ร่วมกันมาลงนามในสัญญาก่อสร้างกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำบริษัทซิน ดอง ยางก่อสร้าง จำกัด ผู้ร่วมค้ากับจำเลยที่ 1 มาลงนามในสัญญาก่อสร้างได้จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนไปหลายครั้ง แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ ที่สุดโจทก์ได้รับแจ้งจากบริษัทซิน ดอง ยาง ก่อสร้าง จำกัดปฏิเสธไม่รับรู้เรื่องการประกวดราคาก่อสร้างดังกล่าวตลอดจนเป็นผู้ร่วมค้ากับจำเลยที่ 1 และแจ้งด้วยว่านายคิม กุย เต็ก ไม่มีสิทธิทำการใด ๆ แทน โจทก์เป็นว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดเงื่อนไขสัญญาการประกวดราคา โจทก์จึงบอกเลิกการลงนามในสัญญารับเหมาก่อสร้างการที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำบริษัทซิน ดอง ยาง ก่อสร้าง จำกัดมาร่วมลงนามในสัญญากับโจทก์ได้ เป็นการผิดเงื่อนไขในสัญญาการประกวดราคา โจทก์มีสิทธิริบเงินประกันซองจำนวน 10,000,000 บาทโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันนำเงินดังกล่าวชำระให้โจทก์ภายในกำหนด 7 วัน แต่จำเลยทั้งสองปฏิเสธ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 10,562,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 10,000,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยสำนวนแรกให้การว่า จำเลยขึ้นทะเบียนให้โจทก์เป็นผู้รับเหมาเบื้องต้นมีสิทธิเข้าประมูลการก่อสร้างทางด่วนสายบางนา-ท่าเรือ ได้ เพราะหลงเชื่อเอกสารหลักฐานที่โจทก์นำมาแสดง ซึ่งความจริงบริษัทซิน ดอง ยาง ก่อสร้าง จำกัด มิได้ยินยอมหรือรู้เห็นในการที่โจทก์นำชื่อและผลงานของบริษัทมาเสนอต่อจำเลยนายคิม กุย เต็ก มิได้มีตำแหน่งในบริษัทซิน ดอง ยาง ก่อสร้าง จำกัดไม่มีอำนาจใด ๆ ที่จะกระทำแทนบริษัท หากจำเลยทราบข้อเท็จจริงมาแต่ต้นจำเลยจะไม่รับพิจารณาโจทก์ขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับเหมาเบื้องต้นอย่างแน่นอน จำเลยแจ้งให้โจทก์นำบุคคลผู้มีอำนาจมาลงนามในนามของบริษัทซิน ดอง ยาง ก่อสร้าง จำกดั โดยให้แสดงหนังสือเกี่ยวกับอำนาจในการลงนามให้ถูกต้องหรือนำใบมอบอำนาจของบริษัทซิน ดอง ยาง ก่อสร้าง จำกัด ที่มีการรับรองตามขั้นตอนถูกต้องตามหลักสากลว่าด้วยการมอบอำนาจระหว่างประเทศมาแสดงเพื่อลงนามในสัญญาหลายครั้ง แต่โจทก์ก็ไม่สามารถปฏิบัติได้จึงเป็นความผิดของโจทก์เองทั้งหมด จำเลยจึงบอกเลิกการทำสัญญาและแจ้งริบเงินประกันซองประกวดราคา โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยได้ จำเลยมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ความเสียหายเกิดขึ้นจากความผิดของโจทก์เอง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายให้ชัดเจนว่าจำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์ข้อไหน อย่างใดหรือละเมิดต่อโจทก์อย่างไร จำเลยไม่สามารถต่อสู้ได้ถูกต้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิริบเงินค้ำประกันซองประกวดราคาจำนวน 10,000,000 บาทโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย แต่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายเสียหายซึ่งได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ตามสำนวนแรกแล้วขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดเงื่อนไขการประกวดราคาโจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 และไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนแรก และให้จำเลยทั้งสองในสำนวนหลังร่วมกันชดใช้เงินค้ำประกันซองประกวดราคาจำนวน 10,000,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่21 กันยายน 2521 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ในสำนวนหลัง
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2522 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้2 ข้อ คือ
(1) ฟ้องของจำเลยเคลือบคลุมหรือไม่ และ
(2) การที่จำเลยไม่ยอมทำสัญญาก่อสร้างทางกับโจทก์ที่ 1 เป็นเพราะโจทก์ที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยจึงมีสิทธิบอกปัดไม่ลงนามในสัญญาและริบเงินประกันซองประกวดราคา หรือเป็นเรื่องที่จำเลยไม่ยอมทำสัญญากับโจทก์ที่ 1 โดยไม่มีเหตุจะอ้างได้โดยชอบ จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1
พิเคราะห์แล้ว สำหรับในประเด็นข้อแรกตามฎีกาของโจทก์ที่ 2นั้น จำเลยบรรยายฟ้องอ้างถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาอันเป็นเหตุให้จำเลยเลิกสัญญากับโจทก์ที่ 1 ว่ามีตามข้อ 1.2.7 และ 1.3.8และอ้างว่าโจทก์ที่ 1 ได้ทราบข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาดังกล่าวแล้ว แม้จะไม่ได้มีเอกสารประกอบข้ออ้างนั้นก็ย่อมเป็นคำบรรยายฟ้องที่แสดงแจ้งชัดแล้ว ข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาจะมีอยู่หรือไม่อย่างไรย่อมสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา หาจำต้องแนบมากับคำฟ้องไม่ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยอ้างว่าจำเลยมีสิทธิริบเงินประกอันซองประกวดราคาเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่จำเลยมิได้บรรยายว่าจำเลยได้รับความเสียหายอย่างไร จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมนั้น เป็นข้อที่โจทก์ที่ 1 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับในประเด็นข้อที่สองนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ที่ 1 ได้ยื่นเอกสารประกวดราคาต่อจำเลยโดยรับทราบข้อกำหนดและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่จำเลยระบุไว้ เมื่อจำเลยแจ้งแก่โจทก์ที่ 1 ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ชนะการประกวดราคาให้มาทำสัญญา โจทก์ที่ 1 และจำเลยย่อมต้องผูกพันตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของการประกวดราคา ซึ่งมีดังต่อไปนี้ ข้อ 1.3.3 “การทางพิเศษแห่งประเทศไทยสงวนไว้ซึ่งสิทธิในการบอกเลิกการให้ทำสัญญากับผู้ที่ได้รับแจ้งว่าเป็นผู้ประกวดราคาได้เมื่อไรก็ได้ก่อนที่สัญญานั้นจะมีการลงนามโดยสมบูรณ์ทุกฝ่ายโดยคู่กรณีจะไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย” ข้อ 1.3.8 “หากผู้ยื่นซองประกวดราคาไม่มาลงนามในสัญญาและไม่ส่งมอบหนังสือค้ำประกันสัญญาที่ถูกต้องภายในกำหนด 15 วันหลังจากได้รับหนังสือแจ้งให้มาทำสัญญาจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยแล้วให้ถือเป็นสาเหตุยกเลิกการทำสัญญาดังกล่าวได้ และให้ริบเงินประกันซองประกวดราคาเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น” อันมีความหมายโดยย่อว่า ก่อนที่จะได้มีการลงนามในสัญญาโดยสมบูรณ์ทั้งสองฝ่าย จำเลยย่อมมีสิทธิบอกเลิกการทำสัญญาได้ และสิทธิบอกเลิกการทำสัญญาที่ได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งก็เป็นดังที่ระบุไว้ในข้อ 1.3.8 คือการที่ผู้ชนะการประกวดราคาไม่มาลงนามในสัญญาและไม่ส่งมอบหนังสือค้ำประกันสัญญาเรื่องนี้โจทก์ที่ 1 ยื่นซองประกวดราคาโดยมีบริษัทซิน ดอง ยางเป็นผู้ร่วมดำเนินการ เมื่อจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ที่ 1 และบริษัทซิน ดอง ยาง ทราบว่าเป็นผู้ชนะการประกวดราคาและกำหนดวันทำสัญญาก่อสร้างตามเอกสารหมาย ล.38 ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้ลงนามในสัญญาแล้ว แต่จำเลยปฏิเสธมิให้โจทก์ที่ 1 ลงนามในสัญญาแทนบริษัทซิน ดอง ยาง เพราะในตอนแรกโจทก์ที่ 1 ไม่มีใบมอบอำนาจจากนายคิม กุย เต็ก โดยมีโนตารีปับลิกรับรองพร้อมทั้งการรับรองอื่น ๆและต่อมาเมื่อมีใบมอบอำนาจที่มีการรับรองก็ดี และนายคิม กุย เต็กมาขอลงนามในสัญญาเองก็ดี จำเลยก็ไม่ยอมให้มีการลงนามในสัญญาโดยจำเลยได้รับหนังสือจากบริษัทซิน ดอง ยาง ว่านายคิม กุย เต็กไม่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ซึ่งในประเด็นดังกล่าวโจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้างในฎีกาหลายประการ ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ดังต่อไปนี้
ที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาอ้างว่า โจทก์ที่ 1 มิได้ผิดสัญญาเพราะโจทก์ที่ 1 ไม่มีหน้าที่จะต้องนำบริษัทซิน ดอง ยาง มาลงนามด้วย เพียงแต่โจทก์ที่ 1 ลงนามผู้เดียวสัญญาก็สมบูรณ์แล้วเนื่องจากมิได้มีข้อกำหนดระบุไว้เช่นนั้น และโจทก์ที่ 1 ก็ได้ยื่นซองประกวดราคาในนามของโจทก์ที่ 1 เองนั้น เห็นว่า คำให้การของโจทก์ที่ 1 ในฐานะที่โจทก์ที่ 1 เป็นจำเลยที่ 1 ในคดีสำนวนที่สองนั้น โจทก์ที่ 1 ให้การเพียงว่า “พอถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2522 อันเป็นวันนัดลงนามในสัญญา บริษัทจำเลยที่ 1 จึงได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างและเนื่องจากในสัญญาดังกล่าวจะต้องมีบริษัทซิน ดอง ยาง ก่อสร้างจำกัด ซึ่งเป็นผู้ร่วมดำเนินงานร่วมลงนามในสัญญาด้วย โจทก์ได้แจ้งให้บริษัทจำเลยที่ 1 ทราบว่า หนังสือของบริษัทซิน ดอง ยาง ก่อสร้างจำกัด ที่จำเลยที่ 1 ได้ยื่นแก่โจทก์ครั้งแรกนั้นมิใช่หนังสือมอบอำนาจให้บริษัทจำเลยที่ 1 ลงนามในสัญญาได้…” และในคำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่ 1 ในฐานะที่เป็นโจทก์ในคดีสำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ก็กล่าวอย่างเดียวกัน ฉะนั้นจึงเป็นการที่โจทก์ที่ 1ยอมรับแล้วว่า ในการลงนามในสัญญาก่อสร้างจะต้องให้บริษัทซิน ดอง ยางลงนามด้วย ฎีกาดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย…”
พิพากษายืน.

Share