คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 647/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี และเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมามีกำหนด 3 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย (ไม่ริบของกลาง) ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ใช้บังคับเฉพาะกรณีสอบปากคำจำเลยเท่านั้น ไม่ได้ใช้บังคับในการรวบรวมพยานหลักฐานอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยไปชี้ที่เกิดเหตุโดยไม่มีบุคคลต่าง ๆ อยู่ด้วย กับไม่มีการบันทึกภาพและเสียงของจำเลยในขณะให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนนั้นการสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 67, 91, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 (ที่ถูกมาตรา 15 วรรคหนึ่ง), 67 เมื่อได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม ทั้งสภาพของความผิดประกอบกับรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมาแล้ว ปรากฏว่าขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ 15 ปี จึงลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 1 ปี แต่เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดเพราะความเยาว์วัย หากได้รับการอบรมขัดเกลานิสัยความประพฤติ น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยยิ่งกว่าจะให้รับโทษจำคุก อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครราชสีมา มีกำหนด 3 เดือน นับแต่วันมีคำพิพากษา ริบของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าไม่ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “…ที่จำเลยฎีกาว่า การสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะพนักงานสอบสวนมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ, 134 ทวิ และ 134 ตรี (ที่ถูก น่าจะเป็นมาตรา 133 ทวิ, 133 ตรี และ 134 (2) นั้น เห็นว่า จำเลยฎีกาว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้สอบปากคำจำเลยต่อหน้า นักจิตวิทยา พนักงานอัยการ ทนายความ และบิดาของจำเลย ซึ่งศาลฎีกาจำเป็นต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ขณะสอบสวนพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำจำเลยต่อหน้าบุคคลดังกล่าวหรือไม่ และพนักงานสอบสวนได้ตักเตือนจำเลยก่อนหรือไม่ กับไม่ได้กล่าวตักเตือนเรื่องถ้อยคำที่ผู้ต้องหากล่าวนั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันผู้ต้องหา ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังมา เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้างจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี และเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา มีกำหนด 3 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ในขณะที่พนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยไปนำชี้ที่เกิดเหตุก็ไม่มีบุคคลต่าง ๆ ดังกล่าวอยู่ด้วย กับไม่มีการบันทึกภาพและเสียงของจำเลยขณะให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ ใช้บังคับเฉพาะกรณีสอบปากคำจำเลยเท่านั้น ไม่ได้ใช้บังคับในการรวบรวมพยานหลักฐานอื่น ๆ ด้วย การสอบสวนจึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share