คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 648/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามธรรมดาโรงเรือนซึ่งปลูกสร้างลงในที่ดินย่อมเป็นส่วนควบของที่ดิน ใครเป็นเจ้าของที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์ในโรงเรือนนั้น เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 109 หรือ 1312
จำเลยมาได้บุตรสาวของผู้ร้องเป็นภรรยาและได้เข้าอยู่ร่วมในเรือนของผู้ร้องซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินของผู้ร้อง ต่อมาเรือนเก่าทรุดโทรม จึงรื้อลงสร้างหลังใหม่แทน หากจะฟังว่าจำเลยเป็นผู้ออกเงินค่าก่อสร้างเรือนหลังใหม่นี้ แต่เมื่อเรือนนี้มีลักษณะถาวรติดที่ดิน และไม่ปรากฏเลยว่าจำเลยได้รับสิทธิหรืออำนาจที่จะปลูกเรือนนี้ลงในที่ดินของผู้ร้องแต่ประการใด กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 109 และไม่ใช่เรื่องที่จำเลยปลูกเรือนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ร้องตามมาตรา 1312 ด้วย จึงต้องถือว่าเรือนนี้เป็นส่วนควบของที่ดินที่ปลูกเรือน และตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตามมาตรา 107 เจ้าหนี้ผู้ชนะคดีจำเลยจะยึดเรือนนี้เพื่อขายเอาชำระหนี้ไม่ได้

ย่อยาว

จำเลยไม่ใช้เงินตามคำบังคับโจทก์นำยึดที่ดินและเรือนเพื่อขายใช้หนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าที่ดินและเรือนนั้นเป็นของผู้ร้องไม่ใช่ของจำเลย ๆ เป็นบุตรเขยผู้ร้อง เคยอาศัยอยู่ในที่ดินและเรือนของผู้ร้อง แต่จำเลยได้ย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว ขอให้สั่งปล่อยที่ดินและเรือน
โจทก์คัดค้านว่าเป็นของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ถอนการยึดที่ดินพิพาท แต่ให้ยกคำร้องเฉพาะที่เกี่ยวกับเรือนพิพาท
โจทก์และผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกคำร้องขอปล่อยที่ดินพิพาทเสียด้วย
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง ส่วนเรือนพิพาทนั้นได้ความว่า ชั้นเดิมเป็นเรือนแฝดสองหลังติดกัน หลังหนึ่งเป็นครัว เป็นเรือนของผู้ร้องกับสามีปลูกอาศัยอยู่ในที่พิพาทมา ๓๐ ปีเศษแล้ว เมื่อ ๑๗ ปีมานี้จำเลยได้บุตรสาวของผู้ร้องเป็นภรรยา ได้เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกับผู้ร้องในเรือนเดียวกัน ต่อมาเรือนเก่าหลังใหญ่ชำรุดทรุดโทรม จึงได้รื้อลงและสร้างเรือนพิพาทขึ้นใหม่แทนเรือนหลังเก่า มีชานติดต่อกับเรือนหลังเล็กซึ่งใช้เป็นครัวเดิม ผู้ร้องและครอบครัวคงอยู่ร่วมกันในเรือนพิพาทต่อมา ครั้นเมื่อ ๓ ปีมานี้จำเลยได้อพยพครอบครัวไปอยู่ที่อื่น ส่วนผู้ร้องคงอาศัยอยู่ในเรือนพิพาท
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามธรรมดาโรงเรือนซึ่งปลูกสร้างลงในที่ดินย่อมเป็นส่วนควบของที่ดิน ใครเป็นเจ้าของที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์ในโรงเรือนนั้น เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๙ หรือ ๑๓๑๒ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเรือนพิพาทเป็นสิ่งปลูกสร้างอันมีลักษณะถาวรติดที่ดิน ไม่ปรากฏเลยว่าเป็นการปลูกทำลงเพียงชั่วคราวแล้วจะรื้อถอนไป หากความจริงจะเป็นดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยเป็นผู้ออกเงินค่าก่อสร้างเรือนพิพาทก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏเลยว่าจำเลยผู้ปลูกสร้างได้รับสิทธิหรืออำนาจที่จะปลูกเรือนพิพาทลงในที่ดินของผู้ร้องแต่ประการใด กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๑๐๙ และไม่ใช่เรื่องที่จำเลยปลูกเรือนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ร้องตามมาตรา ๑๓๑๒ ด้วย จึงต้องฟังว่าเรือนพิพาทเป็นส่วนควบของที่ดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตามมาตรา ๑๐๗ ตามนัยฎีกาที่ ๓๑๙/๒๔๙๐ และ ๑๘๖๘/๒๔๙๒ โจทก์จะยึดเรือนพิพาทเพื่อขายชำระหนี้โจทก์ไม่ได้ พิพากษากลับ ให้ปล่อยที่ดินและเรือนที่ยึดไว้นั้น

Share