คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6442/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ชื่อของโจทก์เป็นภาษาอังกฤษเขียนว่า ACMEINDUSTRIESCO.,LTD. ส่วนชื่อของจำเลยเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า ACMEINDUSTRYCO.,LTD. ชื่อโจทก์และจำเลยจึงคล้ายกันมาก เช่นนี้ ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปโดยเฉพาะชาวต่างประเทศที่ติดต่อค้าขายกับโจทก์เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดว่าโจทก์คือจำเลย หรือจำเลยคือโจทก์ได้โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใช้ชื่อภาษาไทยว่าบริษัทอุตสาหกรรมแอคมิ จำกัด ส่วนจำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใช้ชื่อภาษาไทยว่า บริษัทเอ็กมี่อินดัสทรี จำกัด สาระสำคัญของชื่อโจทก์และจำเลยที่ใช้เรียกขานอยู่ที่คำว่าแอคมิหรือเอ็กมี่ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษคำเดียวกันคือ ACME แม้จะเขียนเป็นภาษาไทยแตกต่างกัน แต่ก็อ่านออกเสียงคล้ายกันมาก ส่วนคำว่า อุตสาหกรรมและอินดัสทรี ก็เป็นคำเดียวกัน เพียงแต่ของจำเลยเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษเท่านั้นชื่อของจำเลยจึงพ้องหรือคล้ายกับชื่อของโจทก์แล้ว การประกอบธุรกิจต่างกันหรือมีลูกค้าคนละกลุ่มกันไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาพิจารณาว่าชื่อโจทก์กับจำเลยพ้องหรือคล้ายกันหรือไม่ แม้ขณะที่จำเลยขอจดทะเบียนชื่อของจำเลย จำเลยอาจจะกระทำโดยสุจริตซึ่งอาจจะไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ก็ตามแต่ต่อมาเมื่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครมีหนังสือแจ้งให้จำเลยเปลี่ยนชื่อใหม่เพราะชื่อซ้ำกับชื่อของโจทก์ และทนายโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยเปลี่ยนชื่อจำเลยก็ได้มีหนังสือถึงทนายโจทก์แจ้งให้ทราบว่าจำเลยจะเปลี่ยนชื่อใหม่ แสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้แล้วว่าชื่อจำเลยพ้องหรือคล้ายกับชื่อโจทก์ แต่จำเลยก็เพิกเฉย หาได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อไม่โจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากวันที่จำเลยรับรองว่าจะเปลี่ยนชื่อเกือบ 6 เดือน เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าขณะที่โจทก์ฟ้องคดี จำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยนำชื่อที่ซ้ำหรือคล้ายกับของโจทก์มาใช้โดยมิชอบแล้ว จำเลยไม่ได้ให้การสู้คดีไว้ว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจึงต้องถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจริง ดังนั้นแม้โจทก์จะนำสืบไม่ได้ชัดแจ้งว่าโจทก์ได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด แต่เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยดังกล่าวแล้ว ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ใช้ชื่อเป็นภาษาไทยว่าบริษัทอุตสาหกรรมแอคมิ จำกัด เป็นภาษาอังกฤษว่า ACME INDUSTRIESCOMPANY LIMITED คำว่า ACME ออกเสียงว่า แอคมิ หรือเอ็กมี่เป็นคำสามัญทั่ว ๆ ไป โจทก์ประกอบธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้อื่น ๆ ที่ทำด้วยไม้ส่งไปขายต่างประเทศทั้งในยุโรปสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น มาเป็นเวลา 14 ปีแล้วและขายในประเทศไทยด้วย จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อปี 2530 ประกอบธุรกิจการค้าตู้อบไมโครเวฟเครื่องซักผ้า และอื่น ๆ โดยใช้ชื่อเป็นภาษาไทยว่าบริษัทเอ็กมี่ อินดัสทรี จำกัด ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่าACME INDUSTRY CO.,LTD. ชื่อของจำเลยคำแรกเป็นคำเดียวกับของโจทก์ซึ่งออกเสียงเป็นแอคมิ หรือเอ็กมี่ ก็ได้ ส่วนคำที่ 2 ใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า INDUSTRY ซึ่งเป็นคำเอกพจน์ ดังนั้น ชื่อของโจทก์และจำเลยจึงซ้ำหรือคล้ายหรือเหมือนหรือพ้องกัน โจทก์และจำเลยต่างประกอบธุรกิจการค้าทั้งในและต่างประเทศ การที่จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลภายหลังโจทก์ถึง 12 ปี โดยใช้ชื่อฟ้องหรือซ้ำหรือคล้ายหรือเหมือนกันเช่นนี้ น่าจะลวงให้มหาชนหลงไปได้ว่าเป็นบริษัทเดียวกัน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์เคยแจ้งให้จำเลยเปลี่ยนชื่อใหม่ แต่จำเลยขอผัดเรื่อยมา ขอให้บังคับจำเลยเปลี่ยนชื่อใหม่ และให้ชำระค่าเสียหายวันละ 1,000 บาทนับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยเปลี่ยนชื่อเรียบร้อยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ชื่อภาษาไทยของโจทก์และจำเลยมีคำอ่านตลอดจนตัวสะกดต่างกันอย่างชัดแจ้ง การใช้ชื่อของบริษัทจำเลยตลอดจนการติดต่อค้าขายกับลูกค้าและธุรกิจของโจทก์จำเลยเป็นคนละกลุ่มกันลูกค้าย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นคนละบริษัทกัน จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และใช้ชื่อตามที่กระทรวงพาณิชย์อนุญาตจำเลยจึงใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่เคยคิดเลียนแบบชื่อของโจทก์หรือทำการค้าแข่งกับโจทก์ จำเลยผลิตตู้อบไมโครเวฟ ส่วนโจทก์ทำเฟอร์นิเจอร์ ตราของโจทก์กับของจำเลยก็แตกต่างกัน ไม่ทำให้มหาชนเข้าใจผิดว่าเป็นบริษัทเดียวกัน จำเลยไม่ได้ใช้ชื่อพ้องกับโจทก์โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อเดิมโดยให้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อใหม่ กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 100 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเสร็จเรียบร้อยคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยฎีกาว่า ชื่อของจำเลยไม่ได้พ้องหรือคล้ายกับชื่อของโจทก์นั้น เห็นว่า ชื่อของโจทก์เป็นภาษาอังกฤษเขียนว่า ACME INDUSTRIES CO.,LTD. ซึ่งอาจเขียนเป็นภาษาไทยว่า บริษัทแอคมิ อินดัสทรีส์ จำกัด หรือจะเขียนว่าบริษัทเอ็กมี่ อินดัสทรีส์ จำกัด ก็ได้ ส่วนชื่อของจำเลยเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า ACME INDUSTRY CO.,LTD. เขียนเป็นภาษาไทยว่าบริษัทเอ็กมี่ อินดัสทรี จำกัด หรือจะเขียนว่าบริษัทแอคมิ อินดัสทรี จำกัด ก็ได้จะเห็นได้ว่าชื่อโจทก์และจำเลยที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษคล้ายกันมาก แตกต่างกันเพียงโจทก์ใช้คำว่า INDUSTRIES ซึ่งเป็นคำพหูพจน์ แต่จำเลยใช้คำว่าINDUSTRY ซึ่งเป็นคำเอกพจน์ ส่วนการออกเสียงทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยก็เกือบจะเหมือนกันเช่นนี้ ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปโดยเฉพาะชาวต่างประเทศที่ติดต่อค้าขายกับโจทก์ซึ่งคงจะต้องติดต่อกับโจทก์ในชื่อภาษาอังกฤษของโจทก์ ย่อมเกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดว่าโจทก์คือจำเลย หรือจำเลยคือโจทก์ได้ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใช้ชื่อภาษาไทยว่า บริษัทอุตสาหกรรมแอคมิจำกัด ส่วนจำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใช้ชื่อภาษาไทยว่าบริษัทเอ็กมี่ อินดัสทรี จำกัด ซึ่งแตกต่างกันทั้งคำอ่านและตัวสะกดนั้น เห็นว่า สาระสำคัญของชื่อโจทก์และจำเลยที่ใช้เรียกขานอยู่ที่คำว่า แอคมิหรือเอ็กมี่ ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษคำเดียวกันคือ ACME แม้จะเขียนเป็นภาษาไทยแตกต่างกัน แต่ก็อ่านออกเสียงคล้ายกันมากส่วนคำว่า อุตสาหกรรมและอินดัสทรี ก็เป็นคำคำเดียวกันเพียงแต่ของจำเลยเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษเท่านั้น ชื่อของจำเลยจึงพ้องหรือคล้ายกับชื่อของโจทก์แล้ว ที่จำเลยอ้างว่า โจทก์กับจำเลยประกอบธุรกิจต่างกันและมีลูกค้าคนละกลุ่มกันนั้นเห็นว่า ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นคนละเรื่องกัน เพราะการที่จะพิจารณาว่าชื่อโจทก์กับจำเลยพ้องหรือคล้ายกันหรือไม่ ต้องพิจารณาจากตัวอักษรที่เขียนชื่อว่า คล้ายกันหรือเหมือนกันหรือไม่ และการอ่านออกเสียงพ้องกันหรือคล้ายกันหรือไม่ การประกอบธุรกิจต่างกันหรือมีลูกค้าคนละกลุ่มกันไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาพิจารณาว่าชื่อโจทก์กับจำเลยพ้องหรือคล้ายกันหรือไม่ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยจดทะเบียนชื่อของจำเลยโดยสุจริตจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า แม้ขณะที่จำเลยขอจดทะเบียนชื่อของจำเลย จำเลยอาจจะกระทำโดยสุจริต ซึ่งอาจจะไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครมีหนังสือแจ้งให้จำเลยเปลี่ยนชื่อใหม่เพราะชื่อซ้ำกับชื่อของโจทก์และทนายความที่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยเปลี่ยนชื่อรองประธานกรรมการ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยก็ได้มีหนังสือถึงนายประพันธ์แจ้งให้ทราบว่าจำเลยจะเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เสร็จภายในวันที่ 26 เมษายน 2532 แสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้แล้วว่าชื่อจำเลยพ้องหรือคล้ายกับชื่อโจทก์ แต่จำเลยก็เพิกเฉยหาได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อไม่ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม2532 หลังจากวันที่จำเลยรับรองว่าจะเปลี่ยนชื่อเกือบ 6 เดือนเช่นนี้ ย่อมฟังได้ว่าขณะที่โจทก์ฟ้องคดี จำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยนำชื่อที่ซ้ำหรือคล้ายกับของโจทก์มาใช้โดยมิชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์นำสืบไม่ได้แน่ชัดว่าการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร เป็นจำนวนเท่าใดนั้นในเรื่องนี้จำเลยไม่ได้ให้การสู้คดีไว้ว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย จึงต้องถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจริงดังนั้น แม้โจทก์จะนำสืบไม่ได้ชัดแจ้งว่าโจทก์ได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด แต่เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยดังกล่าวแล้ว ก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควรได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ของจำเลยดังที่กล่าวข้างต้นแล้วก็เห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์มานั้นเหมาะสมแล้ว
พิพากษายืน

Share