คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6417/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สิทธิและหน้าที่ใด ๆ อันเกิดขึ้นตามพินัยกรรมจะบังคับเรียกร้องกันได้ตั้งแต่ผู้ทำพินัยกรรมตายเป็นต้นไป และกรณีจะพิสูจน์ว่าพินัยกรรมเป็นอันเสียเปล่าเพราะเหตุในเวลาที่ทำพินัยกรรมผู้ทำจริตวิกลอยู่ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1704 วรรคสองนั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีข้อพิพาทกันว่าพินัยกรรมที่บุคคลวิกลจริตทำขึ้นนั้นเสียเปล่า โดยบุคคลผู้มีส่วนได้เสียได้กล่าวอ้างขึ้นเพื่อให้มีการพิสูจน์เช่นนั้น ฉะนั้นเมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ทำพินัยกรรมยังมิได้ถึงแก่ความตายจึงยังถือไม่ได้ว่ามีการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องหรือเป็นกรณีที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อพิสูจน์ว่าขณะที่ผู้ร้องทำพินัยกรรมนั้น ผู้ร้องเป็นคนวิกลจริต

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เมื่อปี 2533 ในระหว่างที่ผู้ร้องมีอาการวิกลจริตเนื่องจากป่วยด้วยโรคมือเท้าสั่น สมองเสื่อมกระดูกคองอกทับเส้นเลือด ทำให้เลือดขึ้นสมองน้อยกว่าปกติ สมองเหี่ยวความจำเสื่อม หลงลืมง่าย มีความคิดอ่านไม่ปกติ พูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างได้ถูกผู้อื่นชักชวนให้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์สินให้ผู้มีชื่อ โดยให้มีผลบังคับตามกฎหมายหลังจากผู้ร้องถึงแก่กรรมแล้ว ณ อำเภอเมืองศรีสะเกษ ต่อมาเมื่อต้นปี2534 นางพงษ์ประไพ มันตาภรณ์ ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งธนบุรีขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นคนไร้ความสามารถและให้ตั้งนางพงษ์ประไพมันตาภรณ์ เป็นผู้อนุบาล ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งให้ตามขอ แล้วนางพงษ์ประไพ มันตาภรณ์ ผู้อนุบาลได้นำคำสั่งของศาลแพ่งธนบุรีไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่อำเภอเมืองศรีสะเกษให้ดำเนินการเพิกถอนพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่ทำให้ผู้ร้องในขณะที่วิกลจริตและศาลยังไม่มีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ แต่เจ้าหน้าที่อำเภอดังกล่าวไม่ทำให้เว้นแต่จะมีคำสั่งศาล ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้พิสูจน์ว่าในเวลาทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองฉบับดังกล่าวผู้ร้องวิกลจริตอยู่ และให้มีคำสั่งว่า พินัยกรรมดังกล่าวนั้นเป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะซึ่งไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลได้ ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่ผู้ร้องเป็นผู้ทำนั้นจะบังคับได้ตามพินัยกรรมหลังจากผู้ร้องถึงแก่กรรมแล้วในระหว่างที่นางประไพมีชีวิตจึงยังไม่มีการเปิดเผยพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองว่าเป็นอย่างไร และไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดโต้แย้งหรือได้ประโยชน์จากพินัยกรรมฉบับดังกล่าว ผู้ร้องจึงไม่มีเหตุที่จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอพิสูจน์ว่าในขณะที่ผู้ร้องทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองนั้น ผู้ร้องเป็นคนวิกลจริต และมีคำสั่งว่าพินัยกรรมฉบับดังกล่าวนั้นเป็นโมฆะ พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1704 วรรคสอง บัญญัติว่า”พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต แต่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้น จะเป็นอันเสียเปล่าก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าในเวลาที่ทำพินัยกรรมนั้น ผู้ทำจริตวิกลอยู่”เป็นกฎหมายสนับสนุนให้ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลได้ แม้ยังมิได้มีการเปิดพินัยกรรมนั้น เห็นว่าสิทธิและหน้าที่ใด ๆ อันเกิดขึ้นตามพินัยกรรมให้มีการบังคับเรียกร้องกันได้ตั้งแต่ผู้ทำพินัยกรรมตายเป็นต้นไป และกรณีจะพิสูจน์ว่าพินัยกรรมเป็นอันเสียเปล่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1704 วรรคสอง จะต้องเป็นกรณีที่มีข้อพิพาทกันว่าพินัยกรรมที่บุคคลวิกลจริตทำขึ้นนั้นเสียเปล่าโดยบุคคลผู้มีส่วนได้เสียได้กล่าวอ้างขึ้นเพื่อให้มีการพิสูจน์เช่นนั้น ทั้งตามคำร้องขอของผู้ร้องก็ต่างจากการร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลได้ กรณีของผู้ร้องยังถือไม่ได้ว่ามีการโต้แย้งสิทธิหรือจะต้องใช้สิทธิทางศาล ที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำร้องขอชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share