แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยเลิกจ้างลูกจ้างโดยทำเป็นหนังสือ และระบุเหตุเลิกจ้างไว้ชัดแจ้งเมื่อจำเลยถูกลูกจ้างฟ้องร้องต่อศาล จำเลยจะยกเอาเหตุเลิกจ้างอื่นนอกเหนือจากหนังสือเลิกจ้างเป็นข้อต่อสู้หาได้ไม่เมื่อเหตุเลิกจ้างตามหนังสือเลิกจ้างไม่ต้องด้วย ข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และป.พ.พ.มาตรา 583 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะโจทก์ลักสีที่ใช้ทาผนังโรงงานของจำเลย ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่น่าระแวงสงสัยและไม่เป็นที่ไว้วางใจจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าจ้างค้างจ่ายให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 3,350 บาท วันหยุดพักผ่อนประจำปี (ที่ถูกคือ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี) เป็นเงิน1,608 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมเป็นเงิน209,040 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายค่าจ้างที่ค้างเป็นเงิน1,340 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีในระหว่างผิดนัดกับจ่ายเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างชำระทุกระยะ 7 วันและค่าชดเชยเป็นเงิน 24,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ลักทรัพย์ของจำเลย เป็นการกระทำผิดอาญาต่อนายจ้าง และจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำผิดต่อข้อบังคับการทำงาน และผิดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ลักสีที่ใช้ทาผนังโรงงานของจำเลย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควรไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยต้องรับผิดแต่เพียงค่าจ้างที่ค้างจำนวน1,340 บาท ตามที่รับกัน ส่วนเงินเพิ่มนั้นโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่าจำเลยจงใจผิดนัดจ่ายค่าจ้าง โดยไม่มีเหตุอันสมควรโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินเพิ่มจากจำเลย พิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างที่ค้างจำนวน 1,340 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณีที่จำเลยเลิกจ้างลูกจ้างโดยทำเป็นหนังสือและระบุเหตุเลิกจ้างไว้ชัดแจ้ง แสดงว่าจำเลยประสงค์จะถือเอาเฉพาะเหตุนั้นเป็นข้ออ้างในการเลิกจ้าง หาได้ถือเอาเหตุอื่นด้วยไม่ ดังนั้น เมื่อจำเลยถูกลูกจ้างฟ้องร้องต่อศาลจำเลยจะยกเอาเหตุเลิกจ้างอื่นนอกเหนือจากหนังสือเลิกจ้างเป็นข้อต่อสู้หาได้ไม่ ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.3 ระบุเหตุเลิกจ้างไว้ชัดแจ้งว่า โจทก์มีพฤติการณ์น่าระแวงสงสัยและไม่เป็นที่ไว้วางใจ ฉะนั้น จำเลยจะให้การต่อสู้ว่าโจทก์ลักทรัพย์ของจำเลยซึ่งเป็นการยกเอาเหตุอื่นนอกเหนือจากหนังสือเลิกจ้างขึ้นเป็นข้อต่อสู้หาได้ไม่ เหตุเลิกจ้างตามที่จำเลยอ้างในหนังสือเลิกจ้างนั้น ไม่ต้องด้วยข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่ากรณีเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า การกระทำของโจทก์ที่ลักสีของนายจ้างตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมา ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่น่าระแวงสงสัยและไม่เป็นที่ไว้วางใจ ที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าชดเชยจำนวน 24,120 บาทและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 804 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 3,350 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.