คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6425/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยความสูญหายหรือเสียหายของสินค้าเคมีภัณฑ์ของแข็งไวไฟประเภทถ่านผงสีดำซึ่งผู้เอาประกันสั่งซื้อจากประเทศสหรัฐอเมริกา สินค้าดังกล่าวขนส่งมาถึงประเทศไทยการท่าเรือแห่งประเทศไทยจำเลยที่3ซึ่งเป็นผู้รับฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จค่าฝากได้รับฝากสินค้าดังกล่าวไว้โดยนำไปเก็บรักษาไว้ในคลังสินค้าอันตรายของจำเลยที่3บริเวณท่าเรือกรุงเทพต่อมาเกิดเหตุเพลิงไหม้คลังสินค้าอันตรายของจำเลยที่3ทำให้สินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วจึงรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องคดีนี้ได้ สถานที่ที่จำเลยที่3นำสินค้าเคมีภัณฑ์ซึ่งเป็นสารเคมีประเภทของแข็งไวไฟไปเก็บรักษาไว้ได้แก่คลังสินค้าอันตรายนั้นมีการจัดเก็บสารเคมีอื่นที่อาจทำปฏิกริยากับสินค้าดังกล่าวรวมอยู่ด้วยและสถานที่ที่จัดเก็บมีระบบการป้องกันและระงับอัคคีภัยที่ไม่มีประสิทธิภาพดีเพียงพอดังนั้นเมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นซึ่งมีสาเหตุมาจากการกระทำปฏิกริยาทางเคมีของสารเคมีที่เก็บไว้รวมกันแล้วลุกลามไหม้สินค้าพิพาทเสียหายจึงถือได้ว่าจำเลยที่3มิได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินที่รับฝากเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา659วรรคสองบัญญัติไว้จำเลยที่3จึงต้องรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันประกอบธุรกิจรับจ้างขนส่งสินค้าทางทะเล โจทก์รับประกันภัยสินค้าประเภทผงถ่านสีดำจากบริษัทแคปปิตอล เคมีคอล จำกัด ซึ่งขนส่งมาโดยเรือ”บรัสเซล” ของจำเลยที่ 2 จากเมืองนิวออร์ลีนส์เดินทางมาถึงประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์แล้วทำการขนถ่ายสินค้าลงเรือ”มาฮา บัม” โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 2มายังกรุงเทพมหานคร เรือถึงท่าขนถ่ายสินค้าที่กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 และได้ขนถ่ายสินค้าเข้าฝากเก็บในโรงพักสินค้าของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจเพื่อเตรียมส่งมอบให้แก่บริษัทแคปปิตอล เคมีคอล จำกัด แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 ก่อให้เกิดเพลิงไหม้สินค้าได้รับความเสียหายเป็นเงิน 1,300,576.71 บาทบริษัทแคปปิตอลเคมีคอล จำกัด ได้เรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวไปยังจำเลยทั้งสามแต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ จึงได้เรียกร้องไปยังโจทก์ โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้แล้วจึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสาม โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน1,300,576.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า ความเสียหายเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ขนส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งแล้ว และเป็นเหตุสุดวิสัยมิได้เกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้กระทำประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ และได้ใช้ความระมัดระวังป้องกันและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงปฏิบัติแล้วจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 1,300,576 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยความสูญหายหรือเสียหายของสินค้าเคมีภัณฑ์ของแข็งไวไฟประเภทถ่านผงสีดำ ซึ่งผู้เอาประกันคือบริษัทแคปปิตอล เคมีคอล จำกัด สั่งซื้อจากประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสินค้าดังกล่าวขนส่งมาถึงประเทศไทยจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จค่าฝากได้รับฝากสินค้าดังกล่าวไว้ โดยนำไปเก็บรักษาไว้ในคลังสินค้าอันตรายของจำเลยที่ 3 บริเวณท่าเรือกรุงเทพ ในวันที่ 2 มีนาคม 2534เกิดเหตุเพลิงไหม้คลังสินค้าอันตรายของจำเลยที่ 3 ทำให้สินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 1,300,576 บาทโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เอาประกันไปแล้วจึงรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันมาฟ้องคดีนี้
สินค้าพิพาทรายนี้จำเลยที่ 3 ได้นำไปเก็บไว้ที่ด้านหลังของคลังสินค้าอันตรายหลังที่ 4 ซึ่งบริเวณดังกล่าวได้สร้างหลังคาต่อเติมจากอาคารหลังที่ 4 แต่ไม่มีผนัง คลังสินค้าอันตรายหลังที่ 3(อันเป็นต้นเพลิง) ห้องที่ 2 ไม่มีเครื่องเตือนไฟไหม้อัตโนมัติเครื่องดับเพลิงอัตโนมัตที่ติดตั้งอยู่ในคลังสินค้าอันตรายจนถึงวันเกิดเหตุนานประมาณ 19 ปี จำเลยที่ 3 ได้ทำการเปลี่ยนน้ำยาดับเพลิงทุก 5 ปี แต่ขณะเกิดเหตุอยู่ในระหว่างดำเนินการขอเปลี่ยนน้ำยาดับเพลิงและด้านข้างของคลังสินค้าอันตรายไม่มีท่อน้ำดับเพลิงเมื่อพิจารณาแผนที่ของคลังสินค้าอันตรายเอกสารหมาย ล.11ประกอบแล้ว คลังสินค้าหลังที่ 4 ที่สินค้าพิพาทถูกนำมาเก็บไว้เป็นคนละหลังกับคลังสินค้าอันตรายหลังที่ 3 แต่ปลูกอยู่ถัดจากกันโดยเว้นระยะห่างประมาณ 25 เมตร ต้นเพลิงมิได้เกิดตรงคลังสินค้าอันตรายหลังที่ 4 แต่เกิดจากคลังสินค้าอันตรายหลังที่ 3 ดังนั้นหากจำเลยที่ 3 มีระบบสัญญาณเตือนไฟไหม้อัตโนมัติ และเครื่องดับเพลิงเครื่องดับเพลิงอัตโนมัติ และเครื่องดับเพลิงประจำคลังสินค้าอันตรายแต่ละหลังที่ดีมีประสิทธิภาพแล้ว ก็อาจจะป้องกันและระงับเหตุไฟไหม้มิให้ลุกลามมาไหม้คลังสินค้าอันตรายหลังที่ 2และหลังที่ 4 ได้ อนึ่ง ตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุเพลิงไหม้เอกสารหมาย ล.38 ข้อ 2.4.2 ระบุว่า จากการตรวจคลังสินค้าอันตรายหลังที่ 3 พบว่าสารเคมีถ่านผงสีดำ(Carbon Black) ถูกนำมาเก็บรวมไว้กับสารเคมีประเภท 2แก๊สชนิดต่าง ๆ และประเภท 5 พวกวัสดุที่เกิดปฏิกริยาได้ ซึ่งที่ถูกควรจะถูกแยกเก็บไว้ในคลังสินค้าอันตรายหลังที่ 2 อันเป็นที่เก็บสารเคมีประเภท 4 พวกของแข็งไวไฟแสดงให้เห็นถึงการจัดเก็บที่ไม่ถูกต้อง และในข้อ 4 ระบุว่าพบถังดับเพลิงในคลังสินค้าอันตรายหลังที่ 2 ไม่สามารถใช้การได้และหมดอายุการใช้งาน ทั้งในบทสรุปของรายงานดังกล่าวก็ระบุว่าพนักงานจัดเก็บสินค้าเคมีของจำเลยที่ 3ไม่มีความรู้ทางด้านเคมีเพียงพอ และไม่ทราบว่าสารเคมีชนิดใดสามารถทำปฏิกริยากับสารเคมีอื่นได้ และพบอุปกรณ์ในการดับเพลิงที่ติดตั้งไว้ส่วนใหญ่ใช้งานไม่ได้ จากเหตุผลดังกล่าวข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า สถานที่ที่จำเลยที่ 3 นำสินค้าเคมีภัณฑ์ซึ่งเป็นสารเคมีประเภทของแข็งไวไฟไปเก็บรักษาไว้ได้แก่คลังสินค้าอันตรายนั้นมีการจัดเก็บสารเคมีอื่นที่อาจทำปฏิกริยากับสินค้าดังกล่าวรวมอยู่ด้วย และสถานที่ที่จัดเก็บมีระบบการป้องกันและระงับอัคคีภัยที่ไม่มีประสิทธิภาพดีเพียงพอ ดังนั้นเมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นซึ่งมีสาเหตุมาจากการกระทำปฏิกริยาทางเคมีของสารเคมีที่เก็บไว้รวมกันแล้วลุกลามไหม้สินค้าพิพาทเสียหาย จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 3มิได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินที่รับฝากเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ ดังนั้น ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659 วรรคสอง บัญญัติไว้จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษายืน

Share