แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนของโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ปัญหาดังกล่าวจึงมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247 และที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตซึ่งแม้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่จำเลยมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นเหตุให้ไม่มีข้อเท็จจริงในสำนวนที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้การจดทะเบียนสมรสของจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะ และให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 10,000,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ให้อภัยจำเลยทั้งสอง ยินยอมและรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่ 2 อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 1 ฉันภริยา ค่าทดแทนที่โจทก์เรียกมาสูงเกินไป หากมีความเสียหายค่าทดแทนไม่เกิน 100,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้การสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองที่จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2527 ณ สำนักงานทะเบียนอำเภอเมืองราชบุรี ตกเป็นโมฆะ ให้แจ้งไปยังนายทะเบียนอำเภอเมืองราชบุรีเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรสของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าทดแทน 300,000 บาท แก่โจทก์ สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นในชั้นอุทธรณ์นั้น ให้จำเลยที่ 1 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์แต่ค่าขึ้นศาลเฉพาะเท่าที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 แต่งงานจดทะเบียนสมรสกันวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2516 ตามใบสำคัญการสมรส มีบุตรด้วยกัน 4 คน ต่อมาจำเลยที่ 2 อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2526 และจดทะเบียนสมรสกันวันที่ 25 พฤษภาคม 2527 ตามใบสำคัญการสมรส มีบุตรด้วยกัน 2 คน หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 ตามใบสำคัญการหย่า ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้การสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองที่ได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2527 ณ สำนักงานทะเบียนอำเภอเมืองราชบุรี ตกเป็นโมฆะ โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ปัญหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงมีประเด็นเฉพาะเรื่องค่าทดแทนสู่ศาลฎีกา คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับเฉพาะจำเลยที่ 1 ชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ ในชั้นฎีกาจึงไม่มีประเด็นเรื่องค่าทดแทนในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 2 มาด้วยจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนของโจทก์ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ปัญหาดังกล่าวจึงมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247 นอกจากนั้นที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาด้วยว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตซึ่งแม้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่จำเลยก็มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นเหตุให้ไม่มีข้อเท็จจริงในสำนวนที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ดังนั้นแม้เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรจะยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) จึงไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า ขณะสมรสโจทก์กับจำเลยที่ 2 พักอาศัยอยู่ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ปี 2520 จึงย้ายมาอยู่ที่บ้านอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ปี 2526 จำเลยที่ 2 ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 ตำบลด่านทับตะโก อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี และในปีนั้นเองโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 2 อยู่กินกับจำเลยที่ 1 ฉันสามีภริยาอย่างเปิดเผย ปลูกบ้านอยู่ร่วมกันที่บ้านเลขที่ 22/1 หมู่ที่ 2 ตำบลแก้มอัน อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี โจทก์เคยบอกให้จำเลยที่ 2 เลิกคบหากับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ทำร้ายโจทก์ทุกครั้งที่พูดเรื่องนี้และจำเลยทั้งสองแอบไปจดทะเบียนสมรสกันวันที่ 25 พฤษภาคม 2527 โจทก์เพิ่งทราบเมื่อเดือนเมษายน 2555 เพราะจำเลยที่ 1 ขายรถบรรทุกให้แก่นายพรเทพ บุตรชายคนที่ 2 ของโจทก์กับจำเลยที่ 2 นายพรเทพคัดใบสำคัญการสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองมาให้โจทก์ดู จำเลยทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 2 คน เคยนำมาให้โจทก์เลี้ยง และโจทก์เคยไปเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่กับจำเลยทั้งสอง เพราะมารดาจำเลยที่ 2 ต้องการให้โจทก์ไปเป็นเพื่อน โจทก์ไม่เคยให้อภัยจำเลยที่ 1 เพราะทำให้ครอบครัวของโจทก์แตกแยก และทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง นายพรเทพเบิกความว่า หลังจากจำเลยที่ 2 ได้จำเลยที่ 1 มาเป็นภริยา ครอบครัวของโจทก์แตกแยก บุตรคนโตหนีออกจากบ้าน โจทก์ทนทุกข์ทรมานไม่สามารถออกงานต่าง ๆ เพราะอับอายสังคมตราหน้าว่าสามีมีภริยาน้อย แต่โจทก์ไม่คัดค้านเพราะไม่สามารถทำอะไรได้ ปี 2555 จำเลยที่ 2 ขายที่ดินสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านไว้ จำเลยที่ 2 ไม่สามารถโอนที่ดินให้แก่ผู้ซื้อจึงถูกผู้ซื้อฟ้อง จำเลยที่ 2 เคยใช้อาวุธปืนข่มขู่โจทก์ให้ไปถอนคำคัดค้านมิฉะนั้นจะฆ่าให้ตาย ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 โดยไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 มีภริยาจดทะเบียนสมรสอยู่ก่อน จำเลยที่ 1 เพิ่งทราบว่าจำเลยที่ 2 มีโจทก์เป็นภริยาเมื่อปี 2530 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 พาโจทก์กับจำเลยที่ 1 ออกงานร่วมกันโดยตลอด เมื่อจำเลยที่ 1 คลอดบุตรก็ได้ลาออกจากข้าราชการครู จำเลยที่ 1 เคยนำบุตรไปให้โจทก์ช่วยเลี้ยง จำเลยทั้งสองกับโจทก์เคยไปเที่ยวทางภาคเหนือด้วยกัน จำเลยที่ 1 ไม่เคยทะเลาะกับโจทก์ ปี 2551 จำเลยที่ 1 จึงทราบว่าจำเลยที่ 2 จดทะเบียนสมรสกับโจทก์อยู่ก่อน และจำเลยที่ 2 ยังจดทะเบียนสมรสซ้อนกับนางเผชิญอีกคนหนึ่งตามข้อมูลทะเบียนครอบครัว จำเลยที่ 2 เป็นคนจัดการเรื่องเงินของครอบครัวทั้งหมด จำเลยที่ 2 เบิกความว่า เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 ตำบลด่านทับตะโก อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ระหว่างปี 2526 ถึงปี 2554 หลังจากแต่งงานจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ มีบุตรด้วยกัน 4 คน จำเลยที่ 2 ได้ผู้หญิงเป็นภริยาอีกหลายคน หลอกให้จดทะเบียนสมรสด้วย 2 คน คนหนึ่งคือจำเลยที่ 1 นี้ โจทก์กับจำเลยที่ 1 พูดคุยกันบ้าง แต่ไม่ทราบว่าเรียกขานกันอย่างไร เวลาที่จำเลยที่ 2 จัดงานในฐานะผู้ใหญ่บ้าน ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 มาช่วยงาน แต่เวลาออกงานสังคม จำเลยที่ 2 พาจำเลยที่ 1 ไปด้วย ไม่ได้ให้โจทก์ออกงานเพราะโจทก์เรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สาเหตุที่จำเลยที่ 2 ทำร้ายโจทก์เนือง ๆ เพราะโจทก์มักจะโต้เถียงกับจำเลยที่ 2 นายบุญส่ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลด่านทับตะโก อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เบิกความว่า ไม่เคยได้ยินว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทะเลาะกัน กรณีมีงานเลี้ยงของอำเภอ จำเลยที่ 2 มักพาจำเลยที่ 1 ไปร่วมงาน ในงานวันเกิดของจำเลยที่ 2 พยานเห็นโจทก์ จำเลยที่ 1 และบุตรร่วมงานด้วย นางสาวนิตยา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 ตำบลด่านทับตะโก อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เบิกความว่า จำเลยที่ 2 มีภริยา 2 คน คือโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เคยเห็นว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทะเลาะกัน เพราะต่างฝ่ายต่างอยู่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับว่า มีภริยาหลายคน หลอกผู้หญิงให้จดทะเบียนสมรสด้วย 2 คน คนหนึ่งคือจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็เบิกความยอมรับว่า ตั้งแต่ปี 2530 ตนก็ทราบว่าโจทก์เป็นภริยาจำเลยที่ 2 แต่เพิ่งมาทราบว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2551 ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองเบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ 2 พาจำเลยที่ 1 ออกงานสังคม จำเลยที่ 2 ไม่ให้โจทก์ออกงานสังคมเพราะโจทก์เรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แสดงว่า จำเลยที่ 2 ยกย่องอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 1 เป็นภริยา และจำเลยที่ 1 แสดงตนโดยเปิดเผยเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง คงมีปัญหาเพียงว่า โจทก์ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่ 1 แสดงตนโดยเปิดเผยเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทราบตั้งแต่ปี 2526 ว่า จำเลยที่ 1 อยู่กินฉันภริยาสามีกับจำเลยที่ 2 และทราบในปี 2555 ว่า จำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสกัน อีกทั้งโจทก์เคยช่วยเลี้ยงบุตรทั้งสองของจำเลยที่ 1 ในช่วงที่จำเลยที่ 1 มีภารกิจ และโจทก์เคยไปเที่ยวกับจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับว่า ทำร้ายโจทก์เนือง ๆ เพราะโจทก์มักโต้เถียงกับจำเลยที่ 2 และนายพรเทพ บุตรของโจทก์กับจำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 เคยขู่จะฆ่าโจทก์เมื่อโจทก์ไปคัดค้านการขายที่ดินสินสมรส ประกอบกับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใหญ่บ้านในเขตชนบท นับว่ามีอิทธิพลในชุมชน ทำให้น่าเชื่อว่าโจทก์ไม่กล้าโต้แย้งคัดค้านการกระทำของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ไม่สมัครใจยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่ 1 แสดงตนโดยเปิดเผยเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 จึงไม่ถูกตัดสิทธิไม่ให้รับค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคท้าย สำหรับข้ออ้างในฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดประเด็นวินิจฉัยเน้นการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นหลักไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า เหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) เกิดจากการกระทำของคู่สมรส ส่วนเหตุเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคสอง ต้องเกิดจากการกระทำร่วมกันของคู่สมรสกับผู้อื่น กล่าวคือ เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสองนั่นเอง ดังนั้นการวินิจฉัยสิทธิได้รับค่าทดแทนของโจทก์ย่อมต้องพิจารณาการกระทำของจำเลยทั้งสอง การกำหนดประเด็นวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ทำให้ข้อวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ข้ออ้างข้อนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสาระสำคัญต่อการวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 อีกเพียงว่าโจทก์สมควรได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 เพียงใด เห็นว่า โจทก์ต้องอดทนต่อการกระทำของจำเลยทั้งสอง ไม่สามารถเชิดหน้าชูตาในฐานะภริยาของผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้นำชุมชน ต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยความอับอายนาน 29 ปี จึงยื่นฟ้องคดีนี้ ฝ่ายจำเลยที่ 1 ก็จำยอมเพราะถูกจำเลยที่ 2 หลอกให้เป็นภริยาและจดทะเบียนสมรส แต่ก็ยังแสดงตนออกหน้าในสังคมอย่างภริยาจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์ต้องอยู่ในสภาวะจำทนอับอาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดค่าทดแทนให้จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์จำนวน 300,000 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเหมาะสม ฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ