คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6372/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นและภาระจำยอม ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือทางภาระจำยอมหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าทางพิพาทมิใช่ทางภาระจำยอมโดยอายุความก็ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ตามที่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ทั้งที่ทางพิจารณาอาจเป็นได้ทั้งทางจำเป็นและทางภาระจำยอมในขณะเดียวกันได้จึงเป็นการไม่ชอบ ดังนี้หากศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า ทางพิพาทไม่ใช่ทางภาระจำยอมโดยอายุความ และข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยในเรื่องทางจำเป็น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มีอำนาจวินิจฉัยในเรื่องทางพิพาทว่าเป็นทางจำเป็นหรือไม่ได้ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น เนื่องจากโจทก์มีคำขอมาตั้งแต่ต้นแล้ว มิฉะนั้น โจทก์คงต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่ ทั้งโจทก์ จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมก็ต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงซ้ำในเรื่องที่เคยนำสืบมาแล้ว จึงหาชอบด้วยความยุติธรรมไม่
เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 45810 ของโจทก์และที่ดินโฉนดเลขที่ 45821 ของจำเลยที่ 2 เป็นที่ดินแปลงเดียวกันต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 แปลงดังกล่าว แต่เมื่อทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของที่ดินโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ โดยเป็นทางเดินเท้าซึ่งตามแผนที่พิพาทระบุว่าทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโจทก์กว้างประมาณ 1.10 เมตร ไม่สามารถใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อผ่านเข้าออกได้นั้น ก็เป็นเรื่องความสะดวกของโจทก์เท่านั้นหาใช่ว่าโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นในที่ดินโฉนดเลขที่ 45821 ของจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 และ 1350 เพราะที่ดินโจทก์ไม่ถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมจนไม่สามารถออกไปสู่ทางสาธารณะได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นและภาระจำยอม โจทก์และบริวารมีสิทธิใช้ทางพิพาท กับให้จำเลยทั้งสองรื้อรั้วลวดหนามที่ปิดกั้นทางพิพาท หากไม่ดำเนินการให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยทั้งสองเสียค่าใช้จ่ายให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นและหรือทางภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 45810 ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องและขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยทั้งสอง เป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่จำเลยทั้งสองได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเฉพาะคำให้การของจำเลยทั้งสอง ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม จึงไม่รับ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นายสุทัศน์ บุญมี ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมรื้อสิ่งกีดขวางเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นให้แก่โจทก์มีความกว้าง 2.20 เมตร มีความยาวไปจนถึงด้านทิศใต้ตามรูปแผนที่พิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 45810 ตำบลแขม อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 45821 ตำบลแขม อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวอยู่ติดกันโดยที่ดินโจทก์อยู่ด้านทิศเหนือของที่ดินจำเลยที่ 2 ทางพิพาทภายในกรอบเส้นสีแดงในแผนที่พิพาท อยู่ในที่ดินจำเลยที่ 2 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมข้อแรกมีว่า คดีมีประเด็นขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องตั้งรูปว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นและภาระจำยอม ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือทางภาระจำยอมหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าทางพิพาทมิใช่ทางภาระจำยอมโดยอายุความก็ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ตามที่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ทั้งที่ทางพิจารณาอาจเป็นได้ทั้งทางจำเป็นและทางภาระจำยอมในขณะเดียวกันได้จึงเป็นการไม่ชอบ ดังนี้หากศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางภาระจำยอมโดยอายุความ และข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยในเรื่องทางจำเป็น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มีอำนาจวินิจฉัยในเรื่องทางพิพาทว่าเป็นทางจำเป็นหรือไม่ได้ ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น เนื่องจากโจทก์มีคำขอมาตั้งแต่ต้นแล้ว มิฉะนั้นโจทก์คงต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่ ทั้งโจทก์จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมก็ต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงซ้ำในเรื่องที่เคยนำสืบมาแล้วจึงหาชอบด้วยความยุติธรรมไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมมีว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมฎีกาว่าโจทก์มีทางออกด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า เดิมที่ดินโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน ต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 แปลง ดังกล่าว แต่เมื่อโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมยอมรับว่า ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของที่ดินโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ โดยเป็นทางเดินเท้าซึ่งตามแผนที่พิพาทระบุว่า ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโจทก์กว้างประมาณ 1.10 เมตร ไม่สามารถใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อผ่านเข้าออกได้นั้น ก็เป็นเรื่องความสะดวกของโจทก์เท่านั้น หาใช่ว่าโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นในที่ดินโฉนดเลขที่ 45821 ของจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 และ 1350 เพราะที่ดินโจทก์ไม่ถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมจนไม่สามารถออกไปสู่ทางสาธารณะได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้อง

Share