คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6374/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 กำหนดให้นายจ้างที่ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสามารถนำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง โดยนายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงจะฟ้องคดีได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทนายจ้าง ซึ่งถือว่าเป็นนายจ้างไม่พอใจคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งตามมาตรา 124 แล้วเป็นฝ่ายนำคดีมาฟ้องจำเลยเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ก็จะต้องนำเงินที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งของจำเลยมาวางศาล แต่โจทก์ไม่นำเงินมาวางต่อศาลแรงงานภายในเวลาที่ศาลแรงงานกำหนดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจังหวัดอ่างทองที่ 10/2543 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2543 และที่ 11/2543 ลงวันที่ 24 สิงหาคม2543 สั่งให้โจทก์ทั้งสองจ่ายค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า(ที่ถูกคือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า) และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างยังไม่ได้ใช้สิทธิให้แก่ลูกจ้างจำนวน 143 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,692,895 บาท พร้อมเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของเงินค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวันในเงินค้างชำระจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2543 เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสองฉบับดังกล่าว และโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางในวันที่ 22 กันยายน 2543 อ้างว่าจำเลยไม่มีอำนาจสั่งให้โจทก์ทั้งสองรับผิดจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างของบริษัทสุภัทร์ธนากรเปเปอร์มิล จำกัด เพราะโจทก์ทั้งสองเป็นเพียงกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทสุภัทร์ธนากร เปเปอร์มิลจำกัด ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องวางเงินที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งทั้งสองของจำเลย ขออนุญาตไม่วางเงินต่อศาล

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่อนุญาต ยกคำร้องและให้โจทก์ทั้งสองวางเงินต่อศาลภายใน 7 วัน แล้วจึงจะพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองต่อไป

เมื่อครบกำหนด 7 วันตามคำสั่งของศาลแรงงานกลาง โจทก์ทั้งสองไม่นำเงินมาวางศาล ศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2543 ว่า “โจทก์ไม่วางเงินภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด พิพากษายกฟ้อง”

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองต้องวางเงินตามจำนวนที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้างตามคำสั่งทั้งสองฉบับของจำเลยต่อศาลหรือไม่และเมื่อโจทก์ทั้งสองไม่วางเงินดังกล่าวต่อศาลตามกำหนดเวลาที่ศาลแรงงานกลางกำหนด โจทก์ทั้งสองจะมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่งกำหนดให้นายจ้างที่ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสามารถนำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งโดยมาตรา 125 วรรคสามกำหนดให้นายจ้างที่นำคดีไปสู่ศาลต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จึงจะฟ้องคดีได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจังหวัดอ่างทองที่ 10/2543 และที่ 11/2543 ของจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งตามมาตรา 124 แล้วเป็นฝ่ายนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โจทก์ทั้งสองก็จะต้องนำเงินที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งของจำเลยมาวางศาลจึงจะฟ้องคดีได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่นำเงินดังกล่าวมาวางต่อศาลแรงงานกลางภายในเวลาที่ศาลแรงงานกลางกำหนด โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share