คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13509/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ว่า หนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นเอกสารปลอมอันถือได้ว่าจำเลยทั้งสามคัดค้านการนำเอกสารมาสืบโดยเหตุที่ว่าต้นฉบับปลอมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคสอง แต่โจทก์นำต้นฉบับเอกสารมาแสดงต่อศาลในวันสืบพยานและอ้างส่งสำเนาต่อศาลแทนต้นฉบับเอกสาร ซึ่งก่อนจะส่งสำเนาโจทก์ให้โอกาสจำเลยทั้งสามตรวจดูแล้ว จำเลยทั้งสามมิได้คัดค้านว่าสำเนาเอกสารไม่ถูกต้องตรงกับต้นฉบับ ประกอบกับต้นฉบับเอกสารโจทก์ต้องใช้เป็นประจำ การที่ศาลชั้นต้นรับสำเนาเอกสารไว้แทนต้นฉบับ เท่ากับอนุญาตให้รับคืนต้นฉบับเอกสารและส่งสำเนาเอกสารไว้แทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ทวิ จึงรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 3,602,193.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,157,880 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,602,193.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,157,880 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวม มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของโจทก์เมื่อปี 2540 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ยืมของจำเลยที่ 1 ถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งปิดกิจการ ตกอยู่ใต้การกำกับดูแลขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ต่อมาองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินนำสินทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ออกขายทอดตลาด และโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเพื่อเรียกเงินกู้ยืมไปจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เป็นคดีนี้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า สำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงรับฟังเป็นพยานว่า โจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนจริง เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ว่า หนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมอันถือได้ว่าจำเลยทั้งสามคัดค้านการนำเอกสารนั้นมาสืบโดยเหตุที่ว่าต้นฉบับนั้นปลอมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 วรรคสอง แล้ว แต่โจทก์ก็ได้นำต้นฉบับเอกสารนั้นมาแสดงต่อศาลในวันสืบพยาน ส่วนสำเนาพยานเอกสารดังกล่าว โจทก์อ้างส่งต่อศาลแทนตัวฉบับเอกสารที่ยื่นต่อศาลในระหว่างนายอรรถพล พยานโจทก์เบิกความถึงการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ซึ่งก่อนจะส่งสำเนาโจทก์ให้โอกาสจำเลยทั้งสามตรวจดูแล้ว และจำเลยทั้งสามมิได้คัดค้านว่าสำเนาเอกสารไม่ถูกต้องตรงกับต้นฉบับ ประกอบกับได้ความจากนายอรรถพลว่า เนื่องจากโจทก์รับซื้อสินทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) สินทรัพย์ดังกล่าวมีลูกหนี้ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) อยู่จำนวนมากที่โจทก์จะต้องฟ้องร้อง โจทก์ย่อมจำเป็นต้องใช้ต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงไปใช้เป็นพยานหลักฐาน จึงถือได้ว่าต้นฉบับเอกสารโจทก์ต้องใช้เป็นประจำ การที่ศาลชั้นต้นรับสำเนาเอกสารไว้แทนต้นฉบับ เท่ากับศาลชั้นต้นอนุญาตให้รับคืนต้นฉบับเอกสารและให้โจทก์ยื่นส่งสำเนาเอกสารไว้แทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 ทวิ ดังนี้ศาลย่อมรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานหลักฐานได้ และเห็นว่าหนังสือมอบอำนาจระบุให้มีอำนาจฟ้องคดี ไม่ได้ระบุบุคคลที่จะถูกฟ้องไว้ ทั้งไม่ได้จำกัดเวลาการฟ้อง จึงเป็นการมอบอำนาจทั่วไป รวมถึงมอบอำนาจให้ยื่นฟ้องต่อศาล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 (5) ผู้รับมอบสามารถกระทำฟ้องได้มากกว่าครั้งเดียวโดยโจทก์สามารถใช้หนังสือมอบอำนาจฟ้องลูกหนี้ของโจทก์ได้ทุกคดีโดยไม่จำกัดจำนวนคดีและตัวบุคคล และหนังสือมอบอำนาจเช่นนี้ไม่จำต้องระบุตัวบุคคลผู้จะถูกฟ้องไว้ตามที่จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ จึงฟังว่าการมอบอำนาจให้ฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย ที่จำเลยต่อสู้ว่าลายมือชื่อผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจก็ไม่มีตัวตน เห็นว่า โจทก์มีนายอรรถพลเบิกความถึงการมอบอำนาจประกอบหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจ กับหนังสือรับรองของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด และของบริษัทรีเทลรีคอฟเวอรี่ แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งจำเลยทั้งสามไม่นำสืบหักล้างว่าไม่ถูกต้องความจริง ได้ความว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด โดยนางวิวรรณและนายสุริพล กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนมอบอำนาจให้บริษัทรีเทลรีคอฟเวอรี่ แมเนจเม้นท์ จำกัด ฟ้องคดีแทนรวมทั้งให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วง และบริษัทรีเทลรีคอฟเวอรี่ แมเนจเม้น จำกัด โดยนายวัชรินทร์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนมอบอำนาจช่วงแก่นายวิชิต และนายวิชิตมอบอำนาจช่วงต่อแก่นายเสริมศักดิ์หรือนายพงพันธ์ และนายพงพันธ์ได้ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ เห็นว่า เฉพาะนางวิวรรณ นายสุริพลและนายวัชรินทร์ล้วนมีชื่ออยู่ในหนังสือรับรองซึ่งเป็นหนังสือที่เจ้าพนักงานทำขึ้นใช้ในราชการ มีการตรวจสอบบุคคลผู้มีรายชื่อเป็นกรรมการกันมาแล้ว แสดงว่ามีตัวตนอยู่จริง จึงน่าเชื่อตามพยานเอกสารที่โจทก์นำมาสืบ แสดงว่าได้มีการมอบอำนาจกันดังที่นายอรรถพลเบิกความ แม้นายอรรถพลจะมิรู้เห็นขณะทำพยานเอกสารแต่ก็มีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานจำเลยที่มีแต่คำเบิกความของพยานจำเลยลอย ๆ และเห็นว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการแทนโจทก์ซึ่งเป็นกองทุนรวม จึงมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 124 วรรคสอง ย่อมมีอำนาจฟ้อง สรุปแล้วคดีฟังได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากคดียังมีประเด็นข้อพิพาทอีกหลายประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย เพื่อให้การวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเป็นไปตามลำดับชั้นศาล สมควรให้ย้อนสำนวนไปศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นพิพาทดังกล่าว เมื่อผลของคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นเช่นนี้ ฎีกาของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันมิอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่จำเลยทั้งสาม
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนนี้เกิน 200 บาท แก่จำเลยทั้งสาม

Share