คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6362/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างไม่ได้ตัวโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1ผู้ซึ่งขับรถยนต์ที่ชนกันทั้งสองคันมาเบิกความต่อศาล แม้จำเลยที่ 2 จะมีสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมาแสดงว่าพนักงานสอบสวน เปรียบเทียบปรับโจทก์ที่ 2 ให้ข้อหาขับรถโดยประมาท แต่รายงานดังกล่าวเป็นเพียงพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่ จำเลยที่ 2 อ้างเข้ามาเพื่อสนับสนุนข้ออ้างข้อเถียงของตนซึ่งศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำมาสืบนั้นเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ เมื่อนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายความเสียหายของรถยนต์เกิดเหตุทั้งสองคันแล้วปรากฏว่าข้อเท็จจริงขัดกัน เชื่อว่าเหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ตามที่ปรากฏในภาพถ่าย แม้โจทก์จะมิได้ส่งสำเนาเอกสารค่าซ่อมรถให้จำเลยแต่ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบเพราะโจทก์ได้แนบภาพถ่ายใบเสนอราคาและใบสั่งจ่ายที่โจทก์ชำระค่าซ่อมรถมาท้ายฟ้องทั้งเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลจึงมีอำนาจรับฟังได้ เอกสารที่ต้นฉบับหายศาลชั้นต้นยอมให้สืบพยานบุคคลประกอบสำเนาภาพถ่าย ถือได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้นำสำเนาภาพถ่ายมาสืบจึงรับฟังเอกสารดังกล่าวได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน
สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8ช-9457 กรุงเทพมหานครจากนายวีระ เจริญรักษ์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2534 เวลาประมาณ1.30 นาฬิกา ขณะที่นายปรีชากร สมิตะสิริ ขับรถยนต์คันดังกล่าวมาตามถนนรัชดาภิเษก มุ่งหน้าไปทางสี่แยก อ.ส.ม.ท.ในช่องเดินรถที่ 4 ชิดเกาะกลางถนน ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถรับจ้างสาธารณะหมายเลขทะเบียน 2ท-2398 กรุงเทพมหานครมาในช่องเดินรถที่ 3 เมื่อถึงบริเวณหน้าศูนย์การค้าโรบินสันจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์เปลี่ยนช่องเดินรถอย่างกะทันหัน ตัดหน้ารถยนต์ที่นายปรีชากรขับอยู่เพื่อเลี้ยวกลับบริเวณเกาะกลางถนนเป็นเหตุให้รถยนต์ที่นายปรีชากรขับไม่สามารถห้ามล้อหยุดได้ทัน จึงเฉี่ยวชนกับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับและเบียดเกาะกลางถนนพลิกคว่ำได้รับความเสียหายโจทก์จ่ายค่าซ่อมแซมรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8ช-9457 กรุงเทพมหานคร ไปเป็นเงิน230,000 บาท และได้รับช่วงสิทธิในการเรียกค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสาม ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะเจ้าของผู้ครอบครอง ผู้ประกอบการต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวต่อโจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 230,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุความเสียหายของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8ช-9457 กรุงเทพมหานคร เกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวเองเนื่องจากขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงจะแซงขึ้นหน้ารถยนต์รับจ้างสาธารณะในระยะกระชั้นชิดแต่แซงไม่พ้น จึงเกิดเฉี่ยวชนกัน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2ท-2398 กรุงเทพมหานคร มาจอดรอกลับรถบริเวณจุดกลับรถหน้าห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ถนนรัชดาภิเษก ขณะนั้นนายปรีชากรขับรถยนต์ตามหลังรถยนต์จำเลยที่ 1 มาด้วยความเร็วสูงปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับได้รับความเสียหาย นายปรีชากรรับว่าเป็นฝ่ายประมาทยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับ1,000 บาท ความเสียหายของโจทก์ในคดีนี้หากมีก็จะไม่เกิน5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังจำเลยที่ 2 ฟ้องว่า นายเลียงผู้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์มาตามถนนรัชดาภิเษกจากสี่แยกห้วยขวางมุ่งหน้าไปทางสี่แยก อ.ส.ม.ท. ในช่องเดินรถขวาสุด ได้จอดรถยนต์รอให้รถยนต์ที่แล่นสวนทางมาในช่องเดินรถฝั่งตรงข้ามผ่านพ้นไปก่อนค่อยเลี้ยวกลับ ขณะนั้นโจทก์ที่ 2 ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 3 ในทางการที่จ้างของโจทก์ที่ 3 ด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้ห้ามล้อรถยนต์ไม่ทันชนกันกับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,000 บาท จำเลยที่ 2เสียค่าซ่อมรถยนต์เป็นเงิน 137,489 บาท ค่าลากรถยนต์เป็นเงิน800 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการให้เช่ารถรับจ้างสาธารณะเป็นเวลา 100 วัน เป็นเงิน 60,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 208,218.45 บาท โจทก์ที่ 1ในฐานะผู้รับประกันภัยต้องร่วมรับผิดต่อจำเลยที่ 2 ด้วย ขอให้บังคับโจทก์ทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 208,218.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 198,289 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสามให้การว่า โจทก์ที่ 2 ขับรถยนต์ในช่องเดินรถขวาสุดชิดเกาะกลางถนนจากสี่แยกห้วยขวางมุ่งหน้าไปทางสี่แยกอ.ส.ม.ท. ขณะนั้นนายเลียงขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2นำหน้ารถยนต์คันที่โจทก์ที่ 2 ขับทางซ้ายมือ เมื่อถึงที่เกิดเหตุนายเลียงเปลี่ยนช่องเดินรถมาทางขวามืออย่างกะทันหันไม่ให้สัญญาณ ตัดหน้ารถยนต์ที่โจทก์ที่ 2 ขับอยู่เป็นเหตุให้รถยนต์ชนกันได้รับความเสียหาย รถยนต์รับจ้างสาธารณะของจำเลยที่ 2เสียหายเพียงเล็กน้อย เสียค่าซ่อมแซมไม่เกิน 40,000 บาทระยะเวลาการซ่อมไม่เกิน 30 วัน ค่าขาดประโยชน์ของจำเลยที่ 2จากการให้เช่ารถยนต์ไม่เกิน 9,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่1 มกราคม 2534 เวลาประมาณ 1.30 นาฬิกา รถยนต์หมายเลขทะเบียน 8ช-9457 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 3 ซึ่งโจทก์ที่ 2เป็นผู้ขับได้ชนกับรถยนต์รับจ้างสาธารณะหมายเลขทะเบียน 2ท-2398กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ถนนรัชดาภิเษก คดีสำนวนแรกศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมชำระเงิน 150,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยที่ 2 ฎีกาจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เหตุที่รถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ 2 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 สำหรับสำนวนแรกไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเฉพาะข้อกฎหมายและฎีกาของจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลัง
ประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า เหตุที่รถเกิดชนกันเกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 2 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างไม่ได้ตัวโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1ผู้ซึ่งขับรถยนต์ที่ชนกันทั้งสองคันมาเบิกความต่อศาลจึงไม่ได้ความแน่ชัดว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาทจนเป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันเกิดชนกัน ทั้งพยานบุคคลของทั้งสองฝ่ายที่มาเบิกความต่อศาลก็เป็นเพียงพยานบอกเล่ามิได้รู้เห็นเหตุการณ์มาด้วยตนเอง แต่ปรากฏว่าทั้งโจทก์และจำเลยต่างอ้างเอกสารและภาพถ่ายของรถยนต์ที่ถูกชนต่อศาล คือ โจทก์อ้างภาพถ่ายรถยนต์ของโจทก์ที่ถูกชนหมาย จ.5 และรถยนต์ของจำเลยที่ถูกชนหมาย จ.6 จำเลยอ้างภาพถ่ายรถยนต์ของจำเลยที่ถูกชนหมาย ล.3 และสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.5 ถึง ล.7 ศาลฎีกาตรวจดูภาพถ่ายของรถยนต์ที่ชนกันทั้งสองคันแล้วเห็นว่ารถยนต์ที่โจทก์ที่ 2 ขับเสียหายบริเวณด้านหน้าและหลังคารถกับปรากฏรอยชนอยู่ตรงบริเวณไฟหน้าด้านซ้าย โดยมีสีแดงของรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับติดอยู่ ส่วนรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ ปรากฏรอบชนตรงบริเวณบังโคลนหลังด้านขวาเหนือล้อ และรอยชนดังกล่าวยังลื่นไถลไปทางประตูหลังขวามือ แสดงว่า รถยนต์ที่จำเลยที่ 1ขับจะต้องแล่นตัดหน้ารถยนต์ที่โจทก์ที่ 2 ขับ รถยนต์ที่โจทก์ที่ 2ขับจึงชนตรงบริเวณไฟหน้าด้านซ้าย และรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับถูกชนตรงบริเวณบังโคลนหลังด้านขวา ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ขับรถมาโดยเร็วและเปลี่ยนช่องเดินรถโดยกะทันหันตัดเข้ามาในช่องเดินรถของรถยนต์ที่โจทก์ที่ 2 ขับ รถยนต์ที่โจทก์ที่ 2 ขับจึงชนตรงบริเวณไฟหน้าด้านซ้าย ถูกตรงบริเวณบังโคลนหลังด้านขวาแล้วลื่นไถลไปถึงประตูหลังด้านขวาของรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับเหตุที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 มิใช่เกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 2 แต่ประการใด แม้จำเลยที่ 2จะมีสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีตามเอกสารหมาย ล.5ถึง ล.7 มาแสดงว่าพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับโจทก์ที่ 2ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเงิน 1,000 บาท ก็ตามแต่รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเป็นเพียงพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่จำเลยที่ 2 อ้างเข้ามาเพื่อสนับสนุนข้ออ้างข้อเถียงของตนซึ่งศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำมาสืบนั้นเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 เมื่อศาลฎีกานำข้อเท็จจริงที่ปรากฎในสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวนั้นมาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายความเสียหายของรถยนต์เกิดเหตุทั้งสองคันตามภาพถ่ายหมาย จ.5, จ.6 และ ล.3แล้ว ปรากฏว่าข้อเท็จจริงขัดกัน ศาลฎีกาเชื่อว่าเหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ตามที่ปรากฏในภาพถ่ายหมาย จ.5จ.6 และ ล.3 จริง ตามบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้น ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อสองมีว่าบิลเงินสดค่าซ่อมรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 เอกสารหมาย จข.7 และใบสั่งจ่ายที่โจทก์ที่ 1 ชำระค่าซ่อมรถเอกสารหมาย จ.9 รับฟังไม่ได้โดยโจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.7 ให้จำเลยที่ 2และโจทก์ไม่ได้ส่งต้นฉบับเอกสารหมาย จ.9 ต่อศาล คงส่งเพียงสำเนาภาพถ่ายนั้นศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะมิได้ส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.7 ให้แก่จำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2เสียเปรียบเพราะโจทก์ได้แนบภาพถ่ายใบเสนอราคาและใบสั่งจ่ายที่โจทก์ที่ 1 ชำระค่าซ่อมรถมาท้ายฟ้อง ทั้งเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลอุทธรณ์มีอำนาจรับฟังเอกสารหมาย จ.7 นั้นได้ ส่วนเอกสารหมาย จ.9 นั้น ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 แถลงต่อศาลชั้นต้นแล้วว่า หาต้นฉบับเอกสารดังกล่าวไม่พบ จึงขอส่งสำเนาภาพถ่ายต่อศาลก่อน ต่อมาปรากฏว่าศาลชั้นต้นให้โจทก์ที่ 1 สืบพยานบุคคลประกอบสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.9 ถือได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ที่ 1นำสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.9 มาสืบ ฉะนั้น ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจรับฟังเอกสารหมาย จ.9 นั้นได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อสุดท้ายมีว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นเป็นพับไปแล้วจึงเป็นการไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นอีกนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับ (ที่ถูกเป็นมีคำพิพากษาแก้) คำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ จำเลยที่ 2ย่อมตกเป็นผู้แพ้คดีและถือว่าจำเลยที่ 2 แพ้คดีในศาลชั้นต้นด้วยความรับผิดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 วรรคแรกตอนต้น พิพากษาให้จำเลยที่ 2ผู้แพ้คดีต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share