แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยรับว่าเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถคันเกิดเหตุจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากรถที่รับประกันภัยไว้ไปก่อให้เกิดขึ้น ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย การที่จำเลยรับประกันภัยรถคันดังกล่าวจากผู้ใด เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทราบอยู่แล้ว แม้ฟ้องของโจทก์จะไม่ได้บรรยายว่าผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัย ก็ไม่ทำให้เป็นฟ้องเคลือบคลุม เมื่อจำเลยแพ้คดี จำเลยต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งศาลจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจกำหนดโดยคำนึงถึงเหตุผลสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดี ทั้งไม่เกี่ยวกับข้อจำกัดความรับผิดเรื่องค่าเสียหายตามวงเงินที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยของจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลและเป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุก 6 ล้อคันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุก 6 ล้อดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2526 นายไชโยได้ขับรถยนต์บรรทุก6 ล้อ ตามทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เข้าไปในเส้นทางเดินรถที่สวนมา เป็นเหตุให้รถคันดังกล่าวพุ่งเข้าชนรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ขับและโจทก์ที่ 2 นั่งมาด้วยโจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บและรถของโจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายจึงขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน63,000 บาท ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 258,600 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีสำหรับค่าเสียหายจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า นายไชโยมิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 รถยนต์บรรทุก 6 ล้อเป็นรถของผู้อื่นนำมารับจ้าง จำเลยที่ 1 ที่ 2 บรรทุกสิ่งของเป็นครั้งคราว โจทก์ที่ 1เป็นฝ่ายขับรถเข้าไปในเส้นทางเดินรถของรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ จึงเป็นเหตุให้รถเฉี่ยวชนกันหากมีความเสียหาย จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยต้องเป็นผู้รับผิด คำฟ้องเกี่ยวกับความเสียหายของโจทก์แต่ละคนเคลือบคลุม ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองหากจะมีอย่างมากก็ไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ โดยกำหนดจำนวนเงินเพื่อความรับผิดในการบาดเจ็บมรณะของบุคคลภายนอกไม่เกินคนละ25,000 บาท และเพื่อความเสียหายในทรัพย์ของบุคคลภายนอกไม่เกิน 100,000 บาท ต่อการเกิดเหตุครั้งหนึ่ง โจทก์ที่ 1 ประมาทเลินเล่อขับรถพุ่งเข้าชนรถยนต์บรรทุกคันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัย โจทก์ไม่เสียหายเป็นเงินดังฟ้อง โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ได้รับประกันรถยนต์บรรทุก 6 ล้อจากผู้ใดอันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์เกี่ยวแก่จำเลยที่ 3 จึงเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของนายไชโย แต่น่าจะเกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 1ประเด็นอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 1 ที่ 2จำนวน 1,500 บาท ให้จำเลยที่ 3 3,000 บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 23,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 210,000 บาท เฉพาะค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในวงเงิน 100,000 บาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี และค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 5,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยที่ 3รับประกันรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 9555 นครราชสีมา จากผู้ใด ในอันที่จะให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ 3ก็ยอมรับว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 9555นครราชสีมา ไว้ตามกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ ซี.พี.แอล.เอส.1 บี 30 – 4271 เมื่อจำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถคันดังกล่าวจึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากรถที่รับประกันภัยไว้ไปก่อให้เกิดขึ้น ตามที่ปรากฏในกรมธรรม์ประกันภัย การที่จำเลยที่ 3ซึ่งประกันรถคันดังกล่าวจากผู้ใดเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 3 ทราบอยู่แล้ว เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากรถที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัย ก็ย่อมเรียกให้จำเลยที่ 3ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้ การที่โจทก์ไม่ได้กล่าวถึงผู้เอาประกันภัยนั้นไม่ได้ทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า หากจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดแล้ว จำเลยที่ 3 ก็รับผิดจำกัดตามวงเงินที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนทั้งสองศาลและค่าธรรมเนียมในการฎีกา ซึ่งจะขัดต่อวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัยของจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารรณาความแพ่ง มาตรา 161 บัญญัติให้ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีย่อมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี ทั้งนี้ให้ศาลใช้ดุลพินิจในการกำหนดให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยคำนึงถึงเหตุผลสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีด้วย ทั้งไม่เกี่ยวกับข้อจำกัดความรับผิดเรื่องค่าเสียหายตามวงเงินที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อจำเลยที่ 3 แพ้คดีจึงต้องร่วมรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียม ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีและค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 5,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสองนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดให้เป็นเงิน 3,000 บาท