คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6468/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามได้นำเงินไปฝากไว้กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งได้ร่วมกันรับฝากเงินจากโจทก์โดยได้ร่วมกันออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์เป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 ย่อมมีส่วนร่วมเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการฝากเงินของโจทก์โดยตรงด้วย แม้ตั๋วสัญญาใช้เงินจะออกในนามของจำเลยที่ 1 ก็ตาม ทั้งตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 นำตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทของตนมาใช้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์ก็เพื่อจำเลยที่ 2 จะได้มีส่วนได้รับประโยชน์จากเงินฝากของโจทก์ทั้งสาม นั่นเอง จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 และยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตนออกเป็นตัวแทน แม้โจทก์จะมิได้กล่าวในฟ้องเกี่ยวกับการเป็นตัวแทน โจทก์ก็นำสืบในเรื่องนี้ได้เพราะเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงในรายละเอียด เนื่องจากในการติดต่อฝากเงินและทำตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทกันซึ่งอาจทำได้โดยตนเองหรือมีตัวแทนไปติดต่อทำสัญญาแทนก็ได้ จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามร่วมกันนำเงินไปฝากไว้กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รวม 4 ครั้ง และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์ทั้งสาม 4 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,450,000 บาท เป็นของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำนวน 3 ฉบับ และโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จำนวน 1 ฉบับ เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งหมดถึงกำหนดชำระโจทก์ทั้งสามได้นำไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิเสธการจ่ายเงินทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 9,377,687 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 5,750,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,700,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 5,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,700,000 บาท นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2540 ของต้นเงินจำนวน 1,350,000 บาท นับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2540 ของต้นเงินจำนวน 2,700,000 บาท นับแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 และให้ชำระเงินจำนวน 1,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 แต่ดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 4 ฉบับ รวมกันถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 พฤษภาคม 2542) ต้องไม่เกิน 1,927,687 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 25,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 15,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังยุติว่า จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจเงินทุน ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 โดยได้รับอนุญาตจากระทรวงการคลัง มีนายพงศ์ นายกิติกร และนายสมคิด เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาเห็นชอบให้รวมกิจการระหว่างธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันใช้ชื่อว่า ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 3 กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุน 12 บริษัทซึ่งรวมทั้งบริษัทจำเลยที่ 2 อยู่ด้วยได้ดำเนินการควบรวมกิจการกันเสร็จแล้ว จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับโอนสิทธิหน้าที่และทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 โดยชอบ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้จำเลยที่ 3 เข้าใจว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับฝากเงินจากโจทก์ทั้งสามอย่างใดและร่วมกันออกตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสามอย่างใด จำเลยที่ 3 ไม่อาจเข้าใจและต่อสู้คดีได้นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันออกให้แก่โจทก์ทั้งสาม เนื่องจากโจทก์ทั้งสามนำเงินไปฝากจำเลยที่ 2 สภาพแห่งข้อหาคือตั๋วสัญญาใช้เงิน คำขอบังคับคือจำนวนเงินที่โจทก์เรียกร้อง ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสาม โดยโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ทรงตั๋วและตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงินแล้วแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับโอนกิจการของจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิด โจทก์ได้บรรยายฟ้องในข้อที่กล่าวนี้ชัดแจ้งถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ ส่วนข้อที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาททั้งสี่ฉบับเป็นของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏข้อความใดบนตั๋วสัญญาใช้เงินแสดงว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสาม โดยจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 จะยกขึ้นปฏิเสธฟ้องโจทก์ ซึ่งหากจำเลยที่ 3 ยกขึ้นก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 3 จะต้องกล่าวโดยแจ้งชัดถึงข้อเท็จจริงที่ทำให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงิน หาใช่หน้าที่ของโจทก์จะต้องบรรยายฟ้องไว้ไม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 รับฝากเงินจากโจทก์ที่ 1 และลงลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาททั้งสี่ฉบับให้แก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่าคงมีเพียงตัวโจทก์ที่ 1 เบิกความว่าเป็นผู้นำเงินของโจทก์ไปฝากไว้กับนายสมคิดซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 และได้รับตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ซึ่งในช่องลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจมีลายมือชื่อนายพงษ์ เป็นภาษาจีนเท่านั้น มิได้มีพยานหลักฐานใดๆ มาสนับสนุนว่าโจทก์ที่ 1 ได้นำเงินของโจทก์ทั้งสามไปฝากไว้กับจำเลยที่ 2 จริง คำเบิกความยังขัดแย้งกับเอกสาร ทั้งโจทก์ที่ 1 เบิกความยอมรับว่านายพงษ์เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับฝากเงินจากโจทก์ทั้งสามจึงไม่ปรากกฎมีการลงรายการของตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาททั้งสี่ฉบับ และระบบเงินฝากของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.12 และ ล.13 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 เบิกความยืนยันว่า พยานเป็นผู้นำเงินของพยานกับของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไปฝากไว้กับจำเลยที่ 2 โดยขณะที่นำเงินไปฝากนั้นนายพงษ์ และนายสมคิด กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทมอบให้พยานกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ความข้อนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 มิได้รับฝากเงินจากโจทก์ทั้งสาม ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทไม่ใช่ตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 2 ทั้งตราประทับก็ไม่ใช่ของจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสามไม่มีรายชื่ออยู่ในรายงานเจ้าหนี้ตั๋วเงินและสำเนารายงานการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย ล.12 และ ล.13 ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ทั้งสามเป็นลูกค้าและเคยติดต่อฝากเงินกับจำเลยที่ 2 โดยตลอดมา ย่อมมีความไว้วางใจในตัวนายพงษ์และนายสมคิดที่เป็นผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาททั้งสี่ฉบับ โดยเฉพาะนายพงศ์ก็ได้ลงลายมือชื่อเป็นภาษาจีนเหมือนเช่นกับที่ลงชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 2 เมื่อครั้งที่เคยออกให้แก่โจทก์ทั้งสามมาก่อนประกอบทั้งลักษณะตั๋วสัญญาใช้เงินก็มีรูปแบบสีสันตลอดจนชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 คล้ายคลึงกัน ทั้งในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทแม้จะระบุชื่อจำเลยที่ 1 แต่การนัดใช้เงินตามตั๋วก็ยังระบุไว้ว่าชำระ ณ ที่ทำการของจำเลยที่ 2 เช่นนี้ ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปอาจเข้าใจว่าเป็นเอกสารของจำเลยที่ 2 ได้ เพราะเชื่อโดยสุจริตใจในตัวบุคคลผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทว่าก็คือตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 2 นั่นเอง ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่านายพงษ์และนายสมคิดเป็นผู้รับมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ในการออกตั๋วพิพาท จำเลยที่ 3 ก็มิได้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ปรากฏเพื่อป้องปัดความรับผิดของตน ทั้งยังไม่ได้ยกข้อต่อสู้นี้ไว้ในคำให้การด้วย จึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนเอกสารหมาย ล.12 และ ล.13 ก็เป็นรายชื่อลูกค้าที่ฝากเงินกับจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ทั้งสามโดยตรง ดังตัวอย่างเช่นตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย ล.5 ถึง ล.7 ที่จำเลยที่ 2 เคยออกให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่า โจทก์ทั้งสามฝากเงินกับจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ใช้แบบพิมพ์ตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 ออกให้โจทก์ทั้งสามแทนตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 2 ดังนั้น ย่อมไม่ปรากฏชื่อของโจทก์ทั้งสามอยู่ในรายงานเจ้าหนี้ตั๋วเงินและสำเนารายงานการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.12 และ ล.13 ส่วนลายมือชื่อผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาททั้งสี่ฉบับนั้น เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับลายมือชื่อผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย ล.5 ถึง ล.7 ซึ่งเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่แท้จริงของจำเลยที่ 2 แล้ว ก็ปรากฏว่าลายมือชื่อดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก อีกทั้งนายสุนทร พยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความตอบคำถามค้านรับว่า ลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเป็นลายมือชื่อของนายสมคิดซึ่งเหมือนกันกับลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย ล.7 พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับเจือสมกับพยานโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักกว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสามได้ฝากเงินไว้กับจำเลยที่ 2 จริง เมื่อโจทก์ที่ 1 นำเงินของโจทก์ที่ 1 และเงินของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไปฝากกับกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 แล้วกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทของจำเลยที่ 1 ทั้งสี่ฉบับให้แก่โจทก์ทั้งสามอันเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทโดยเชิดจำเลยที่ 1 ออกเป็นตัวแทนของตน เมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามตั๋วไม่ได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ออกตั๋วต้องรับผิดชำระเงินตามตั๋วแต่ละฉบับพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้ทรงนับแต่วันออกตั๋วเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เนื่องจากจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับโอนสินทรัพย์และหนี้สินของจำเลยที่ 2 ตามประกาศกระทรวงการคลัง มีผลให้จำเลยที่ 3 ได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดของจำเลยที่ 2 อันได้รวมกิจการเข้าด้วยกัน จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกัน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการสุดท้ายมีว่า การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการเชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาททั้งสี่ฉบับ เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสามมิได้บรรยายถึงเรื่องตัวแทนเชิด ทางนำสืบของโจทก์ก็มิได้กล่าวถึงเรื่องตัวแทนเชิดแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามได้นำเงินไปฝากไว้กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งได้ร่วมกันรับฝากเงินจากโจทก์โดยได้ร่วมกันออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 ย่อมมีส่วนร่วมเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการฝากเงินของโจทก์โดยตรงด้วย แม้ตั๋วสัญญาใช้เงินจะออกในนามของจำเลยที่ 1 ก็ตาม ทั้งตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 นำตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทของตนมาใช้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์ก็เพื่อจำเลยที่ 2 จะได้มีส่วนได้รับประโยชน์จากเงินฝากของโจทก์ทั้งสามนั่นเอง จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 และยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตนออกเป็นตัวแทนแม้โจทก์จะมิได้กล่าวในฟ้องเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนโจทก์ก็นำสืบในเรื่องนี้ได้เพราะเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงในรายละเอียดเนื่องจากในการติดต่อฝากเงินและทำตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทกันซึ่งอาจทำได้โดยตนเองหรือมีตัวแทนไปติดต่อทำสัญญาแทนก็ได้ จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความ 20,000 บาท แทนโจทก์

Share