คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6411/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อหัวหน้าคณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินได้สำเร็จหัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งอันถือเป็นกฎหมายใช้บังคับแก่ประชาชนได้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13ธันวาคม 2515 มิใช่คำสั่งที่มีผลทำให้บุคคลต้องรับโทษทางอาญาแต่เป็นเรื่องของการให้ถอนสัญชาติไทยของบุคคลบางจำพวก แม้จะมีผลย้อนหลังกระทบถึงสิทธิของจำเลยและประชาชนก็มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ เมื่อจำเลยเกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อปีพ.ศ. 2489โดยมีบิดามารดาเป็นคนญวนอพยพ จำเลยจึงถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว จำเลยมิใช่บุคคลที่มีสัญชาติไทยแต่เป็นคนญวนอพยพซึ่งต้องอยู่ในเขตควบคุมจังหวัดหนองคายตามประกาศและคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จำเลยออกนอกเขตจังหวัดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด จึงเป็นการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 368.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดเขตควบคุมคนญวนอพยพ ซึ่งเป็นบุคคลที่เข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตให้พักอาศัยอยู่ได้เป็นการชั่วคราวภายในเขตจังหวัดหนองคายเพื่อรอการส่งกลับประเทศเวียดนาม ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดเขตควบคุมคนญวนอพยพ ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2527 ท้ายฟ้องจำเลยเป็นคนเชื้อชาติและสัญชาติญวน เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต พักอาศัยอยู่ในเขตควบคุมจังหวัดหนองคายจำเลยไม่ปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย โดยจำเลยเดินทางออกนอกเขตควบคุมจังหวัดหนองคายเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นการขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 จำคุก 10 วัน และปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยเกิดในราชอาณาจักรไทย เมื่อปี พ.ศ. 2489 โดยมีบิดามารดาเป็นคนญวนอพยพ จำเลยถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 จำเลยจึงไม่มีสัญชาติไทยไปแล้วต้องใช้สัญชาติของบิดามารดาคือสัญชาติญวน ฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนญวนอพยพ ต้องอยู่ในเขตควบคุมจังหวัดหนองคายตามประกาศและคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เมื่อจำเลยออกนอกเขตจังหวัดหนองคายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำเลยฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13ธันวาคม 2515 ไม่มีผลย้อนหลังมาถอนสัญชาติไทยของจำเลยได้คำสั่งห้ามคนต่างด้าวหรือญวนอพยพออกนอกเขตนำมาใช้บังคับแก่จำเลยไม่ได้ เพราะจำเลยเป็นคนสัญชาติไทย
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า คำสั่งของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ไม่มีผลย้อนหลังมาถอนสัญชาติไทยของจำเลยได้นั้น เห็นว่าเมื่อคณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งอันถือเป็นกฎหมายใช้บังคับแก่ประชาชนได้ ประกอบกับคำสั่งของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 มิใช่เป็นคำสั่งที่มีผลทำให้บุคคลต้องรับโทษทางอาญา แต่เป็นเรื่องของการให้ถอนสัญชาติไทยของบุคคลบางจำพวก แม้จะมีผลย้อนหลังกระทบถึงสิทธิของจำเลยและประชาชน ก็มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คำสั่งห้ามคนต่างด้าวหรือญวนอพยพออกนอกเขตนำมาใช้บังคับแก่จำเลยไม่ได้ เพราะจำเลยเป็นคนสัญชาติไทยนั้น เมื่อฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยเกิดในราชอาณาจักรไทย แต่มีบิดามารดาเป็นคนญวนอพยพ จำเลยได้ถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13ธันวาคม 2515 แล้ว จำเลยจึงไม่ใช่เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยดังที่จำเลยอ้าง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมาชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share