แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเห็น ส. กับ บ. ซึ่งยืนอยู่ข้างประตูหลังรถคนละด้านกับคนขับ แต่ก็ยังใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงจ้องยิงไปที่รถยนต์ ขณะที่ บ.ซึ่งกำลังจะขึ้นรถยนต์จำเลยย่อมเล็งเห็นผลหรือคาดหมายได้ว่ากระสุนปืนซึ่งจำเลยยิงไป อาจถูก ส.หรือท.ซึ่งนั่งอยู่ภายในรถยนต์ได้เมื่อกระสุนปืนที่จำเลยยิงไปถูก ส.เป็นเหตุให้ส.ถึงแก่ความตาย และ ท.ได้รับบาดเจ็บ จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่า ท.โดยเจตนา แม้จะฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดขณะมึนเมาเพราะเสพสุราก็ตาม จำเลยก็จะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวเพื่อไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้นไม่ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 66 ก่อนเกิดเหตุ บ.ซึ่งเป็นปลัดอำเภออาวุโสเคยข่มขู่จำเลยซึ่งเป็นปลัดอำเภอหลายครั้ง ในคืนเกิดเหตุ บ.เมาสุราขึ้นไปเรียกจำเลยบนบ้านขณะจำเลยเข้านอนแล้วและด่าจำเลยซึ่งออกมาพบว่า “ไอ้เหี้ยมึงซ่านักหรือ” แล้วยังได้ตบจำเลยอีกเช่นนี้ การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปทางรถเปอร์โยต์ หลังจาก บ.เดินลงบันไดไปจนเกิดเหตุร้ายดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นเป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 80, 288 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 และ 288, 80 จำคุก 15 ปี จำเลยพยายามบรรเทาผลร้ายจากการกระทำความผิดโดยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ภริยาผู้ตายและผู้เสียหาย ประกอบกับจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำเลยคุก 7 ปี 6 เดือนริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยมีเจตนาฆ่านายสิงห์โตและนางทิพยาหรือไม่ และฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเห็นนายสิงห์โตกับนายบรรจงซึ่งยืนอยู่ข้างประตูหลังรถคนละด้านกับคนขับ แต่ก็ยังใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงจ้องยิงไปที่รถยนต์ ขณะที่นายบรรจงซึ่งกำลังจะขึ้นรถยนต์ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลหรือคาดหมายได้ว่ากระสุนปืนซึ่งจำเลยยิงไปอาจถูกนายสิงห์โต หรือนางทิพยาซึ่งนั่งอยู่ภายในรถยนต์ได้ ชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพต่อร้อยตำรวจโทอิทธิพร ชูติกุลังและจำเลยได้ลงชื่อไว้ในบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.5 อีกด้วย เมื่อกระสุนปืนที่จำเลยยิงไปถูกนายสิงห์โตเป็นเหตุให้นายสิงห์โตถึงแก่ความตายและนางทิพยาได้รับบาดเจ็บ จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่านางทิพยาโดยเจตนาดังโจทก์ฟ้อง แม้จะฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดขณะมึนเมาเพราะเสพสุราก็ตาม จำเลยก็จะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวเพื่อไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้นไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 66 ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปที่รถยนต์ของนายบรรจงโดยไม่ทราบว่ามีผู้ใดอยู่ในรถและจำเลยไม่มีเจตนายิงนายบรรจงนั้น ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า จำเลยกระทำไปเพราะเหตุบันดาลโทสะนั้น ได้ความจากนายสุมิตรพยานโจทก์คนขับรถเปอร์โยต์ซึ่งเห็นเหตุการณ์ใกล้ชิดตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ก่อนเกิดเหตุเล็กน้อยนายสุนทร ทิพย์มณีนายอำเภอได้บอกให้นายบรรจงซึ่งมีอาการเมาสุรากลับบ้าน แต่นายบรรจงไม่เชื่อและขึ้นไปเรียกจำเลยบนบ้าน จนนายสุมิตรกับนางทิพยาขึ้นไปดึงตัวนายบรรจงลงมา สักครู่จึงเกิดเหตุกับได้ความตายคำเบิกความนายสุนทรพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของทั้งนายบรรจงและจำเลยตรงกับคำเบิกความนายสมควรเพื่อปลัดอำเภอด้วยกันว่า นายบรรจงชอบดื่มเบียร์เมื่อเมาแล้วมีนิสัยก้าวร้าว ดื้อรั้นพูดจาหยาบคาย ยังได้เคยข่มขู่จำเลยว่าอยากตายไหม ในข้อนี้จำเลยเบิกความตรงกันว่า นายบรรจงเคยข่มขู่จำเลยดังกล่าว 4 ครั้ง ในวันเกิดเหตุ จำเลยเข้านอนแล้ว ต่อมาอีก 4-5 นาที มีเสียงคนร้องเรียกและตะโกนด่าท้าทายให้จำเลยออกไปยิงต่อมามีเสียงนายบรรจงร้องเรียกและด่าจำเลยว่า”ไม้เหี้ย ใครยิงปืน” จำเลยออกมาพบนายบรรจงที่หัวบันไดบ้านชั้นบน นายบรรจงด่าจำเลยว่า “ไอ้เหี้ย มึงซ่านักหรือ” แล้วตบจำเลยล้มลง จำเลยเกิดโทสะจึงใช้อาวุธปืนที่พกไว้ที่เอว จ้องยิงไปทางรถเปอร์โยต์ จำเลยมีพยานเบิกความสนับสนุนคือ นางบุญร่วมคำดี ซึ่งนายพยงค์พยานโจทก์รับว่าขณะเกิดเหตุบางบุญร่วมอยู่บนบ้านจำเลย นอกจากนี้จำเลยยังมีนายเกรียงไกร ธวิวัฒน์ซึ่งมีร้านอาหารตรงข้ามบ้านพักปลัดอำเภอเป็นพยานเบิกความสนับสนุนสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยด้วย ยิ่งกว่านั้นนายสุมิตรพยานโจทก์อีกปากหนึ่งก็เบิกความเจือสมคำของจำเลยว่านายบรรจงชอบดื่มเบียร์เวลาเมาจะต้องก้าวร้าวดื้อดึง พูดจาหยาบคาย เคยพูดจาข่มขู่จำเลยมาก่อนเกิดเหตุทั้งในวันเกิดเหตุยังได้ขึ้นไปเรียกจำเลยบนบ้านด้วยแล้วยิ่งทำให้พยานจำเลยและข้ออ้างของจำเลยในส่วนนี้มีน้ำหนัก เชื่อได้ว่า หลังจากจำเลยเมาสุราและใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้ากับขึ้นไปนอนบนบ้านพักแล้วนายบรรจงซึ่งเมาสุราเช่นกันได้ขึ้นไปเรียกด่าและตบทำร้ายจำเลยจริง เมื่อนายบรรจงเดินลงมาจากบันไดล้านจำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงตามลงมาทางรถยนต์เปอร์โตย์ที่จอดอยู่ขณะที่นายบรรจงกำลังจะขึ้นรถ ส่วนที่นายบรรจงเบิกความทำนองว่ามิได้ขึ้นไปบนบ้านจำเลยเลยนั้นมีน้ำหนักน้อยเพราะนายสุมิตรพยานโจทก์อีกปากหนึ่งก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่านายบรรจงขึ้นไปบนบ้านจำเลยแล้วเรียกจำเลย พยานกับนางทิพยาจึงขึ้นไปดึงตัวนายบรรจงลงมา พิเคราะห์ประวัติของจำเลยตามรายงานแพทย์และหนังสือโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ลงวันที่ 26 มีนาคม 2534แสดงว่าจำเลยเป็นบุตรกำพร้าทั้งมารดาและบิดา จำเลยเคยรักษาตัวที่โรงพยาบาล ตามพฤติการณ์แห่งคดีก่อนเกิดเหตุ นายบรรจงซึ่งเป็นปลัดอำเภออาวุโสเคยข่มขู่จำเลยหลายครั้ง ในคืนเกิดเหตุนายบรรจงเมาสุราขึ้นไปเรียกจำเลยบนบ้านขณะจำเลยเข้านอนแล้วและด่าจำเลยซึ่งออกมาพบว่า “ไอ้เหี้ย มึงซ่านักหรือ” แล้วยังได้ตบจำเลยอีกเช่นกัน การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปทางรถเปอร์โยต์หลังจากนายบรรจงเดินลงบันไดไปจนเกิดเหตุร้ายดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น เป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 การที่จำเลยไม่ได้ยกเหตุนี้ขึ้นอ้างในชั้นสอบสวนก็อาจเป็นเพราะจำเลยได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจ หรืออาจเป็นเพราะยังไม่มีโอกาสทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นได้ จึงไม่เป็นข้อพิรุธ
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 และ 288, 80, 90 ประกอบด้วยมาตรา 72 ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 72 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 ปี จำเลยพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งคดีและให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นเหตุให้บรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี 8 เดือน ส่วนกระสุนปืนขนาด .38ของกลางจำนวน 8 มัด เป็นกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนซึ่งจำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้แล้ว จึงมิใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดหรือเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำผิด จึงให้คืนแก่จำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์