แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาซื้อส้มโอพันธุ์ทองดีจากจำเลย50,000 ผล ในราคา 1,700,000 บาท โจทก์ชำระเงินมัดจำให้จำเลย 150,000 บาท ในวันทำสัญญาอันเป็นการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายข้อ 3 ซึ่งกำหนดไว้ว่า “ผู้ซื้อจ่ายเงินมัดจำให้ 150,000 บาท(หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ในวันที่ 23 สิงหาคม 2536Mr.TUIHUI จะมาดูของ ถ้ามีส้มโอ Mr.TUIHUIจะทำการโอนเงินจำนวน 1,000,000 บาท(หนึ่งล้านบาทถ้วน) ให้กับผู้ขายทันทีเมื่อส้มโอเข้าตู้คอนเทนเนอร์เรียบร้อยแล้ว เงินส่วนที่เหลือจะจ่ายเป็นเงินสดทันทีทั้งหมด” ดังนี้เงินจำนวน 1,000,000 บาทที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าวจึงเป็นเงินที่โจทก์จะต้องชำระหนี้ค่าส้มโอบางส่วนล่วงหน้าให้แก่จำเลยครั้นเมื่อโจทก์ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยแล้วจำเลยย่อมมีสิทธิริบเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยเงินมัดจำได้หากโจทก์ไม่มารับส้มโอตามกำหนดเวลาในสัญญาดังที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายข้อ 6 ที่ว่า”ถ้าผู้ซื้อไม่มารับส้มโอตามกำหนดเวลาในสัญญาผู้ขายมีสิทธิริบเงินจำนวน 1,150,000 บาท(หนึ่งล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)” กรณีเงินจำนวน1,000,000 บาท ที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่จำเลยนั้นเป็นเงินที่โจทก์ชำระหนี้บางส่วนโดยมุ่งต่อผลกล่าวคือ ให้จำเลยจัดหาส้มโอที่มีคุณภาพตามจำนวนในสัญญามาขายให้แก่โจทก์ จึงเป็นเงินล่วงหน้าไม่ใช่ลักษณะเป็นเบี้ยปรับดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379แต่เป็นข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายที่ว่า ในกรณีที่โจทก์ไม่มารับส้มโอภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้จำเลยมีสิทธิริบเงินค่าส้มโอบางส่วนที่โจทก์ได้ชำระไว้แล้วหาใช่เงินที่จำเลยมีสิทธิที่จะเรียกจากโจทก์หากโจทก์ผิดนัดผิดสัญญาอันจะถือเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา กล่าวคือเมื่อถึงกำหนดวันที่ส่งมอบส้มโอและจำเลยได้จัดหาส้มโอเพื่อส่งมอบแก่โจทก์ตามสัญญาแล้ว แต่โจทก์ไม่มารับส้มโอเพราะโจทก์ไม่สามารถจัดหาตู้ส่งสินค้าทางเรือมารับส้มโอตามสัญญาอีกทั้งยังบอกเลิกการซื้อส้มโอจากจำเลยเสียเช่นนี้จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินจำนวนนี้ได้ตามสัญญาซื้อขายโจทก์ไม่มีสิทธิอันใดที่จะได้รับเงินจำนวนนี้แม้เพียงบางส่วนคืนจากจำเลย เมื่อเงินจำนวนนี้มิใช่เบี้ยปรับศาลย่อมไม่มีอำนาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2536 จำเลยตกลงขายส้มโอพันธุ์ทองดีเบอร์ 1 ขนาดเส้นรอบวง 17 นิ้ว ราคาผลละ34 บาท จำนวน 50,000 ผล เป็นเงิน 1,700,000 บาท แก่โจทก์เพื่อโจทก์จะจัดส่งไปขายที่ดินแดนไต้หวัน แต่จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวน 1,150,000 บาท ที่รับไว้แก่โจทก์ และต้องชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์สามารถขายส้มโอได้กำไรไม่น้อยกว่า 700,000 บาท โดยโจทก์ขอคิดเพียง500,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,650,000 บาท โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยคืนเงินและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน1,650,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำ 150,000 บาท ได้ ส่วนเงินที่โจทก์ชำระราคาส้มโอให้จำเลยล่วงหน้า 1,000,000 บาท ซึ่งจำเลยริบได้ตามสัญญาซื้อขายข้อ 6 เป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนสมควรให้คิดเบี้ยปรับเพียง650,000 บาท พิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 350,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2536 โจทก์ทำสัญญาซื้อส้มโอพันธุ์ทองดีจากจำเลย 50,000 ผล ในราคา 1,700,000 บาท โจทก์ชำระเงินมัดจำให้จำเลย 150,000 บาท ในวันทำสัญญากำหนดส่งมอบส้มโอโดยบรรจุเข้าตู้ส่งสินค้าทางเรือเพื่อส่งไปยังดินแดนไต้หวันภายในวันที่ 31 เดือนเดียวกัน หลังจากทำสัญญาแล้ว ในวันที่ 25 และ 26 เดือนเดียวกัน โจทก์ชำระราคาส้มโอให้แก่จำเลยอีกเป็นเงิน 200,000 บาท และ800,000 บาท ตามลำดับ ต่อมาโจทก์ผิดสัญญาไม่สามารถจัดตู้ส่งสินค้าทางเรือมาบรรจุส้มโอ และไม่รับมอบส้มโอตามสัญญา ทำให้จำเลยมีสิทธิริบเงิน 1,150,000 บาท ที่โจทก์ชำระแล้วได้ตามสัญญาซื้อขายข้อ 6
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าเงินจำนวน 1,000,000 บาท ที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยแล้วนอกเหนือจากเงินมัดจำเป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงได้หรือไม่ และการวินิจฉัยว่าเบี้ยปรับสูงเกินส่วนเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ สำหรับข้อที่จำเลยฎีกาว่า เงินจำนวน 1,000,000 บาท ที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปแล้วไม่ใช่เบี้ยปรับและศาลไม่มีอำนาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนลงนั้น เห็นว่า เงินจำนวนดังกล่าวโจทก์ชำระให้แก่จำเลยอันเป็นการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายข้อ 3 ซึ่งกำหนดไว้ว่า “ผู้ซื้อจ่ายเงินมัดจำให้ 150,000 บาท(หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ในวันที่ 23 สิงหาคม 2536Mr.TU I HUI จะมาดูของ ถ้ามีส้มโอ Mr.TU I HUI จะทำการโอนเงินจำนวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) ให้กับผู้ขายทันทีเมื่อส้มโอเข้าตู้คอนเทนเนอร์เรียบร้อยแล้ว เงินส่วนที่เหลือจะจ่ายเป็นเงินสดทันทีทั้งหมด” ดังนี้ ย่อมเห็นได้ชัดว่าเงินจำนวน 1,000,000 บาท ที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าวเป็นเงินที่โจทก์จะต้องชำระหนี้ค่าส้มโอบางส่วนล่วงหน้าให้แก่จำเลย ครั้นเมื่อโจทก์ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิริบเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยเงินมัดจำหากโจทก์ไม่มารับส้มโอตามกำหนดเวลาในสัญญา ดังที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายข้อ 6 ว่า “ถ้าผู้ซื้อไม่มารับส้มโอตามกำหนดเวลาในสัญญา ผู้ขายมีสิทธิริบเงินจำนวน 1,150,000 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)” เห็นว่า กรณีเงินจำนวน 1,000,000 บาท ที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่จำเลยนั้นเป็นเงินที่โจทก์ชำระหนี้บางส่วนโดยมุ่งต่อผลกล่าวคือ ให้จำเลยจัดหาส้มโอที่มีคุณภาพตามจำนวนในสัญญามาขายให้แก่โจทก์จึงเป็นเงินล่วงหน้าไม่ใช่ลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งกำหนดว่า “ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดีเมื่อลูกหนี้ผิดนัด ก็ให้ริบเบี้ยปรับ ฯลฯ” แต่เป็นข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายที่ว่าในกรณีที่โจทก์ไม่มารับส้มโอภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้จำเลยมีสิทธิริบเงินค่าส้มโอบางส่วนที่โจทก์ได้ชำระไว้แล้ว หาใช่เงินที่จำเลยมีสิทธิที่จะเรียกจากโจทก์หากโจทก์ผิดนัดผิดสัญญาอันจะถือเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เองเป็นฝ่ายผิดสัญญากล่าวคือเมื่อถึงกำหนดวันที่ส่งมอบส้มโอ และจำเลยได้จัดหาส้มโอเพื่อส่งมอบแก่โจทก์ตามสัญญาแล้ว แต่โจทก์ไม่มารับส้มโอเพราะโจทก์ไม่สามารถจัดหาตู้ส่งสินค้าทางเรือมารับส้มโอตามสัญญาอีกทั้งยังบอกเลิกการซื้อส้มโอจากจำเลยเสียเช่นนี้ จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินจำนวนนี้ได้ตามสัญญาซื้อขาย โจทก์ไม่มีสิทธิอันใดที่จะได้รับเงินจำนวนนี้แม้เพียงบางส่วน คืนจากจำเลยเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าเงินจำนวนนี้มิใช่เบี้ยปรับ ดังนั้นศาลย่อมไม่มีอำนาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง