คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6382/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่1โดยปิดหมายเมื่อวันที่7มิถุนายน2537ซึ่งจำเลยที่1มีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในวันที่7กรกฎาคม2537แม้ทนายจำเลยที่1จะยื่นคำร้องต่อศาลขอคัดเอกสารเกี่ยวกับคดีและเพิ่งได้รับเอกสารที่ขอคัดนั้นในวันที่1กรกฎาคม2537ก็ตามก็ยังมีเวลาอีก6วันที่จำเลยที่1สามารถยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายใน15วันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่1ได้กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่1ไม่สามารถยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวอันจะทำให้มีสิทธิยื่นคำขอภายใน15วันนับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ได้สิ้นสุดลงเพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา208วรรคหนึ่งกรณีจะยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายใน15วันนับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ได้สิ้นสุดลงได้นอกจากต้องมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้แล้วยังต้องเป็นกรณีที่ไม่สามารถยื่นคำขอภายใน15วันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่1ได้ด้วยกรณีของจำเลยที่1จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าวเมื่อเป็นดังนี้จำเลยที่1ต้องยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในวันที่7กรกฎาคม2537การที่จำเลยที่1ยื่นคำขอในวันที่15กรกฎาคม2537จึงล่วงพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด ค้ำประกันและจำนอง จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 11,041,609.17 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับเอาจากทรัพย์สินจำนองและทรัพย์สินอื่นจนครบกับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่โดยอ้างว่า ไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา เพราะขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 อยู่ที่บ้านเลขที่ 22/16 ถนนชุมสาย ตำบลกุดป่องอำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย ไม่ได้อยู่ที่บ้านเลขที่ 4/4-5ถนนสุขุมวิท ซอยสุขุมวิท 3 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานครตามที่โจทก์ระบุในคำฟ้อง จึงไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้อง หากทราบจำเลยที่ 1 จะต้องให้การต่อสู้คดีและมีทางชนะคดีได้ ต่อมาวันที่7 มิถุนายน 2537 ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ไปเก็บค่าเช่าที่บ้านเลขที่ 4/4-5 ดังกล่าว ซึ่งเป็นบ้านของจำเลยที่ 1 ที่แบ่งให้ผู้อื่นเช่า ปรากฏว่ามีคำบังคับของศาลปิดอยู่ จึงส่งให้จำเลยที่ 1 ทราบ ทนายจำเลยที่ 1 ได้ยื่นเรื่องขอคัดคำฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2537 และได้รับเอกสารที่ขอนั้นจากศาลในวันที่ 1 กรกฎาคม 2537 ทำให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ล่าช้าอันเป็นเหตุสุดวิสัย และปรากฏว่าหนี้ที่โจทก์ฟ้องนั้นมีจำนวนไม่ถูกต้องโดยมิได้หักเงินที่จำเลยที่ 1 โอนเข้าบัญชีชำระหนี้ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ส่งคำบังคับให้จำเลยที่ 1โดยปิดหมายเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2537 จำเลยที่ 1 ต้องยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในวันที่ 7 กรกฎาคม 2537 ทั้งเหตุที่จำเลยที่ 1 ยื่นล่าช้ามิใช่พฤติการณ์นอกเหนือตามกฎหมายที่จะอ้างได้เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นพ้นกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 วรรคแรก จึงให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1
จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ล่วงพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ทราบการปิดคำบังคับของศาลจากลูกจ้างจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2537 จึงติดต่อทนายความและยื่นคำร้องขอคัดเอกสารเกี่ยวกับคดีในวันที่ 20มิถุนายน 2537 แต่ติดขัดด้วยระเบียบและวิธีการของศาล ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับเอกสารที่ขอคัดล่าช้าโดยเพิ่งได้รับเมื่อวันที่1 กรกฎาคม 2537 อันถือเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2537ซึ่งเป็นเวลาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลง จึงไม่ล่วงพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่ 1 โดยปิดหมายเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2537 ซึ่งจำเลยที่ 1มีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในวันที่ 7 กรกฎาคม 2537ดังนี้ แม้ทนายจำเลยที่ 1 จะยื่นคำร้องต่อศาลขอคัดเอกสารเกี่ยวกับคดีและเพิ่งได้รับเอกสารที่ขอคัดนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2537ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างก็ตาม ก็ยังมีเวลาอีก 6 วันที่จำเลยที่ 1 สามารถยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวอันจะทำให้มีสิทธิยื่นคำขอภายใน 15 วัน นับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ได้สิ้นสุดลง เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคหนึ่ง กรณีจะยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ ได้สิ้นสุดลงได้ นอกจากต้องมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้แล้ว ยังต้องเป็นกรณีที่ไม่สามารถยื่นคำขอภายใน15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่ 1ได้ด้วย กรณีของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าวเมื่อเป็นดังนี้จำเลยที่ 1 ต้องยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในวันที่ 7กรกฎาคม 2537 การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอในวันที่ 15 กรกฎาคม 2537จึงล่วงพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน

Share