คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1194/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 ให้อำนาจแต่เพียงร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ถูกยึด ไม่มีข้อบัญญัติให้ผู้ร้องว่ากล่าวหรือเรียกร้องในกรณีอื่น เมื่อผู้ร้องขัดทรัพย์หาว่าโจทก์จำเลยทำให้ผู้ร้องเสียหายและเรียกค่าเสียหายจากโจทก์จำเลยเนื่องจากการถูกยึดทรัพย์ ผู้ร้องก็ต้องเสนอข้อหาโดยทำเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 จะเรียกร้องมาในคำร้องขัดทรัพย์ไม่ได้
จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทำสัญญารับจ้างเหมาสร้างทางไว้กับผู้ร้องขัดทรัพย์ก่อนถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายึดทรัพย์ โดยมีข้อกำหนดในสัญญาว่า “ถ้ามีการเลิกสัญญาโดยผู้รับจ้างเหมาผิดสัญญาด้วยประการใด ๆ สัมภาระสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของผู้รับจ้างเหมาที่นำไปไว้ในบริเวณที่ก่อสร้าง ผู้รับจ้างเหมายอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างทั้งหมด ผู้รับจ้างเหมาจะนำเอาไปไม่ได้” และมีข้อสัญญาให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ในเมื่อผู้รับจ้างเหมาผิดสัญญา ดังนี้ เมื่อผู้ร้องขัดทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างได้บอกเลิกสัญญาโดยจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัมภาระสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ถูกยึดโดยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องขัดทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างตามข้อกำหนดในสัญญา แม้ถึงว่าการบอกเลิกสัญญานั้นจะกระทำภายหลังที่โจทก์ได้ยึดทรัพย์นี้แล้วก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิให้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดนั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ชนะความจำเลยที่ ๒ แล้วนำยึดทรัพย์อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ ๒
ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ว่า จำเลยที่ ๒ ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างทางกับผู้ร้องดังสำเนาท้ายคำร้องแล้วผิดสัญญา วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ ผู้ร้องมีหนังสือบอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้ว ทรัพย์ที่ยึดเป็นสัมภาระที่ใช้ในการก่อสร้างทางและนำเข้าไปไว้ในบริเวณก่อสร้างจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตามข้อสัญญา ๓๖ การยึดทรัพย์รายนี้ทำให้ผู้ร้องเสียหายเดือนละ ๑,๕๐๐ บาท ขอถอนการยึดและให้โจทก์จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๒ และโจทก์ให้การต่อสู้คดี
ชั้นพิจารณา คู่ความแถลงรับกันว่าโจทก์จำเลยรับว่าบริษัทจำเลยทำสัญญารับจ้างเหมาสร้างทางดังที่ผู้ร้องอ้างจริง ทรัพย์ที่ยึดเป็นสัมภาระสิ่งของเครื่องใช้ของจำเลยที่นำมาไว้ในบริเวณที่ก่อสร้างจริง ผู้ร้องยอมรับว่าได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ โดยจำเลยผิดสัญญาตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๓ ซึ่งเป็นวันพ้นกำหนดที่ผู้ร้องขยายกำหนดเวลาทำงานแล้วเสร็จไปอีก ๖ เดือน โจทก์จำเลยยอมรับว่า ได้รับการขยายกำหนดเวลาทำงานแล้วเสร็จไปอีกเดือนถึงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๐๓ จริง ทั้งสามฝ่ายรับว่าโจทก์ยึดทรัพย์เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๐๔ และจนบัดนี้การก่อสร้างตามสัญญายังไม่แล้วเสร็จ โจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยาน ผู้ร้องขอสืบพยานเฉพาะว่าบริษัทจำเลยผิดสัญญาก่อสร้างทางและจำนวนค่าเสียหายประเด็นอื่นทุกฝ่ายยอมสละเสียสิ้น
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน วินิจฉัยว่า โดยผลแห่งสัญญาข้อ ๓๖ ทรัพย์จะตกเป็นของผู้ร้องเมื่อมีการบอกเลิกสัญญาภายหลังที่โจทก์นำยึดแล้ว ขณะที่โจทก์นำยึด ทรัพย์รายพิพาทยังเป็นของจำเลยอยู่ โจทก์จึงมีสิทธิยึดขายทอดตลาดได้ ส่วนเรื่องค่าเสียหายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๘๘ มิได้ให้อำนาจผู้ร้องขอมาในชั้นนี้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ อธิบดีผู้พิพากษาภาค ๘ ทำความเห็นแย้งว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นของผู้ร้องแล้ว ศาลสั่งถอนการยึด
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในเรื่องค่าเสียหายที่ผู้ร้องเรียกร้องว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๗๒ บัญญัติให้ผู้ที่เป็นโจทก์เสนอข้อหาของตนโดยทำเป็นคำฟ้อง ฉะนั้น เมื่อผู้ร้องหาว่าโจทก์กับจำเลยทำให้ผู้ร้องเสียหายและเรียกค่าเสียหายเอาจากโจทก์ จำเลย ผู้ร้องจึงต้องเสนอข้อหาโดยทำเป็นคำฟ้องตามมาตรา ๑๗๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ส่วนมาตรา ๒๘๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งบัญญัติให้ยื่นเป็นคำร้องได้นั้น ก็มีข้อความแสดงว่าเป็นการร้องอ้างว่าทรัพย์ที่ถูกยึดเป็นของตน ไม่ใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาและขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ตามมาตรา ๒๘๘ นี้ ไม่มีข้อบัญญัติให้ผู้ร้องว่ากล่าวหรือเรียกร้องในกรณีอื่น
และวินิจฉัยในเรื่องทรัพย์รายพิพาทว่า สัญญาข้อ ๓๖ วรรคท้ายมีข้อความว่า “ถ้ามีการเลิกสัญญาโดยผู้รับจ้างเหมาผิดสัญญาด้วยประการใด ๆ สัมภาระสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของผู้รับจ้างเหมาที่นำไปไว้ในบริเวณที่ก่อสร้าง ผู้รับจ้างเหมายอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ ของผู้ว่าจ้างทั้งหมด ผู้รับจ้างเหมาจะนำเอาไปไม่ได้” และมีข้อสัญญาให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ในเมื่อผู้รับจ้างเหมาผิดสัญญา ข้อสัญญาเหล่านี้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฉะนั้น เมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว สัมภาระสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ผู้รับเหมานำไปไว้ในบริเวณก่อสร้างก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างตามข้อสัญญา และกรณีเช่นนี้ไม่อยู่ในข่ายบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๓๐๕ เพราะเป็นเรื่องลูกหนี้กระทำการก่อให้เกิดการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไว้ก่อนมีการยึดทรัพย์แล้ว หลังจากยึดทรัพย์แล้วจำเลยมิได้กระทำ และการบอกเลิกสัญญาก็เป็นการกระทำของผู้ร้องซึ่งผู้ร้องมีสิทธิกระทำตามที่กฎหมายรับรอง มิใช่เป็นการกระทำของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันแสดงว่าผู้รับจ้างทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญาซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเบื้องต้นแสดงว่าผู้รับจ้างเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อโจทก์จำเลยไม่สืบพยาน ก็ต้องฟังว่าผู้รับจ้างเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาโดยอ้างว่าผู้รับจ้างผิดสัญญา ก็ย่อมรับฟังได้ตามนั้น ฉะนั้น สัมภาระสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ถูกยึดรายนี้จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างตามข้อสัญญาซึ่งมีผลบังคับตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะให้ขายทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้ร้องเพื่อใช้หนี้ของจำเลยได้
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ถอนการยึดทรัพย์

Share