คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5091/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ใช้เหล็กแป๊บน้ำตี จ. 2 ที จนสลบไปแล้วสั่งให้ ย.นำน้ำมาราดให้ฟื้นขึ้นมาทำงานต่อได้ประมาณ 10 นาที แล้วตีซ้ำอีก และใช้อาวุธปืนยิงอีก 2 นัดจน จ. ตาย และการที่จำเลยใช้เหล็กสแตนเลสข้าง ป.ซึ่งนั่งสัปหงกคัดปลาอยู่เพราะไม่มีเวลาพักผ่อนจนสลบคากองปลา และสั่งให้ ย. ลากมาไว้ท้ายเรือ เมื่อจำเลยบังคับเรือหนีเรือรบของประเทศสหภาพเมียนมาร์ได้ถามย. ว่าฟื้นหรือยังเมื่อยังไม่ฟื้นจึงให้ ย. โยน ป. ลงทะเล เป็นการกระทำที่ประสงค์ให้ผู้ตายได้รับความเจ็บปวดและทรมานก่อนตาย เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยทารุณโหดร้าย ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานฆ่าผู้อื่น แม้ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตก็ต้องกำหนดโทษในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 2 คน ที่หลบหนีได้ร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างวาระกัน กล่าวคือ จำเลยมีอาวุธปืนพกไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับและไม่ทราบขนาดจำนวน 1 กระบอก และมีกระสุนปืนขนาดเดียวกันกับอาวุธปืนจำนวนหลายนัดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และในระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535เวลากลางวัน ถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2535 เวลากลางวันจำเลยได้ร่วมกับพวกอีก 2 คน ที่หลบหนีใช้ท่อนเหล็กเป็นอาวุธตีและใช้อาวุธปืนยิงนายจันได กิคอม โดยเจตนาฆ่าแล้วโยนนายจันไดทิ้งในทะเล อันเป็นการกระทำโดยทารุณโหดร้ายและไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นเหตุให้นายจันไดถึงแก่ความตาย ต่อมาในระหว่างวันที่ 7 ธันวาคม 2535 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 10ธันวาคม 2535 เวลากลางวัน จำเลยร่วมกับพวกอีก 2 คนที่หลบหนีใช้ท่อนเหล็กสแตนเลสเป็นอาวุธขว้างปานายปราโมทย์ สินทรถูกบริเวณศีรษะทำให้นายปราโมทย์หมดสติ โดยเจตนาฆ่าแล้วโยนนายปราโมทย์ทิ้งในทะเลอันเป็นการกระทำทารุณโหดร้ายและโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นเหตุให้นายปราโมทย์ถึงแก่ความตายเหตุทั้งหมดเกิดในเรือไทยซึ่งกำลังแล่นอยู่ในบริเวณทะเลน่านน้ำของประเทศสหภาพเมียนมาร์และตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนองจังหวัดระนอง เกี่ยวพันกัน ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2537เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 4 วรรคสอง, 288, 289, 83, 91 และพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(5), 91 รวม 2 กรรม และตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยทารุณโหดร้ายให้ประหารชีวิต เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาเรียงกระทงลงโทษจำเลยอีก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(1)คงจำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พยานโจทก์ทั้งสองผู้ตายทั้งสอง กับนายกิม สายสะอาด ได้ลงเรือไปกับเรือลิ้มเดือนอุดมชัย 49 จริง ที่จำเลยอ้างว่า นายเทอดทูลเป็นผู้จัดหาลูกเรือเอง ลูกเรือที่ไปกับจำเลยชื่ออะไรบ้างจำไม่ได้และไม่รู้จักผู้ตายและพยานในคดีนี้ ขัดต่อเหตุผล เพราะนายเทอดทูลอยู่ที่จังหวัดระนอง เรือที่จำเลยเป็นนายเรือเพิ่งดัดแปลงใหม่ออกจากท่าเรือสมุทรสาคร การรับคนงานที่ต้นทางย่อมสะดวกมากกว่าหาจากปลายทางส่งมา ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้นที่จำเลยฎีกาต่อไปว่าพยานหลักฐานโจทก์มีเหตุควรสงสัยต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยโดยพิพากษายกฟ้องนั้น เห็นว่านายบุญเลิศและนายเวสต่างเบิกความยืนยันว่า ขณะไปกับเรือลิ้มเดือนอุดมชัย 49 ที่จำเลยเป็นไต๋เรือโดยออกจากท่าเรือมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2535มีลูกเรือประมาณ 10 คน ไปถึงท่าเรือจังหวัดระนองแล้วหาลูกเรือชาวเมียนมาร์เพิ่มอีกประมาณ 16 คน ออกหาปลาในทะเลประเทศสหภาพเมียนมาร์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2535 ใช้เวลาลากอวนจับปลาอยู่ในทะเลนานแรมเดือน พยานทั้งสองได้เห็นจำเลยทำร้ายร่างกายลูกเรือเกือบทุกคนหาว่าทำงานล่าช้า แม้คนที่ขยันขันแข็งก็ยังทำงานไม่ทันใจจำเลยและเห็นจำเลยใช้ท่อนเหล็กแป๊บน้ำตีนายจันได แล้วใช้อาวุธปืนยิงซ้ำที่หน้าผากและหน้าอกจนตาย และสั่งให้นายยักษ์โยนศพทิ้งทะเล และได้เห็นจำเลยใช้ท่อนเหล็กสแตนเลสขว้างถูกศีรษะนายปราโมทย์จนสลบพอดีเรือเข้าเขตหวงห้ามของประเทศสหภาพเมียนมาร์ เรือรบของประเทศสหภาพเมียนมาร์จึงไล่จับเรือลิ้มเดือนอุดมชัย 49ขณะจำเลยบังคับเรือหลบหนีการจับกุมได้สั่งให้โยนนายปราโมทย์ลงทะเล เหตุการณ์ดังกล่าวล้วนเกิดขึ้นเวลากลางวัน สถานที่เกิดเหตุก็อยู่บนเรืออันเป็นสถานที่แคบ ๆ พยานย่อมเห็นได้โดยชัดเจนน่าเชื่อว่าพยานทั้งสองเบิกความตามความจริง สาเหตุที่จำเลยทำร้ายลูกเรือคงเนื่องมาจากต้องการให้ลูกเรือทำงานได้รวดเร็วแข่งเวลาเพื่อจะได้จับปลาได้มาก เพราะจำเลยมีส่วนได้เป็นเปอร์เซ็นต์จากการขายปลา นอกจากเงินเดือนอีกด้วย ทั้งเป็นการไปจับปลาในน่านน้ำของประเทศอื่น หากล่าช้าอาจถูกจับกุมได้เป็นเหตุผลสนับสนุนให้คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองน่าเชื่อยิ่งขึ้น ชั้นสอบสวนพันตำรวจโทสุเทพ เฉยเจริญพนักงานสอบสวนก็เบิกความยืนยันว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามคำให้การเอกสารหมาย จ.13 และได้นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำให้การรับสารภาพให้ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานด้วย ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.9 พร้อมภาพถ่ายทั้ง 7 ภาพ พนักงานสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด และไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน ไม่มีข้อระแวงว่าจะเบิกความปรักปรำใส่ร้าย น่าเชื่อว่าเบิกความตามสัตย์จริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนโดยสมัครใจคำให้การมีรายละเอียดเจือสมคำเบิกความของพยานโจทก์ในชั้นศาลพยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่าจำเลยได้ฆ่าผู้ตายทั้งสองจริง พยานจำเลยไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ใช้เหล็กแป๊บน้ำตีนายจันได 2 ที จนสลบไปแล้วสั่งให้นายยักษ์นำน้ำมาราดให้ฟื้นขึ้นมาทำงานต่อไปประมาณ 10 นาที แล้วตีซ้ำอีกและใช้อาวุธปืนยิงอีก 2 นัด จนนายจันไดตาย และการที่จำเลยใช้เหล็กสแตนเลสขว้างนายปราโมทย์ซึ่งนั่งสัปหงกคัดปลาอยู่เพราะไม่มีเวลาพักผ่อนจนสลบคากองปลา และสั่งให้นายยักษ์ลากมาไว้ท้ายเรือ เมื่อจำเลยบังคับเรือหนีเรือรบของประเทศสหภาพเมียนมาร์ได้ถามนายยักษ์ว่าฟื้นหรือยังเมื่อปรากฏว่ายังไม่ฟื้นจึงให้นายยักษ์โยนนายปราโมทย์ลงทะเลนั้น เป็นการกระทำที่ประสงค์ให้ผู้ตายได้รับความเจ็บปวดและทรมานก่อนตาย ซึ่งตามความรู้สึกของวิญญูชนธรรมดาเป็นการทารุณโหดร้าย ความผิดของจำเลยจึงต้องด้วยลักษณะฉกรรจ์เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้ายที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานฆ่าผู้อื่น แม้ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นศาลชั้นต้นจะลงโทษประหารชีวิต และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำคุกตลอดชีวิต ก็ต้องกำหนดโทษในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ด้วยที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดโทษในความผิดนี้ไว้เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาเห็นควรแก้ไข”
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปีเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share