แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้คัดค้านยื่นอุทธรณ์คัดค้านอ้างว่า การรับฟังพยานหลักฐานของอนุญาโตตุลาการทำให้การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดนั้น เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแพ่งที่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น เป็นการฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านจะหยิบยกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ขึ้นอ้าง เพื่อโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของอนุญาโตตุลาการและศาลชั้นต้น เพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดข้อตกลงตามบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงต่อท้ายบันทึกความเข้าใจ จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจไม่สุจริตและประพฤติไม่ชอบในการดำเนินกระบวนพิจารณา ทั้งมาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติวิธีพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันหรือกฎหมายมิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร อำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการนี้ให้รวมถึงอำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง ทั้งไม่ใช่กรณีผู้คัดค้านเป็นฝ่ายยื่นคำร้องคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ (ตามมาตรา 40 (1)
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดเวลาทวงถามให้แก่ผู้ร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านในส่วนนี้ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) (2)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลแพ่งพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการโดยให้ผู้คัดค้านชำระเงิน 8,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง กับให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ทำบันทึกความเข้าใจฉบับลงวันที่ 22 มิถุนายน 2553 ข้อตกลงต่อท้ายบันทึกความเข้าใจฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2553 และข้อตกลงต่อท้ายบันทึกความเข้าใจฉบับที่สอง ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2553 มีสาระสำคัญว่า ผู้ร้องตกลงชำระเงินประกันให้แก่ผู้คัดค้านในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะเช่าเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ผู้คัดค้านจะไม่เจรจาหรือเข้าทำสัญญาใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินกับบุคคลที่สามและจะไม่ก่อภาระผูกพันใด ๆ แก่ที่ดินไม่ว่าร้องชำระเงินประกันให้แก่ผู้คัดค้านตามบันทึกความเข้าใจและภาระผูกพันนั้นจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม เพื่อที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านจะทำสัญญาเช่าที่ดินกันต่อไป โดยผู้ร้องชำระเงินประกันให้แก่ผู้คัดค้านตามบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงต่อท้ายบันทึกความเข้าใจแล้ว 8,500,000 บาท ต่อมาผู้ร้องและผู้คัดค้านมิได้ทำสัญญาเช่าที่ดินต่อกัน ผู้ร้องเรียกเงินประกันคืนจากผู้คัดค้าน แต่ผู้คัดค้านไม่คืนให้ ผู้ร้องจึงยื่นข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านแล้วร่วมกันเสนอตั้งอนุญาโตตุลาการ 1 คน ต่อมาอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงิน 8,500,000 บาท คืนแก่ผู้ร้องพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ผู้คัดค้านทราบคำชี้ขาดแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาด ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับไปตามคำชี้ขาดนั้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นขัดหรือฝ่าฝืนข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เนื่องจากไปวินิจฉัยว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้คัดค้านไม่ได้ผิดสัญญา แต่ผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยเป็นผู้ร่างสัญญาเช่าแต่เพียงฝ่ายเดียวมายื่นให้ผู้คัดค้านลงนาม ทั้งที่ตามข้อตกลงเดิมต้องร่วมกันร่างและตรวจสอบด้วยกัน และผู้ร้องเปลี่ยนแปลงผู้เช่าเป็นนิติบุคคลอันไม่ใช่ผู้ร้องเอง อีกทั้งผู้ร้องไม่ส่งมอบแผนงานโครงการ และไม่ชำระเงินงวดสุดท้ายให้แก่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา การเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยข้อสัญญาและกฎหมายผู้ร้องยังไม่มีสิทธิเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ นอกจากนี้ อนุญาโตตุลาการไม่นำข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายมาชั่งน้ำหนักอย่างรอบคอบครบถ้วน ไม่หยิบยกพยานปากนายลี ของผู้คัดค้านซึ่งเป็นพยานคนกลางขึ้นวินิจฉัย ขัดต่อกฎหมายลักษณะพยาน พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ 1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน…” อุทธรณ์ของผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ที่เพียงแต่หยิบยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างเพื่อโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของอนุญาโตตุลาการและศาลชั้นต้น เพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดข้อตกลงตามบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงต่อท้ายบันทึกความเข้าใจ จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ทั้งที่เป็นอำนาจของอนุญาโตตุลาการที่จะวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานตามมาตรา 25 แม้จะกล่าวอ้างว่า การรับฟังพยานหลักฐานของอนุญาโตตุลาการเช่นนั้นทำให้การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับให้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นจะเป็นการฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ก็หาได้เป็นกรณีที่เห็นเด่นชัดว่าอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจไม่สุจริตและประพฤติมิชอบแต่อย่างใดไม่ การที่ศาลจะก้าวล่วงเข้าไปตรวจสอบและวินิจฉัยข้อเท็จจริงของข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านนี้อีกย่อมเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของการระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการ อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยเนื่องจากอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยแล้วว่า การที่คู่สัญญาไม่สามารถตกลงทำสัญญาเช่าที่ดินกันได้นั้นมิใช่ความผิดของฝ่ายใด กรณีจึงไม่มีฝ่ายใดที่จะเสียหายจากการผิดนัด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 8,500,000 บาท นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า หนี้เงินนั้นให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี เมื่ออนุญาโตตุลาการวินิจฉัยแล้วว่า ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำได้ตามบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงต่อท้ายบันทึกความเข้าใจ และผู้คัดค้านมีหน้าที่ต้องคืนเงินมัดจำจำนวน 8,500,000 บาท เมื่อผู้ร้องทวงถามให้ผู้คัดค้านคืนเงินมัดจำภายใน 15 วัน นับจากวันที่ผู้คัดค้านได้รับหนังสือบอกกล่าวและเรียกให้ชำระเงินคืนแล้ว แต่ผู้คัดค้านไม่คืน จึงถือว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดเวลาทวงถามให้แก่ผู้ร้อง ที่อนุญาโตตุลาการและศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยแก่ผู้ร้องจึงเป็นไปตามกฎหมาย การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านในส่วนนี้จึงเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) (2) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ