แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินสูง ส่วนที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นที่ดินต่ำ การที่โจทก์ระบายน้ำฝนตามธรรมชาติจากที่ดินของโจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองไปสู่ลำน้ำเสียวจึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องยอมรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1339 วรรคหนึ่ง และ 1340 วรรคหนึ่ง ไม่ว่าโจทก์และประชาชนจะใช้ร่องน้ำในที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นเวลานานเพียงใด ก็หาทำให้กลายเป็นลำรางสาธารณะหรือตกเป็นภาระจำยอมไม่ แต่การที่จำเลยทั้งสองไถดินกลบลำรางร่องน้ำพิพาทเป็นเหตุให้น้ำท่วมขังที่ดินของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองทำที่พิพาทให้เป็นลำรางระบายน้ำตามเดิมได้
ฟ้องโจทก์ว่าลำรางร่องน้ำพิพาทเป็นลำรางสาธารณะหรือเป็นทางภาระจำยอม และบรรยายถึงข้อเท็จจริงไว้ชัดเจนอีกว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินได้รับความเสียหายเพราะจำเลยทั้งสองใช้ดินกลบลำรางร่องน้ำซึ่งเป็นทางระบายน้ำที่ไหลจากบริเวณที่ดินของโจทก์ผ่านลำรางดังกล่าวไปสู่ลำน้ำเสียว อันเป็นการบรรยายถึงสิทธิของโจทก์ที่จะใช้ลำรางร่องน้ำพิพาทได้กับมีคำขอไม่ให้จำเลยทั้งสองปิดกั้น ซึ่งในคดีแพ่งโจทก์ไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เป็นการเพียงพอแล้ว ส่วนบทกฎหมายใดจะใช้บังคับแก่คดีย่อมเป็นหน้าที่ของศาลที่จะยกมาปรับแก่คดีเอง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่า กรณีเป็นเรื่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1339 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1340 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
คำขอของโจทก์ที่ว่าหากจำเลยทั้งสองไม่รื้อถอนคันเดินออกจากลำรางร่องน้ำพิพาทก็ให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนไถดินออกโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายนั้น เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดีซึ่งโจทก์ชอบที่จะขอต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการให้ตามที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 ทวิ ภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาและจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้นแล้ว ศาลฎีกาไม่อาจมีคำพิพากษาตามคำขอส่วนนี้ของโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 10857 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 10784 และ 10770 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 10783 ที่ดินของโจทก์เป็นที่สูงตามธรรมชาติลาดลงไปติดที่ดินของจำเลยที่ 2 ส่วนที่ดินของจำเลยที่ 1 อยู่ถัดจากที่ดินของจำเลยที่ 2 ในฤดูน้ำหลากน้ำฝนจากที่ดินของโจทก์ และประชาชนระบายผ่านลำรางร่องเหมืองกว้างประมาณ 2.5 เมตร ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกของที่ดินของจำเลยทั้งสองลงสู่ลำน้ำเสียวตลอดมาเป็นเวลานับร้อยปี ลำรางร่องเหมือนดังกล่าวจึงเป็นร่องน้ำสาธารณะหรือภาระจำยอม เมื่อเดือนมกราคม 2542 จำเลยทั้งสองไถคันดินกลบลำรางร่องเหมืองดังกล่าวที่ติดกับที่ดินของจำเลยทั้งสองจนไม่อาจระบายน้ำฝนได้ตามปกติ ทำให้น้ำท่วมขังที่ดินของโจทก์และประชาชนที่อยู่สูงถัดขึ้นไปจนไม่อาจทำนาได้ตามปกติ โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองเปิดลำรางร่องเหมืองดังกล่าวแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอบังคับจำเลยทั้งสองไถคันรื้อถอนดินออกจากลำรางร่องเหมืองกว้าง 2.50 เมตร ให้ระบายน้ำได้ดังเดิม หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติก็ให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนไถดินออกโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ไม่มีร่องน้ำสาธารณะหรือลำรางร่องเหมืองเป็นทางระบายน้ำในที่ดินของจำเลยทั้งสอง ที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นที่สูงโดยธรรมชาติ ส่วนที่ดินของโจทก์และบุคคลอื่นเป็นที่ต่ำ ในที่ดินของจำเลยทั้งสองมีร่องน้ำกว่างประมาณ 1 เมตร ซึ่งนายบุญบิดาจำเลยทั้งสองขุดขึ้นใช้เป็นทางระบายน้ำในที่ดินของจำเลยทั้งสอง และให้เป็นที่อยู่ของปลา บิดาจำเลยทั้งสองอนุญาตให้นายพรบิดาโจทก์ระบายน้ำผ่านที่ดินของโจทก์ลงในร่องน้ำของจำเลยทั้งสองตามที่นายพรขอ ต่อมาบิดาจำเลยทั้งสองถึงแก่ความตาย โจทก์บุกรุกเข้าขุดร่องน้ำในที่ดินของจำเลยทั้งสองให้กว้างและลึกกว่าเดิมโดยไม่มีสิทธิ จำเลยทั้งสองกลบร่องน้ำในที่ดินของจำเลยทั้งสองเพื่อใช้ประโยชน์ของจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่ได้สิทธิภาระจำยอม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 10857 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 10770 และ 10784 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 10783 ตำบลโพนสูง อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 ที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับที่ดินของจำเลยที่ 2 ด้านทิศเหนือ ที่ดินของจำเลยที่ 1 อยู่ติดกับที่ดินของจำเลยที่ 2 ด้านทิศใต้ ลำรางร่องเหมืองหรือร่องน้ำพิพาทอยู่ด้านทิศตะวันออกของที่ดินของจำเลยทั้งสองยาวจากทิศใต้ติดที่ดินของโจทก์ไปทิศเหนือสุดเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองได้ไถดินในที่ดินของตนกลบลำรางร่องเหมืองหรือร่องน้ำพิพาท โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ลำรางร่องเหมืองหรือร่องน้ำพิพาทเป็นลำรางสาธาณะหรือเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 ระบุว่า ที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสองทุกด้านติดต่อกับที่ดินแปลงอื่นไม่ปรากฏว่ามีลำรางสาธาณะติดที่ดินของโจทก์หรือจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด จึงฟังไม่ได้ว่าลำรางร่องเหมืองหรือร่องน้ำพิพาทเป็นลำรางสาธารณะ แต่เป็นร่องน้ำในที่ดินของจำเลยทั้งสอง ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์และประชาชนใช้ลำรางร่องเหมืองหรือร่องน้ำพิพาท เป็นทางระบายน้ำใช้ระบายน้ำจากที่ดินของตนไปสู่ลำน้ำเสียว ซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือของที่ดินแปลงอื่นที่อยู่ถัดที่ดินของจำเลยที่ 1 มาเป็นเวลานานหลายสิบปี ลำรางร่องเหมืองหรือร่องน้ำพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมนั้น โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าที่ดินของโจทก์และที่ดินของประชาชนที่อยู่ด้านทิศใต้ของที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นที่ดินสูง ส่วนที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นที่ดินต่ำในฤดูฝนน้ำจะไหลจากที่ดินของโจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองและที่ดินของประชาชนอื่นไปลงสู่ลำน้ำเสียวซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือของที่ดินของจำเลยทั้งสอง แม้จำเลยทั้งสองจะให้การปฏิเสธและนำสืบว่าที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นที่ดินสูงและน้ำไหลจากที่ดินของจำเลยทั้งสองผ่านที่ดินของโจทก์ ซึ่งเป็นที่ดินต่ำ แต่ตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 นายสมัย และนายคำจันทร์พยานจำเลยทั้งสองที่เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านล้วนยอมรับว่าในฤดูฝนน้ำจะไหลจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือลงสู่น้ำเสียว เจือสมคำฟ้องและพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินสูง ส่วนที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นที่ดินต่ำตามที่โจทก์ฟ้อง การที่โจทก์ระบายน้ำฝนตามธรรมชาติจากที่ดินของโจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองไปสู่ลำน้ำเสียวจึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องยอมรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1339 วรรคหนึ่ง และ 1340 วรรคหนึ่ง ดังนี้ไม่ว่าโจทก์และประชาชนจะใช้ร่องน้ำในที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นเวลานานเพียงใด ก็หาทำให้ร่องน้ำในที่ดินของจำเลยทั้งสองกลายเป็นลำรางสาธารณะหรือตกเป็นภาระจำยอมไม่ แต่การที่จำเลยทั้งสองไถดินกลบลำรางร่องน้ำพิพาท เป็นเหตุให้น้ำท่วมขังที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองทำที่พิพาทให้เป็นลำรางระบายน้ำตามเดิมได้ แม้โจทก์จะอ้างว่าลำรางร่องน้ำพิพาทเป็นลำรางสาธารณะหรือเป็นทางภาระจำยอม แต่ฟ้องโจทก์ก็บรรยายถึงข้อเท็จจริงโดยได้แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นไว้ชัดเจนแล้วว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินได้รับความเสียหายเพราะจำเลยทั้งสองใช้ดินกลบลำรางร่องน้ำซึ่งเป็นทางระบายน้ำที่ไหลจากบริเวณที่ดินของโจทก์ผ่านลำรางดังกล่าวไปสู่ลำน้ำเสียว อันเป็นการบรรยายถึงสิทธิของโจทก์ที่จะใช้ลำรางร่องน้ำพิพาทได้กับมีคำขอไม่ให้จำเลยทั้งสองปิดกั้น ซึ่งในคดีแพ่งโจทก์ไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เป็นการเพียงพอแล้ว ส่วนบทกฎหมายใดจะใช้บังคับแก่คดีย่อมเป็นหน้าที่ของศาลที่จะยกมาปรับแก่คดีเอง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่า กรณีเป็นเรื่องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1339 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1340 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ว่ากรณีเป็นเรื่องดังกล่าว
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า ลำรางร่องน้ำพิพาทมีความกว้างเท่าใด จำเลยที่ 1 เบิกความรับตามคำเบิกความของโจทก์และนายประชันพยานโจทก์ประกอบกับภาพถ่ายหมาย จ.7 ว่าลำรางร่องน้ำพิพาทมีความกว้างรวมคัน (ลำราง) 2.50 เมตร กับเบิกความด้วยว่าลำรางร่องน้ำพิพาทมีความลึก 1 เมตร ก้นลำรางกว้าง 1 ศอก ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าลำรางร่องน้ำพิพาทมีความกว้าง 2.50 เมตร ตามฟ้องโจทก์ ส่วนที่โจทก์มีคำขอว่าหากจำเลยทั้งสองไม่รื้อถอนคันดินออกจากลำรางร่องน้ำพิพาทก็ให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนไถดินออกโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายนั้น กรณีเป็นเรื่องในชั้นบังคับคดีซึ่งโจทก์ชอบที่จะขอต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการให้ตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ ภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาและจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้นแล้ว ศาลฎีกาไม่อาจมีคำพิพากษาตามคำขอส่วนนี้ของโจทก์ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนคันดินออกจากลำรางร่องน้ำพิพาท กว้าง 2.50 เมตร (ลึก 1 เมตร ก้นลำรางกว้าง 1 ศอก) ตามภาพถ่ายหมาย จ.7 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ