คำวินิจฉัยที่ 16/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๖/๒๕๕๓

วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลจังหวัดพัทลุง
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา

ศาลจังหวัดพัทลุงส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๑ นายบำรุง จันทร์แก้ว โจทก์ ยื่นฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด พัทลุงศุภนันท์วัสดุก่อสร้าง ที่ ๑ เทศบาลตำบลมะกอกเหนือ ที่ ๒ นางมยุรี หนูแก้ว ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดพัทลุง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๗๓๗/๒๕๕๑ ความว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ ๓ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเลขที่ ๓/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๐ รับจ้างเหมาก่อสร้างตลาดสดเทศบาลตำบลมะกอกเหนือกับจำเลยที่ ๒ ผู้ว่าจ้าง ตกลงค่าจ้างเป็นเงินจำนวน ๑๖,๒๓๐,๐๐๐ บาท กำหนดชำระเงินจำนวน ๘ งวด เมื่อประมาณเดือนตุลาคม ๒๕๕๐ จำเลยที่ ๑ ตกลงว่าจ้างให้โจทก์จัดหาวัสดุอุปกรณ์และประกอบติดตั้งโครงหลังคาในโครงการก่อสร้างตลาดสดเทศบาลดังกล่าว เป็นจำนวนเงิน ๑,๒๕๖,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ชำระเงินค่าจ้างบางส่วนให้โจทก์แล้วเป็นเงิน ๕๖,๐๐๐ บาท โจทก์จัดหาวัสดุอุปกรณ์และประกอบติดตั้งโครงหลังคาเหล็ก แล้วเสร็จตามสัญญา ต่อมาเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างก่อสร้างตลาดสดเทศบาลที่จำเลยที่ ๑ มีต่อจำเลยที่ ๒ ให้แก่โจทก์ในงวดที่ ๔ และ ๕ เป็นเงินงวดละ ๖๓๓,๕๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑,๒๖๗,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๑ ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่กับจำเลยที่ ๒ อีกจำนวน ๓,๒๔๖,๐๐๐ บาท ตามสัญญาจ้างก่อสร้างตลาดสดเทศบาลให้แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ ๓ ในฐานะส่วนตัวเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ ๑ ทำหนังสือบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๒ ทราบแล้ว โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้รับหนังสือทวงถามแล้ว แต่เพิกเฉยไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ชดใช้หนี้ให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ จำนวน ๑,๒๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในวงเงิน ๑,๒๖๗,๐๐๐ บาท ที่จำเลยที่ ๑ มีต่อจำเลยที่ ๒ ในการเบิกเงินค่าจ้างงวดงานที่ ๔ และที่ ๕ ให้กับโจทก์ แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่จำเลยที่ ๑ ว่าจ้างให้โจทก์ทำแทนให้แล้วเสร็จตามข้อตกลง เป็นเหตุให้งานก่อสร้างอาคารตลาดสดล่าช้า ทำให้จำเลยไม่สามารถส่งมอบงานและเบิกเงินค่างวดงานในงวดที่ ๔ และที่ ๕ จากจำเลยที่ ๒ ได้ โจทก์ได้ทิ้งงานทำให้จำเลยที่ ๑ ถูกจำเลยที่ ๒ ปรับ จำเลยที่ ๑ มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไปยังจำเลยที่ ๒ แล้ว จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ไม่เคยขอผัดผ่อนการชำระเงินกับโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ไม่เคยได้รับหนังสือส่งมอบงานจากโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเนื่องจากสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ นั้น แม้จะได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องแล้ว แต่จำเลยที่ ๑ ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๒ ทราบว่าได้มีการบอกเลิกสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องฉบับลงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๑ และฉบับลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๑ แล้ว และโจทก์ไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ ๒ ตามสัญญาจ้างก่อสร้างตลาดสดเทศบาล จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๒ มิได้ให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้อง และจำเลยที่ ๒ มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าปรับกรณีจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งจะต้องชำระค่าปรับให้แก่จำเลยที่ ๒ ตามสัญญา หากโจทก์มีอำนาจเรียกร้องเอาเงินค่าจ้างก่อสร้างจากจำเลยที่ ๒ โจทก์ก็อาจเรียกร้องเอาเงินค่าจ้างก่อสร้างได้เพียงไม่เกินจำนวนเงินค่าจ้างก่อสร้างส่วนที่เหลือหลังจากได้หักกลบลบกับเงินค่าปรับแล้วตามมาตรา ๓๐๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดพัทลุงพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองในคดีนี้เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ฉบับลงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๑ ระหว่างจำเลยที่ ๑ ผู้โอนกับโจทก์ผู้รับโอน โดยที่สัญญาดังกล่าวสืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างทำของระหว่างจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ว่าจ้างกับโจทก์ในฐานะผู้รับจ้างให้ทำการติดตั้งโครงหลังคาตลาดสดเทศบาลตำบลมะกอกเหนือซึ่งสัญญาทั้งสองฉบับเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างเอกชนกับเอกชนโดยมุ่งผูกพันด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกัน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ หรือที่ ๓ ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจหรือกระทำการแทนจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏว่าสัญญาที่โจทก์และ จำเลยที่ ๑ ได้จัดทำขึ้นนั้นเข้าลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าสัญญาดังกล่าวนี้ก่อตั้งนิติสัมพันธ์ในทางกฎหมายปกครอง อันจะทำให้ศาลที่รับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต้องนำหลักเกณฑ์ในทางกฎหมายปกครองมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ของสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้ว เห็นว่า คู่สัญญาได้ทำสัญญาดังกล่าวขึ้นเพื่อมุ่งประโยชน์ในการให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างทำการงานจากจำเลยที่ ๑ มีสิทธิรับเงินค่าจ้างจากจำเลยที่ ๒ โดยตรงตามมูลค่าของงานงวดที่ ๔ และที่ ๕ ซึ่งโจทก์รับจ้างจากจำเลยที่ ๑ เท่านั้น สัญญาระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์จึงเป็นสัญญาทางแพ่ง แม้ว่าสัญญาจ้างก่อสร้างตลาดสดเทศบาล ตามสัญญาเลขที่ ๓/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๐ ระหว่างจำเลยที่ ๒ กับที่ ๑ นั้น จะมีลักษณะเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองมอบให้เอกชนดำเนินการจัดสร้างถาวรวัตถุเพื่อใช้ในกิจการบริการสาธารณะอันอาจทำให้พิจารณาได้ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครองตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยที่ ๑ ผิดนัดไม่ชำระเงินค่าจ้างให้โจทก์ตามสัญญา ซึ่งเกิดจากการตกลงกันโดยปกติธรรมดาระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน กรณีจึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งเท่านั้น ดังนั้น คดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทในทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๒ เป็นราชการส่วนท้องถิ่นตามมาตรา ๗๐ (๒) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งสัญญาเลขที่ ๓/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๐ ที่จำเลยที่ ๒ ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๑ ก่อสร้างตลาดสดเทศบาลตำบลมะกอกเหนือ เป็นกรณีที่จำเลยที่ ๒ ได้จัดให้มีตลาดสดของเทศบาลซึ่งเป็นกิจการอย่างหนึ่งที่จำเลยที่ ๒ มีอำนาจกระทำตามมาตรา ๕๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ดังนั้นการจัดให้มีตลาดจึงเป็นการจัดทำบริการสาธารณะอย่างหนึ่งของจำเลยที่ ๒ การที่จำเลยที่ ๒ ได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ก่อสร้างตลาดจึงเป็นการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างในงานงวดที่ ๔ และที่ ๕ ของจำเลยที่ ๑ ในสัญญาจ้างดังกล่าว ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามเพื่อขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสามไม่ชำระเงินตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ให้การว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ไม่จำต้องจ่ายเงินแก่โจทก์ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเนื่องจากโจทก์ทำงานก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามที่จำเลยที่ ๑ ได้ว่าจ้างให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการประกอบเหล็ก ติดตั้งเหล็กประกอบโครงหลังคา โครงกันสาด โครงผนังระบายลมกับงานฝาปิดคูน้ำและบ่อพักตลาดสดเทศบาลดังกล่าว และจำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่จำต้องจ่ายเงินแก่โจทก์ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเช่นกัน เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องจำเลยที่ ๒ แล้ว และจำเลยที่ ๒ มิได้ให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม แม้โจทก์จะมีอำนาจเรียกร้องเอาค่าจ้างก่อสร้างจากจำเลยที่ ๒ โจทก์ก็อาจเรียกเอาเงินค่าจ้างก่อสร้างได้เพียงไม่เกินจำนวนเงินค่าจ้างก่อสร้างที่เหลือหลังจากได้หักกลบลบกับเงินค่าปรับ กรณีที่จำเลยที่ ๑ ส่งมอบงานล่าช้า หรือไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเท่านั้น ดังนั้น คดีนี้แม้มูลคดีจะเป็นคดีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยทั้งสาม ทั้งเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ข้อพิพาทโดยตรงจากข้อสัญญาจ้างก่อสร้างตลาดสดเทศบาล ตามสัญญาเลขที่ ๓/๒๕๕๐ แต่ข้ออ้างของโจทก์ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องจากสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ จากการที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นคู่สัญญาจ้างก่อสร้างตลาดสดเทศบาลดังกล่าว การที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระเงินค่าจ้างทำงานตามสัญญาให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามสัญญาอันเกี่ยวเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้างตลาดสดเทศบาล เมื่อสัญญาจ้างก่อสร้างตลาดสดเทศบาลดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครอง คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ส่วนคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ แม้จะเป็นกรณีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันก็ตาม แต่เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องอันเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ ตามสัญญาก่อสร้างตลาดสดเทศบาล ดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น และการที่ศาลจะพิจารณาว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ต้องร่วมกับ จำเลยที่ ๒ ชำระเงินให้แก่โจทก์ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องหรือไม่ เพียงใด ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าจำเลยที่ ๒ ต้องจ่ายค่าจ้างในงานงวดที่ ๔ และที่ ๕ ตามสัญญาจ้างดังกล่าวแก่จำเลยที่ ๑ หรือไม่ เพียงใดก่อน จึงเป็นกรณีที่มีมูลความแห่งคดีเดียวกันกับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ กรณีจึงชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกันเพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๒ เป็นราชส่วนท้องถิ่น จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เกิดจากจำเลยที่ ๑ ผู้รับจ้างก่อสร้างตลาดสดเทศบาลจากจำเลยที่ ๒ ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ติดตั้งโครงหลังคาตลาดสดเทศบาลและทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างก่อสร้างตลาดสดงวดที่ ๔ และ ๕ ให้แก่โจทก์ มีจำเลยที่ ๓ หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์ก่อสร้างแล้วเสร็จ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพิกเฉยไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ แม้ว่าสัญญาจ้างก่อสร้างตลาดเทศบาลจะเป็นสัญญาทางปกครอง แต่ประเด็นแห่งคดีเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาที่จำเลยที่ ๑ ว่าจ้างโจทก์ติดตั้งโครงหลังคาตลาดสดเทศบาลแล้วจำเลยที่ ๑โอนสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่ต่อ จำเลยที่ ๒ ให้แก่โจทก์ รวมทั้งสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ ๓ ทำไว้ต่อโจทก์หาใช่เป็นข้อพิพาทโดยตรงตามสัญญาจ้างก่อสร้างตลาดสดเทศบาลระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๑ ไม่ กรณีจึงต้องพิจารณาว่าสัญญาจ้างติดตั้งโครงหลังคาตลาดสดเทศบาลและการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันบัญญัติให้สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลผู้กระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แต่สัญญาว่าจ้างติดตั้งโครงหลังคาตลาดสดและการโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างก่อสร้างตลาดสดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชนที่มุ่งประสงค์ให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างทำการงานจากจำเลยที่ ๑ มีสิทธิเพียงรับเงินค่าจ้างตามมูลค่าของงานงวดที่ ๔ และที่ ๕ จากจำเลยที่ ๒ โดยตรง อันมีลักษณะมุ่งผูกพันตนด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค และไม่มีลักษณะเป็นการให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคแต่อย่างใด จึงเป็นสัญญาทางแพ่งทั่วไป มิใช่ข้อพิพาทตามสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม และข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ซึ่งก็เป็นสัญญาอุปกรณ์ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายบำรุง จันทร์แก้ว โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พัทลุงศุภนันท์วัสดุก่อสร้าง ที่ ๑ เทศบาลตำบลมะกอกเหนือ ที่ ๒ นางมยุรี หนูแก้ว ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ติดราชการ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share