คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6366/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มีทั้งบทบัญญัติที่เป็นส่วนแพ่งและส่วนอาญา สำหรับบทบัญญัติในส่วนแพ่ง เช่น ขอให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารระงับการก่อสร้างหรือสั่งให้รื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารโดยไม่ได้ขอให้ลงโทษจำเลยในทางอาญา
สำหรับกรณีคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทางอาญาตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยไม่ได้ฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทซึ่งเป็นบทบัญญัติในส่วนแพ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารพิพาทโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งให้จำเลยระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารพิพาท แต่จำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 65และมาตรา 42, 66 ทวิ และเป็นความผิดทางอาญาตามมาตรา 66 ทวิ วรรคสองซึ่งนอกจากต้องระวางโทษตามมาตรา 66 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินสามหมื่นบาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ดังนี้ การกระทำความผิดของจำเลยตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงแยกได้เป็นสองส่วน ได้แก่ความรับผิดในทางแพ่ง คือ การรื้อถอนอาคารพิพาทซึ่งก่อสร้างฝ่าฝืนมาตรา 21 ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนหรือร้องขอต่อศาลให้บังคับให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ตามมาตรา 42
สำหรับกรณีของจำเลยนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในทางอาญา โดยไม่ได้ขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทซึ่งเป็นความรับผิดในทางแพ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารพิพาทโดยผิดกฎหมาย และเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาท จำเลยได้ทราบคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตามจำเลยจึงมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง แม้จำเลยจะได้โอนกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทไปให้บุคคลภายนอกก็ตาม ก็ไม่ทำให้ความรับผิดในทางอาญาของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป จำเลยยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาไปจนกว่าอาคารพิพาทจะได้มีการรื้อถอน เพราะหากยอมให้จำเลยไม่ต้องรับผิดเมื่อโอนอาคารพิพาทให้แก่บุคคลภายนอก คำพิพากษาก็จะไร้ผลบังคับ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระค่าปรับรายวันจนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงชอบแล้ว

Share