คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6474/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ภาพถ่ายสภาพแม่น้ำที่จำเลยฉุดผู้เสียหายลงไปในแม่น้ำแล้วใช้มือกดศีรษะผู้เสียหายลงไปในน้ำ จนกระทั่งผู้เสียหายหลุดมือ กระแสน้ำพัดพาผู้เสียหายไปนั้นสภาพเป็นแม่น้ำไม่กว้างและพื้นเป็นทางค่อย ๆ ลาดลงไป ไม่ลึกชัน บริเวณที่เกิดเหตุก็ไม่ปรากฏว่าเป็นจุดใด ห่างจากฝั่งกี่เมตร แม้พนักงานสอบสวนจะบันทึกว่า ขณะเกิดเหตุน้ำในแม่น้ำมีมากลึกท่วมศีรษะของผู้เสียหาย แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นส่วนไหนที่ลึกท่วมศีรษะอาจเป็นบริเวณช่วงกลางแม่น้ำก็ได้ ทั้งภาพถ่ายที่อ้างถึงก็ไม่ปรากฏว่าถ่ายหลังเกิดเหตุนานประมาณเท่าใด แต่ตามภาพถ่ายเห็นได้ว่าเป็นลำน้ำที่ตื้นเขินเป็นส่วนใหญ่ประกอบกับขณะเกิดเหตุหากจำเลยยืนกดศีรษะของผู้เสียหายได้แสดงว่าระดับน้ำน่าจะมีความสูงไม่ถึงศีรษะจำเลยและผู้เสียหาย ดังนั้นจากสภาพที่เกิดเหตุขณะนั้น จำเลยไม่อาจเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำของจำเลยอาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่าผู้อื่น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 92,288, 319 และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย

จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาพรากผู้เยาว์ แต่ปฏิเสธข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319 วรรคหนึ่ง จำคุก 3 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 92 จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปีข้อหาอื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปี เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสามเป็นจำคุก 1 ปี 4 เดือน รวมแล้วคงจำคุกจำเลยมีกำหนด 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยฉุดผู้เสียหายลงไปในแม่น้ำตรอนแล้วใช้มือกดศีรษะผู้เสียหายลงไปในน้ำ จนกระทั่งผู้เสียหายหลุดมือกระแสน้ำพัดพาผู้เสียหายไป ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยเล็งเห็นผลว่าอาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ชีวิตอันเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่าได้หรือไม่ เห็นว่า ตามภาพถ่ายสภาพแม่น้ำตรอนที่เกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 เป็นแม่น้ำไม่กว้างและพื้นเป็นทางค่อย ๆ ลาดชันไป ไม่ลึกชัน บริเวณที่เกิดเหตุก็ไม่ปรากฏว่าเป็นจุดใด ห่างจากฝั่งกี่เมตร แม้ตามเอกสารหมาย จ.2 พนักงานสอบสวนจะบันทึกว่าขณะเกิดเหตุน้ำในแม่น้ำตรอนมีมากลึกท่วมศีรษะของผู้เสียหาย แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นส่วนไหนที่ลึกท่วมศีรษะ อาจเป็นบริเวณช่วงกลางแม่น้ำก็ได้ ทั้งภาพถ่ายที่อ้างถึงก็ไม่ปรากฏว่าถ่ายหลังเกิดเหตุนานประมาณเท่าใด แต่ตามภาพถ่ายจะเห็นได้ว่าเป็นลำน้ำที่ตื้นเขินเป็นส่วนใหญ่ เมื่อพิจารณาประกอบกับขณะเกิดเหตุ หากจำเลยยืนกดศีรษะของผู้เสียหายได้แสดงว่าระดับน้ำน่าจะมีความสูงไม่ถึงศีรษะจำเลยและผู้เสียหายดังนั้น จากสภาพที่เกิดเหตุขณะนั้นจึงน่าเชื่อว่าจำเลยไม่อาจเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำของจำเลยอาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่าผู้อื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share