คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 638/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่าโจทก์ต้องใช้สิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการยกให้ที่ดินระหว่าง ธ. กับผู้คัดค้านตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสียก่อน โจทก์จึงจะยึดที่ดินแปลงดังกล่าวบังคับคดีต่อไปได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านในชั้นบังคับคดีไปทีเดียว จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นปัญหาในเรื่องอำนาจยื่นคำร้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านด้วยเหตุที่ว่าเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามเพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงเป็นการไม่ชอบ
การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะยึดหรืออายัดหรือขายบรรดาทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 283 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าทรัพย์สินที่โจทก์ขอนำยึดเป็นของจำเลยโดยเป็นสินสมรสของจำเลยกับสามี แต่ได้โอนให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรโดยสมยอมเพื่อยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินให้พ้นจากการบังคับคดีและยืนยันให้ยึด เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงต้องยึดทรัพย์สินดังกล่าว แต่เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการยึด โจทก์จึงมีสิทธิร้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ โดยขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินดังกล่าวได้ ตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 283 วรรคสอง โจทก์หาจำต้องฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เสียก่อนไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 981,150 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้บังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 17957 ตำบลลำพยา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม โดยอ้างว่าเป็นสินสมรสของจำเลยกับสามี แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีความสงสัย เนื่องจากไม่ปรากฏชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทะเบียน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ดำเนินการยึดและมีหนังสือร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งปลดเปลื้องความรับผิดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 283 วรรคสอง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อบังคับชำระหนี้แก่โจทก์
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์
ระหว่างการไต่สวน เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งปลดเปลื้องความรับผิดอีกฉบับหนึ่ง เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการยึดเครื่องจักรและอุปกรณ์การทำเส้นก๋วยเตี๋ยวในโรงงานซึ่งปัจจุบันมีชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้ถือใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามคำขอของโจทก์ และโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยกับนายเธียรชัยร่วมกันประกอบกิจการโรงงานทำเส้นก๋วยเตี๋ยว โดยจำเลยเป็นผู้ถือใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตลอดมา ผู้คัดค้านเพิ่งถือใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานภายหลัง เป็นการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของจำเลยเพื่อให้พ้นจากการบังคับคดี ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อบังคับชำระหนี้แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 17957 ตำบลลำพยา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม และทรัพย์สินอันเป็นอุปกรณ์ในการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดตามบัญชีทรัพย์ เป็นทรัพย์ของจำเลยที่เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถยึดเพื่อบังคับคดีแก่โจทก์ได้
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของผู้คัดค้านเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยให้ แต่เห็นควรมีคำสั่งให้เรื่องค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งศาลชั้นต้นยังมิได้สั่ง พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้คัดค้านให้คืนค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่ผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้และค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านนั้นเป็นการไม่ชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในชั้นอุทธรณ์ผู้คัดค้านอุทธรณ์สรุปความว่า กรณีของผู้คัดค้านเป็นเรื่องที่ผู้คัดค้านได้รับโอนทรัพย์สินมาจากนิติกรรมที่ทำขึ้นภายหลังเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเสียเปรียบ นิติกรรมการยกให้ระหว่างนายเธียรชัยกับผู้คัดค้านมีผลสมบูรณ์แล้ว โจทก์จึงต้องใช้สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสียก่อน จึงจะยึดทรัพย์บังคับคดีต่อไปได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านในชั้นนี้ไปทีเดียว จึงเป็นการใช้สิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้ปัญหาดังกล่าวจะมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แต่เป็นปัญหาในเรื่องอำนาจยื่นคำร้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งข้อเท็จจริงที่นำมาสู่ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวก็เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์ มิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านด้วยเหตุที่ว่าเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้าม จึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยใหม่ และเห็นว่า การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะยึดหรืออายัดหรือขายบรรดาทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 283 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าทรัพย์สินที่โจทก์ขอนำยึดเป็นของจำเลยโดยเป็นสินสมรสของจำเลยกับสามี แต่ได้โอนให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรโดยสมยอมเพื่อยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินให้พ้นจากการบังคับคดีและยืนยันให้ยึด เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงต้องยึดทรัพย์สินดังกล่าว แต่เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการยึด โจทก์จึงมีสิทธิร้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ โดยขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินดังกล่าวได้ ตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 283 วรรคสอง โจทก์หาจำต้องฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เสียก่อนไม่ ทั้งการที่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของโจทก์ ถือว่าผู้คัดค้านได้เข้ามาในคดีแล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจวินิจฉัยข้ออ้างของโจทก์และข้อเถียงของผู้คัดค้านที่โต้แย้งกันนั้นได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและมีคำสั่งมานั้น จึงชอบแล้ว
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้คัดค้านและให้บังคับคดีไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share