คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6368/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินคิดคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นการเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ของคนงานตามมติของคณะกรรมการพิจารณาภาษีอากร (กพอ.) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแล้วโจทก์จะกลับมาอ้างภายหลังว่าการคำนวณภาษีด้วยวิธีนี้ไม่ถูกต้องโดยต้องคำนวณตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากรนั้น เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินไม่อาจคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายดังที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าวได้ เพราะโจทก์ไม่สามารถนำสืบฐานะทางครอบครัวของคนงานของโจทก์ว่า มีภริยาและบุตรหรือไม่ ทั้งโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคนงานที่ปรากฏชื่อในใบสำคัญการจ่ายเงินมีตัวตนอยู่หรือไม่ และโจทก์ได้จ่ายค่าจ้างไปจริงหรือไม่ เช่นนี้แม้มติของคณะกรรมการพิจารณาภาษีอากรเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติในการคำนวณภาษีและไม่มีกฎหมายรับรอง โจทก์ได้ให้ความยินยอมในการคำนวณภาษีตามแนวทางปฏิบัตินั้นแล้ว การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามจึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้ได้แจ้งการประเมินและเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมแก่โจทก์ อ้างว่าโจทก์จ่ายภาษีเงินได้พึงประเมินให้แก่คนงานโดยไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย และไม่นำส่ง ต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้และเงินเพิ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๙-๒๕๒๑ เป็นเงิน ๓๐,๔๖๔.๕๐ บาท โจทก์ยื่นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์โจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วย เพราะเงินค่าจ้างคนงานที่โจทก์จ่ายแก่คนงานเป็นค่าจ้างรายวัน วันละ ๓๕ บาท ต่อคนเมื่อคำนวณตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๕๐(๑) แล้ว คนงานไม่ต้องเสียภาษีอากรเงินดังกล่าวจึงมิใช่เงินได้พึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๙ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง ทั้งการที่เจ้าพนักงานประเมินภาษีโดยวิธีเหมาจ่ายร้อยละ ๓ ของเงินได้พึงประเมิน ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๕๑ (๑) แม้จะมีมติของคณะกรรมการพิจารณาภาษีอากร ให้ประเมินเหมาจ่ายร้อยละ ๓ ได้ ก็เป็นมติที่ไม่มีกฎหมายรับรองและเป็นมติที่ไม่ชอบ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชำระภาษีหัก ณ ที่จ่าย และเงินเพิ่ม ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
จำเลยทั้งสามให้การว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ยอมรับแล้วว่าโจทก์ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย โจทก์จึงต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้และเงินเพิ่ม ทั้งโจทก์ก็ได้ขอร้องให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ ๓ อีกด้วยขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายของโจทก์ต้องคำนวณตามมาตรา ๕๐(๑) แห่งประมวลรัษฎากร จะคำนวณตามมติของคณะกรรมการพิจารณาภาษีอากร (กพอ.) ที่ให้คำนวณภาษีอัตราร้อยละ ๓ ของเงินได้ผู้มีรายได้นั้นไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรับรองให้อำนาจคณะกรรมการดังกล่าวลงมติมาบังคับได้ แม้โจทก์จะยินยอมให้คำนวณภาษีเช่นนั้นมาแล้วก็ตาม เห็นว่า การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ในคดีนี้เจ้าพนักงานประเมินและจำเลยทั้งสามได้คิดคำนวณเป็นการเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ ๓ ของเงินได้ของคนงานนั้น เป็นไปตามที่นายเธียรวิทย์หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ได้ให้ความยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินกระทำเช่นนั้นได้ ทั้งเจ้าพนักงานประเมินและจำเลยทั้งสามก็ได้ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการพิจารณาภาษีอากร (กพอ.) ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข ๖ ซึ่งระบุว่า ในกรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐(๑) และ (๒) แห่งประมวลรัษฎากรที่จ่ายเป็นรายวันให้กับผู้มีเงินได้แต่ละคนไม่เกินคนละวันละ ๑๐๐ บาท ผู้จ่ายจะหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ ๓ ของเงินได้พึงประเมินที่จ่ายนั้นโดยไม่ต้องคำนวณตามวิธีที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๐(๑) แห่งประมวลรัษฎากรก็ได้ เว้นแต่ผู้จ่ายรายใดประสงค์จะคำนวณหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย ตามวิธีการคำนวณดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๐(๑) แห่งประมวลรัษฎากรก็ให้ปฏิบัติได้ สำหรับกรณีของโจทก์นี้เห็นได้ชัดว่า เจ้าพนักงานประเมินและจำเลยทั้งสามไม่อาจคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายตามวิธีการคำนวณดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๐(๑) แห่งประมวลรัษฎากรได้ เนื่องจากโจทก์ไม่มีหลักฐานที่จำเป็นมาแสดงและจะคำนวณภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย โดยถือว่าคนงานไม่มีภริยาและบุตรก็มิได้ เพราะจำนวนคนงานยังไม่แน่นอนโดยโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าลูกจ้างที่ปรากฏชื่อในใบสำคัญจ่ายเงินมีตัวตนหรือไม่และ โจทก์ได้จ่ายค่าจ้างไปจริงหรือไม่ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจทำการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีอากรจากพยานหลักฐานที่ปรากฏได้ เมื่อโจทก์ยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินคิดคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นการเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ ๓ ของเงินได้ของคนงานเช่นนี้ โจทก์จะอ้างภายหลังว่า การคำนวณภาษีด้วยวิธีนี้ไม่ถูกต้องนั้นไม่ได้แม้มติคณะกรรมการพิจารณาภาษีอากร (กพอ.) เป็นเพียงแนวทางปฏิบัติในการคำนวณภาษีและไม่มีกฎหมายรับรอง แต่โจทก์ก็ได้ให้ความยินยอมในการคำนวณภาษีตามแนวทางปฏิบัตินั้นแล้ว เห็นว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน

Share