แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในวันเกิดเหตุ จำเลยกับพวกพาผู้เสียหายกับพวกไปสถานีตำรวจเพื่อเจรจากับตัวแทนของ จ.ในคดีที่ จ. ร้องทุกข์ว่าผู้เสียหายฉ้อโกง และทำบันทึกการจับกุมไว้ แต่จำเลยยังมิได้จับกุมผู้เสียหายส่งต่อพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีเพราะตัวแทนของ จ. มิได้ขอให้จับกุมเพียงแต่ขอให้จำเลยช่วยทวงเงินคืนจากผู้เสียหายเท่านั้นหลังจากนั้นได้พากันไปเจรจากันต่อที่ห้องพักของจำเลยที่แฟลตเจ้าพนักงานตำรวจ และผู้เสียหายได้ค้างคืนที่ห้องพักของจำเลยโดยสมัครใจ มิได้ถูกควบคุมตัว จึงถือไม่ได้ว่ามีการจับกุมผู้เสียหายในวันดังกล่าว แม้จะมีการทำบันทึกการจับกุมไว้แล้ว แต่เมื่อยังมิได้มีการจับกุมผู้เสียหายตามบันทึกการจับกุมนั้น การที่จำเลยมิได้ส่งตัวผู้เสียหายต่อพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีในวันดังกล่าว แต่เพิ่งจะจับกุมผู้เสียหายในภายหลังเมื่อคดีตกลงกันไม่ได้จึงได้มีการแก้ไขวันที่จับกุมผู้เสียหายให้ถูกต้องตามความเป็นจริง จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
จำเลยไม่ได้ให้การ แต่แถลงขอต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษา ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 2 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า เมื่อวันที่3 มีนาคม 2529 จำเลยกับพวกได้ไปพบนางบุญนำ กุณธิ ผู้เสียหายที่บริษัทของผู้เสียหายเพื่อทวงถามให้ผู้เสียหายคืนเงินจำนวน23,000 บาท ให้แก่นายสังข์ทอง มัจจุปะ ตัวแทนของนายเจิด เฉยฉินตามที่นายเจิดได้ร้องทุกข์กล่าวหาว่าผู้เสียหายได้ฉ้อโกงเงินจำนวนดังกล่าวไปจากนายเจิดโดยผู้เสียหายได้รับเงินจำนวนนี้ไปจากนายเจิดโดยสัญญาว่าจะส่งนายเจิดไปทำงานที่ต่างประเทศแต่ไม่ได้ส่งไปตามสัญญา จำเลยกับพวกพาผู้เสียหายกับพวกไปเจรจาเพื่อตกลงกันที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินีตามที่นายเจิดไปแจ้งความไว้ แต่ตกลงกันไม่ได้ จากนั้นจึงพากันไปเจรจากันต่อที่ห้องพักของจำเลยที่แฟลตเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามและผู้เสียหายได้ค้างคืนที่ห้องพักของจำเลยดังกล่าว จนกระทั่งวันที่ 5 มีนาคม2529 ผู้เสียหายยังตกลงกับนายสังข์ทองตัวแทนของนายเจิดไม่ได้ จำเลยจึงให้สิบตำรวจเอกทวีชาติ สังข์ขาว ส่งตัวผู้เสียหายแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีเพื่อดำเนินคดีต่อไปมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ฯลฯจากพยานหลักฐานดังกล่าว เป็นการเจือสมข้อนำสืบของจำเลยที่ว่าในวันที่ 3 มีนาคม 2529 ยังมิได้ทำการจับกุมผู้เสียหาย จึงมิได้ส่งตัวผู้เสียหายต่อพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีในวันนั้น เป็นเพราะผู้เสียหายและนายกิตติกาญจน์ บุตรชายของผู้เสียหายเกรงว่านายสังข์ทองตัวแทนของนายเจิดจะไม่ยอมปล่อยตัวผู้เสียหายไปจึงได้ให้นายกิตติกาญจน์ทำบันทึกไว้ว่า ผู้เสียหายสมัครใจพักอยู่ที่ห้องของจำเลยโดยมิได้มีผู้ใดบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใดแม้จะฟังว่าบันทึกการจับกุม ตามเอกสารหมาย จ.3 จะได้ทำครั้งแรกในวันที่ 3 มีนาคม 2529 แต่ยังมิได้มีการจับกุมผู้เสียหายตามบันทึกการจับกุมนั้น ย่อมต้องถือว่าจำเลยยังมิได้จับกุมผู้เสียหายตามความเป็นจริง เพิ่งจะมาจับกุมผู้เสียหายในวันที่ 5 มีนาคม 2529เมื่อคดีตกลงกันไม่ได้ จึงได้มีการแก้ไขวันที่จับกุมผู้เสียหายให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะนายสังข์ทองเบิกความยืนยันว่า แม้จะได้ออกหมายจับผู้เสียหายไว้แล้ว แต่ตนมิได้ขอให้จับกุมผู้เสียหายในวันที่ 3 มีนาคม 2529 เพียงแต่ขอให้จำเลยช่วยทวงเงินคืนจากผู้เสียหายเท่านั้น จึงไม่ถือว่ามีการจับกุมผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(4) ในวันนั้นการที่จำเลยให้ผู้เสียหายพักค้างคืนอยู่ที่ห้องพักของจำเลยก็มิได้มีการควบคุมผู้เสียหายแต่อย่างใด หากแต่ผู้เสียหายสมัครใจอยู่ที่นั่นเองเพราะเป็นคนจังหวัดเดียวกับจำเลยเนื่องจากเกรงว่านายสังข์ทองจะให้ส่งตัวผู้เสียหายไปคุมขังที่สถานีตำรวจ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์