คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 636/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมทำขึ้น 2 ฉบับ ข้อความเหมือนกัน ฉบับหนึ่งที่คู่ความนำส่งศาลนั้นทำครบถ้วนตามแบบพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่งทำไม่ครบถ้วนถูกต้องและคู่ความอีกฝ่ายก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าฉบับที่ทำถูกต้องนั้นใช้ไม่ได้ ดังนี้ฉบับที่ทำไม่ถูกต้องไม่ทำให้ฉบับที่สมบูรณ์พลอยเสียไปด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกมรดก

จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอแบ่งมรดกว่า ทรัพย์บางอันดับเป็นของนางเหรียญมารดาโจทก์กับของจำเลยที่ 1 คนละครึ่ง บางอันดับนางเหรียญทำพินัยกรรมยกให้จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว บางอันดับนางบุญมารดาจำเลยที่ 1 ทำพินัยกรรมยกให้จำเลยที่ 1

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งมรดก และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

โจทก์จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้หักเงินที่จำเลยใช้หนี้แทนผู้ตายและเงินค่าทำศพออกจากกองมรดกก่อนแล้วจึงแบ่ง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าเฉพาะในข้อที่โจทก์ฎีกาว่าพินัยกรรมของนางบุญไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น ปรากฏว่าในการทำพินัยกรรมคราวนี้ได้เขียนพินัยกรรมขึ้น 2 ฉบับ ข้อความเหมือนกัน ฉบับที่จำเลยนำส่งศาลมีลายมือชื่อนางบุญผู้ทำพินัยกรรม และมีพยานผู้นั่งพินัยกรรมเซ็นชื่อเป็นพยานทั้ง 4 คนโดยเรียบร้อย ส่วนอีก 1 ฉบับที่นายเรียงกำนัน (พยานจำเลย) ส่งศาลในขณะเบิกความนั้นมีนายเรียงเซ็นชื่อผู้เดียว พยานอีก 3 คนไม่ได้เซ็นชื่อด้วย ดังนี้กฎหมายลักษณะพินัยกรรมมิได้บังคับให้จำเลยต้องทำพินัยกรรมเป็น 2 ฉบับ ฉะนั้นเมื่อพินัยกรรมฉบับที่จำเลยอ้างต่อศาลครบถ้วนตามแบบแล้ว ก็ใช้ได้ตามกฎหมาย และโจทก์ก็มิได้ปฏิเสธว่าพินัยกรรมฉบับนี้ใช้ไม่ได้ เมื่อเอกสารแผ่นหนึ่งไม่ใช่พินัยกรรมที่สมบูรณ์ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับเอกสารแผ่นนั้นเอง ไม่ทำให้พินัยกรรมที่สมบูรณ์พลอยเสียไปด้วย

ส่วนฎีกาข้ออื่นศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่ามีพินัยกรรมยกทรัพย์ให้แก่จำเลยจริง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง

พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share