แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ซึ่งระบุชื่อจำเลยแต่ผู้เดียวเป็นเจ้าของ กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ที่บัญญัติว่า “ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง” เมื่อผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องมีสิทธิครอบครองร่วมด้วยครึ่งหนึ่ง ทั้งที่ปรากฏว่าที่ดินพิพาทระบุว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแต่ผู้เดียว โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นำสืบในคดีย่อมตกแก่ผู้ร้องที่จะต้องนำสืบให้ได้ความตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1446 ตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 2 งาน 63 ตารางวา พร้อมบ้าน 2 หลัง ที่อยู่ในที่ดินพิพาท หลังแรกเลขที่ 123/1 หลังที่สองไม่มีเลขที่ หมู่ที่ 6 ตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นางแก้ว โพธิ์ทอง ซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องและจำเลยได้ยกที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1446 ตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ให้แก่ผู้ร้องกับจำเลยคนละครึ่ง แต่ใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยตกลงว่าจะใส่ชื่อผู้ร้องในภายหลังและผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ขอให้ศาลมีคำสั่งให้กันส่วนของผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทพร้อมบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินร่วมกับจำเลยคนละครึ่งหรือไม่ ผู้ร้องเบิกความถึงเหตุผลแห่งการที่ที่ดินพิพาทระบุชื่อจำเลยเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนางแก้วซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องและจำเลย ต่อมานางแก้วประสงค์จะยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องกับจำเลยคนละครึ่ง แต่เนื่องจากต้องการนำที่ดินไปจำนองธนาคารจึงใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของคนเดียวก่อน จำเลยจึงได้ทำหนังสือให้สัญญาไว้ว่าจะต้องใส่ชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของรวมในภายหลัง เห็นว่า แม้ผู้ร้องจะมีนางแก้วและจำเลยมาเบิกความรับรองข้อตกลงก็ตามแต่พยานผู้ร้องทุกคนดังกล่าวล้วนเป็นเครือญาติใกล้ชิดและมีส่วนได้เสียโดยตรงในคดีนี้ทั้งสิ้น จึงมีน้ำหนักน้อย อีกทั้งยังปรากฏว่ามีบุคคลที่ได้ลงชื่อเป็นพยานในข้อตกลงอีก 2 คน คือ นายสนอง สุขภิญโญ และนายเล็ก สุทธิบุตร แต่ผู้ร้องก็หาได้นำบุคคลทั้งสองมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลไม่ และในประการสำคัญที่สุด คือ ข้ออ้างตามทางนำสืบของพยานผู้ร้องที่พยานผู้ร้องทั้งสามคนเบิกความตรงกันว่าเหตุที่ต้องใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของคนเดียวก่อนเนื่องจากจะต้องนำที่ดินพิพาทไปจำนองธนาคารนั้น แม้ผู้ร้องจะพยายามนำสืบว่าทำขึ้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2537 อันเป็นเวลาภายหลังวันที่นางแก้วยกที่ดินพิพาทให้จำเลยเพียงวันเดียว ดังที่ปรากฏในสารบัญจดทะเบียนหลัง น.ส.3 ก. ที่ระบุว่าการจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยกระทำในวันที่ 17 ตุลาคม 2537 และต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2537 จำเลยก็ได้นำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรซึ่งสอดคล้องตรงกันกับข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องพยายามนำสืบต่อศาลก็ตามแต่ข้อนำสืบดังกล่าวก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะสนับสนุนให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียวก่อนแต่อย่างใด เพราะแม้หากจะใส่ชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทด้วย ทั้งจำเลยและผู้ร้องก็สามารถนำที่ดินพิพาทไปจำนองกับธนาคารหรือโจทก์ได้เว้นแต่ว่าผู้ร้องและจำเลยจะตั้งใจสมคบกันที่จะฉ้อฉลธนาคารรวมทั้งโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้มาแต่ต้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ต้องถือว่าผู้ร้องมีเจตนาที่จะใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมาตั้งแต่แรก เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ที่บัญญัติว่า “ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต” ผู้ร้องย่อมไม่อาจอ้างการฉ้อฉลหรือกระทำโดยไม่สุจริตดังกล่าวมาร้องขอความยุติธรรมจากศาลได้พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบดังที่ได้วินิจฉัยมาจึงขัดต่อเหตุผลและมีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ ส่วนที่ผู้ร้องอ้างในฎีกาว่า คดีนี้โจทก์มิได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานของผู้ร้องศาลล่างทั้งสองชอบที่จะต้องฟังข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของผู้ร้องนั้น เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ซึ่งระบุชื่อจำเลยแต่ผู้เดียวเป็นเจ้าของ กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ที่บัญญัติว่า “ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง” เมื่อผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องมีสิทธิครอบครองร่วมด้วยครึ่งหนึ่ง ทั้งที่ปรากฏว่าที่ดินพิพาทระบุว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแต่ผู้เดียว โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นำสืบในคดีนี้ย่อมตกแก่ผู้ร้องที่จะต้องนำสืบให้ได้ความตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง เมื่อพยานหลักฐานของผู้ร้องดังที่ได้วินิจฉัยมาไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยครึ่งหนึ่งดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างแล้ว แม้โจทก์จะมิได้นำพยานมาสืบหักล้าง ศาลก็ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องนำสืบได้ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาต้องกันให้ยกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน