คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำตามฟ้องและจำเลยรับเป็นการกระทำอันมีลักษณะคล้ายคลึงกับการประกันชีวิตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861, 889 เพราะจำเลยตกลงจะใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่ผู้รับประโยชน์ในเหตุการณ์อันเป็นมรณะของผู้เป็นสมาชิกในอนาคต และจำเลยจะใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่ผู้รับประโยชน์หรือไม่ ย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้เป็นสมาชิก ดังนี้ ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงเศรษฐการ การกระทำที่ไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน ฯ และการที่บริษัทจำกัดจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการดังกล่าวตามวัตถุประสงค์ที่ว่า ดำเนินการอันเป็นกุศลหรือสงเคราะห์ผู้ถือหุ้นและลูกค้านั้นโดยมิได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำด้วย ต้องมีความผิดด้วย และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 ในตอนต้นและตอนหลังเป็นกิจการคล้ายคลึงกับการประกันชีวิตอันเดียวกันและยังไม่สิ้นระยะเวลาตามระเบียบข้อตกลงในกิจการที่จำเลยกระทำ จึงไม่ขาดอายุความฟ้องร้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ จำเลยที่ ๒ กับพวกได้ร่วมกันเริ่มก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ ๑ ต่อมาวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๐๑ ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด โดยจำเลยที่ ๒ เป็นประธานกรรมการและผู้จัดการ
ก.เมื่อระหว่างวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ ถึงวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๐๑ กลางวันและกลางคืน จำเลยที่ ๑ ซึ่งยังมิได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด กับจำเลยที่ ๒ ได้ประกอบกิจการอันมีสภาพคล้ายคลึงกับการประกันชีวิตขึ้น โดยจำเลยที่ ๒ ได้จัดการเปิดรับสมัครสมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์และการกุศลในนามบริษัท และได้โฆษณาชักชวนให้ประชาชนให้เข้าเป็นสมาชิกดังกล่าว โดยวางระเบียบเงื่อนไขว่า ผู้สมัครเป็นสมาชิกต้องชำระเงินครั้งแรก ๕๐๐ บาท ถ้าถึงแก่กรรมใน ๖ เดือน ๖ เดือนล่วงแล้ว ๑ ปีล่วงแล้ว ๒ ปีล่วงแล้ว ๓ ปีล่วงแล้ว ๔ ปีล่วงแล้ว ๕ ปีล่วงแล้ว ผู้รับประโยชน์จะได้รับเงิน ๕๐๐ บาท ๖๐๐ บาท ๑,๐๐๐ บาท ๒,๐๐๐ บาท ๓,๐๐๐ บาท ๔,๐๐๐ บาท ๕,๐๐๐ บาท ตามลำดับ เมื่อผู้มีชื่อหลายคนสมัครเข้าเป็นสมาชิก อันเป็นการประกอบกิจการอันมีสภาพคล้ายคลึงกับการประกันชีวิต ซึ่งเป็นการประกอบกิจการประกันภัยโดยมิได้รับอนุญาตจากกระทรวงเศรษฐการ
ข. เมื่อจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๐๑ แล้ว โดยจำเลยที่ ๒ เป็นประธานกรรมการและผู้จัดการ มิได้มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการประกันภัยหรือกิจการอันมีสภาพคล้ายคลึง จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ กระทำผิด คือ เมื่อระหว่างวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๐๑ ถึงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๐๗ เวลากลางวันและกลางคืน ได้ร่วมกันประกอบกิจการโดยมีระเบียบและเงื่อนไขดังข้อ ก. โฆษณาชักชวนประชาชนให้เข้าเป็นสมาชิก มีบุคคลหลายร้อยคนเข้าเป็นสมาชิก จำเลยทั้ง ๒ มิได้รับอนุญาตจากกระทรวงเศรษฐการ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยและผาสุกของประชาชน พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๗, ๘ ; (ฉบับที่ ๓) มาตรา ๓ ฯลฯ
จำเลยให้การรับว่า ได้กระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องจริง จำเลยที่ ๒ เป็นประธานกรรมการและผู้จัดการบริษัทจำเลยจริง ขอต่อสู้ปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยในฟ้องตอนต้นขาดอายุความ ส่วนตอนหลังไม่เป็นความผิด เพราะอยู่ในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ โจทก์ไม่สืบพยานบุคคล แต่ส่งเอกสาร จ.๑ และ จ.๓ เป็นพยาน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ ๒ ก่อนจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดขาดอายุความ ส่วนนับแต่จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดแล้ว เป็นการกระทำที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ ไม่ผิดกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำก่อนจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ขาดอายุความ ส่วนการกระทำภายหลังจดทะเบียนเป็นการกระทำนอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ทำผิด จำเลยที่ ๒ ทำแต่ผู้เดียว พิพากษาแก้ ลงโทษจำเลยที่ ๒ ตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง ปรับ ๓,๐๐๐ บาท ลดรับสารภาพ ๑ ใน ๓ คงปรับ ๒,๐๐๐ บาท นอกนั้นยืน
โจทก์จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีได้ความตามโจทก์ฟ้อง และจำเลยทั้งสองรับแล้วเห็นว่าการกระทำนั้นปรากฏชัดอยู่ในตัวว่าเป็นการกระทำอันมีลักษณะคล้ายคลึงกับการประกันชีวิตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๖๑, ๘๘๙ เพราะจำเลยทั้งสองตกลงจะใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่ผู้รับประโยชน์ในเหตุการณ์อันเป็นความมรณะของผู้เป็นสมาชิกในอนาคตและจำเลยทั้งสองจะใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่ผู้รับประโยชน์หรือไม่ ย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้เป็นสมาชิก การกระทำดังนี้ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงเศรษฐการ จึงเป็นการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง
สำหรับจำเลยที่ ๑ เห็นว่า วัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ ที่ว่าดำเนินการอันเป็นกุศลหรือสงเคราะห์ผู้ถือหุ้นและลูกค้านั้น จำเลยที่ ๑ ได้ดำเนินการแล้วโดยเปิดรับสมัครสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ขึ้นร่วมกับจำเลยที่ ๒ และรับเอากิจการนี้เป็นกิจการของจำเลยที่ ๑ นับแต่วันที่จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดตลอดมา ถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ แล้วแต่จำเลยที่ ๑ มิได้รับอนุญาตให้ดำเนินเป็นกิจการดังกล่าวนี้ตามกฎหมาย จำเลยที่ ๑ จึงมีความผิดตามโจทก์ฟ้อง
สำหรับจำเลยที่ ๒ เห็นว่า กรณีเป็นกรณีเกี่ยวกับการกระทำและเป็นการร่วมกันกระทำ แม้การกระทำจะอยู่ในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ เมื่อการกระทำนั้นเป็นความผิด จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ ร่วมกระทำด้วย ก็ต้องมีความผิดด้วย และเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ ๒ ในตอนต้นและตอนหลังเป็นกิจการคล้ายคลึงกับการประกันชีวิตอันเดียวกัน และยังไม่สิ้นระยะเวลาตามระเบียบข้อตกลงในกิจการที่จำเลยกระทำ ไม่ขาดอายุความ
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยและผาสุกของประชาชน พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๗, ๘ ; (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๓ ปรับคนละ ๓,๐๐๐ บาท ลดโทษ ๑ ใน ๓ ตามมาตรา ๗๘ คงปรับคนละ ๒,๐๐๐ บาท นอกนั้นยืน.

Share