คำวินิจฉัยที่ 13/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓/๒๕๕๓

วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๓

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดรัตนบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดรัตนบุรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ นางสาลี บุญรัมย์ ที่ ๑ นางทองมี เรือนน้อย ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมธนารักษ์ จำเลย ต่อศาลจังหวัดรัตนบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๓๖๒/๒๕๕๑ ความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ครอบครองร่วมกันในที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๘ ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ เนื้อที่ ๒ ไร่ ๑ งาน โดยซื้อมาจากนายมี สร้อยจิต เมื่อปี ๒๕๐๐ และครอบครองอย่างเป็นเจ้าของและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อปี ๒๕๔๔ ทางราชการประกาศให้ผู้มี ส.ค. ๑ ในเขตพื้นที่ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี ยื่นเรื่องเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน โจทก์ทั้งสองจึงนำ ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๘ ไปขอออกโฉนดที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์ สาขาชุมพลบุรี โดยขอแบ่งแยกที่ดินเป็นสองโฉนด เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๔ และวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๔ เจ้าหน้าที่ที่ดินสำรวจรังวัดที่ดินและทำบันทึก เขียนเส้นรูปแบ่งเขตที่ดินแล้ว แต่กำนันคัดค้านการออกโฉนดที่ดินโดยอ้างว่าเป็นที่ดินของแปลงเกษตรโรงเรียนบ้านกระเบื้องซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ ต่อมาคณะกรรมการซึ่งสำนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์แต่งตั้งวินิจฉัยว่า ที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๘ ที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าเป็นเจ้าของได้มีการนำไปออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๗๔๗๖ ถึง ๑๗๔๗๙ ให้แก่ผู้มีชื่อตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ทั้งที่โฉนดที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวมีสภาพพื้นที่ไม่ตรงกับ ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๘ ของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนแล้ว หลังจากนั้นจำเลยได้นำที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๓๔๑ ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของธนารักษ์จังหวัดสุรินทร์ หน่วยงานในสังกัดจำเลย และอยู่ติดกับที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๘ ของโจทก์ทั้งสองไปดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ต่อกรมที่ดิน เป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ๐๓๕๔๕ ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ เนื้อที่ ๕ ไร่ ๖๓ ตารางวา ซึ่งเป็นการออกทับที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๘ ของโจทก์ทั้งสองทั้งแปลง ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเห็นว่า ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๘ ของโจทก์ทั้งสองได้มีการนำไปออกโฉนดที่ดินแล้ว โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิในที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๘ ที่จะนำมาคัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของจำเลย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ๐๓๕๔๕ เฉพาะส่วนที่ทับที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๘ ของโจทก์ทั้งสอง
ก่อนยื่นคำให้การ จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยซึ่งมีฐานะเป็นกรมในรัฐบาลและเป็นหน่วยงานทางปกครองว่า กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามอำนาจหน้าที่ด้วยการขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ของโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง คดีนี้เป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง และจำเลยมีอำนาจหน้าที่เพียงดำเนินการขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงต่อกรมที่ดินเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ทั้งโจทก์ทั้งสองฟ้องโดยอ้างสิทธิครอบครองที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๘ ซึ่งสิ้นสภาพไปแล้ว จึงไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายในที่ดิน ส.ค. ๑ ดังกล่าวอีกต่อไป โจทก์ทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย นอกจากนี้การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ๐๓๕๔๕ ได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ และไม่ทับที่ดินของผู้ใด โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจึงไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินตาม ส.ค. ๑ ขึ้นยันรัฐ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลจังหวัดรัตนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากจำเลยขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและกรมที่ดินมีคำสั่งทางปกครองในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ ๐๓๕๔๕ ซึ่งโจทก์ทั้งสองอ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงฉบับดังกล่าวตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้หรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทนั้นโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ราชพัสดุตามที่จำเลยให้การต่อสู้เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อพิพาทตามคำฟ้องเป็นข้อพิพาท อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับคำขอของผู้ฟ้องคดีเป็นคำขอที่ศาลปกครองสามารถกำหนดคำบังคับให้ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจที่ศาลปกครองจะพิจารณาพิพากษาได้ และเมื่อคดีนี้จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ปกครองดูแลและบำรุงรักษาที่ราชพัสดุ ตามกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๕ ประกอบกับพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยมีธนารักษ์พื้นที่จังหวัดสุรินทร์ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดจำเลย ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติแทนจำเลยในจังหวัดสุรินทร์ การที่จำเลยได้นำที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๓๔๑ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของธนารักษ์พื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และอยู่ติดกับที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๘ ของโจทก์ทั้งสองมาดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงต่อกรมที่ดิน เป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ ๐๓๕๔๕ เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติ และจำเลยไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้าของหรือผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับความมีอยู่หรือสถานะของที่ราชพัสดุ ซึ่งมิใช่คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด แม้ในชั้นทำคำให้การจำเลยจะให้การต่อสู้คดีว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ ก็เป็นเรื่องภายหลังจากที่ยื่นฟ้องแล้ว การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลใดต้องพิจารณาจากคำฟ้องและคำขอเป็นหลัก มิใช่พิจารณาเมื่อมีคำให้การของจำเลยแล้ว มิฉะนั้นจะทำให้คดีที่มีการฟ้องต่อศาลทุกคดี ศาลจะรับฟ้องไว้พิจารณาไม่ได้จนกว่าจะฟังคำให้การของจำเลยก่อน ซึ่งไม่น่าจะต้องด้วยเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้วแต่กรณี ทั้งก็ไม่มีกฎหมายใดกำหนดไว้ว่าในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกี่ยวกับที่ดินหรือเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดิน และจำเลยหรือผู้ถูกฟ้องคดี แล้วแต่กรณี ได้ให้การโดยยกเรื่องสิทธิในที่ดินขึ้นต่อสู้แล้วให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ดังนั้น จึงเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อ้างว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ครอบครองร่วมกันในที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๘ โดยซื้อมาเมื่อปี ๒๕๐๐ และครอบครองอย่างเป็นเจ้าของและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเรื่อยมา ในปี ๒๕๔๔ โจทก์ทั้งสองนำ ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๘ ไปขอออกโฉนดที่ดิน แต่กำนันคัดค้านว่าเป็นที่ราชพัสดุ และต่อมามีการวินิจฉัยว่า ที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๘ ที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าเป็นเจ้าของได้มีการนำไปออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๗๔๗๖ ถึง ๑๗๔๗๙ ให้แก่ผู้มีชื่อตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนแล้ว หลังจากนั้นจำเลยนำที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๓๔๑ ซึ่งอยู่ติดกับที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๘ ของโจทก์ทั้งสองไปออกเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ๐๓๕๔๕ ซึ่งเป็นการออกทับที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๘ ของโจทก์ทั้งสองทั้งแปลง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ๐๓๕๔๕ เฉพาะส่วนที่ทับที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๘ ของโจทก์ทั้งสอง ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องโดยอ้างสิทธิครอบครองที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๘ ซึ่งสิ้นสภาพไปแล้ว การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ๐๓๕๔๕ ได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ และไม่ทับที่ดินของผู้ใด โจทก์ไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินตาม ส.ค. ๑ ขึ้นยันรัฐ ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาตามที่โจทก์ทั้งสองมีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ราชพัสดุเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสาลี บุญรัมย์ ที่ ๑ นางทองมี เรือนน้อย ที่ ๒ โจทก์ กรมธนารักษ์ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share