คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 644/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 เนื่องจากคำให้การของจำเลยที่ 1 ขัดกันเองจึงไม่มีประเด็นที่จะสืบ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นชี้สองสถานและกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่และให้จำเลยที่ 1 มีสิทธินำสืบแก้ คดีของโจทก์ได้ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1แล้ว จึงมีสิทธิยกประเด็นนี้ขึ้นอุทธรณ์ฎีกาได้ จำเลยที่ 1 ให้การในตอนแรกว่า จำเลยที่ 1 ได้มอบเช็คให้จำเลยที่ 2 นำไปมอบแก่โจทก์เป็นประกันโดยจะไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน และแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องภายหลังว่าเช็คที่โจทก์นำมาฟ้องมิใช่เช็คที่จำเลยที่ 1 มอบให้จำเลยที่ 2 นำไปประกันต่อโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 1 เช่นนี้เป็นการไม่แน่ชัด ว่าเช็คตามที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกและมอบให้ไว้แก่จำเลยที่ 2 ใช่หรือไม่ จึงเป็นคำให้การที่ขัดกันเอง ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1ปฏิเสธฟ้องของโจทก์ จึงไม่มีประเด็นในคดีจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะสืบ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นลูกค้าธนาคารโจทก์เมื่อวันที่30 กรกฎาคม 2525 จำเลยที่ 1 โดยนายสุชัย ไชยเมืองราชหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้ออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางละมุงลงวันที่ 1 กันยายน 2525 สั่งจ่ายเงินจำนวน 600,000 บาท มอบให้จำเลยที่ 2 โดยนายกมล ศรีพฤกษมาส หุ้นส่วนผู้จัดการไปขายลดเช็คให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ได้รับเงินไปครบถ้วนแล้ว และให้สัญญากับโจทก์ว่าหากโจทก์ไม่ได้รับเงินตามเช็ค จำเลยที่ 2 ยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน คำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน102,797.27 บาท ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 702,797.27 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ถูกนายโกศลโพธิสุวรรณชาติ ผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาบางละมุงใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 ออกเช็คให้จำเลยที่ 2 นำไปแสดงเครดิตแก่โจทก์ในการที่จำเลยที่ 2 กำลังติดต่อขายลดใบสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศกับโจทก์ โดยนายโกศลหลอกว่าจะยึดเช็คไว้เป็นหลักประกันจะไม่นำไปขึ้นเงิน ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ขายใบสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศให้โจทก์ไม่สำเร็จ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามเช็ค และเช็คที่จำเลยที่ 1 ออกให้ดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ฉบับที่โจทก์นำมาฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาขายลดเช็คกับโจทก์ เพียงแต่จำเลยที่ 2 ให้ติดต่อกับนายโกศลเพื่อขายลดใบสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศให้โจทก์ นายโกศลได้แนะนำว่าให้ไปหาเช็คของบุคคลภายนอกให้นายโกศลยึดถือไว้ จำเลยที่ 2 จึงนำเช็คของจำเลยที่ 1ไปให้นายโกศลยึดถือไว้ นายโกศลให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อไว้ในแบบพิมพ์ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความอีกด้วย ในที่สุดนายโกศลไม่สามารถดำเนินการเรื่องขายลดใบสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้สำเร็จ จำเลยที่ 2ไม่เคยรับเงินจากโจทก์ สัญญาขายลดเช็คท้ายฟ้องเป็นเท็จ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน600,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย โดยให้จำเลยที่ 1 รับผิดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 1กันยายน 2525 เป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 2 รับผิดในอัตราร้อยละ19 ต่อปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2527ระบุในคำร้องว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขัดแย้งกันเอง ขอให้ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานและกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่และให้จำเลยที่ 1 มีสิทธินำสืบแก้คดีของโจทก์ได้เป็นการโต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 ไว้แล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นได้นั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 เนื่องจากคำให้การของจำเลยที่ 1 ไม่มีประเด็นที่จะให้นำสืบ โดยสั่งเมื่อวันที่ 1พฤศจิกายน 2526 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2527ของให้ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานและกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ให้จำเลยที่ 1 มีสิทธินำสืบแก้ ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานแล้ว จำเลยทั้งสองชอบที่จะยกประเด็นดังกล่าวนี้ขึ้นอุทธรณ์ฎีกาได้ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คำให้การของจำเลยไม่ขัดแจ้งกันนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1ให้การในตอนแรกว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบเช็คให้แก่จำเลยที่ 2 นำไปมอบแก่โจทก์ไว้เป็นประกันโดยจะไม่มีการนำเช็คไปเรียกเก็บเงินให้การในตอนหลังซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมว่าเช็คที่โจทก์นำมาฟ้องไม่ใช่เช็คที่จำเลยที่ 1 มอบให้แก่จำเลยที่ 2 นำไปเป็นประกันต่อโจทก์เป็นการไม่แน่ชัดว่าเช็คตามที่โจทก์นำมาฟ้อง เป็นเช็คซึ่งจำเลยที่ 1เป็นผู้ออกและมอบให้ไว้แก่จำเลยที่ 2 ใช้หรือไม่ ดังนี้เป็นคำให้การที่ขัดกันเอง เป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1ยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิเสธฟ้องของโจทก์ จึงไม่เป็นประเด็นในคดี จำเลยที่ 1ไม่มีสิทธิจะนำสืบ ที่ศาลชั้นต้นไม่ให้จำเลยนำสืบจึงชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share