คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6354/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 2 จะได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับพระภิกษุส. ไว้แล้ว ตั้งแต่ปี 2528 และชำระราคาครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่พระภิกษุ ส. ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 จนพระภิกษุ ส. ถึงแก่มรณภาพในปี 2530 เมื่อชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังเป็นของพระภิกษุ ส. อยู่ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของพระภิกษุ ส. ที่ได้มาระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623ให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาในขณะที่พระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ ดังนั้นเมื่อพระภิกษุ ส. ถึงแก่มรณภาพกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสมบัติของวัดศรีบุญเรืองตามกฎหมายและถือว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดศรีบุญเรืองด้วย ตาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 33(2)กรณีต้องบังคับตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ มาตรา 34ซึ่งบัญญัติให้ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติฯ และห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องสิทธิอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ ดังนั้น จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุ ส.หรือวัดศรีบุญเรืองจึงไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลใด ๆได้ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150นิติกรรมดังกล่าวจึงเสียเปล่ามาแต่แรกโดยศาลไม่จำเป็นต้องเพิกถอน และโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1หรือวัดศรีบุญเรืองจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทและชำระราคาแก่พระภิกษุ ส.ครบถ้วนแล้วได้เพราะวัดศรีบุญเรืองซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมามีฐานะเป็นวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ จึงเป็นนิติบุคคลตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 72(1)ต่างหากจากพระภิกษุ ส. ผู้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับพระภิกษุ ส. และชำระราคาที่ดินครบถ้วนแล้วหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2522 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 24445 จากพระภิกษุสมาน สมบูรณ์จริงในราคา 150,000 บาท ต่อมาในปี 2524 โจทก์ได้ชำระราคาให้แก่พระภิกษุสมานเสร็จสิ้นตามสัญญา รวมเป็นเงิน 150,000 บาทโจทก์ทวงถามให้พระภิกษุสมานจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญา แต่พระภิกษุสมานอาพาธไม่สามารถดำเนินการได้ จึงได้ผัดผ่อนเรื่อยมา และได้ส่งมอบที่ดินตามสัญญาให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อมาในปี 2530พระภิกษุสมานมรณภาพที่วัดศรีบุญเรือง จำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุสมานตามคำสั่งของศาลจังหวัดขอนแก่น มีหน้าที่จะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แต่จำเลยที่ 1 ได้ขอถอนใบแท่นโฉนดที่ดินใหม่ในปี 2535 แล้ว ได้ทำสัญญาจะซื้อขายและจดทะเบียนโอนขายที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายไว้การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนเสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 24445แขวงออเงิน (ท่าแร้ง) เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และการจดทะเบียนจำนองที่ทำลงภายหลังจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทตามฟ้อง ให้จำเลยทั้งสองดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องแก่โจทก์หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองหากไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์ได้ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายหรือค่าทดแทนราคาที่ดินเป็นเงิน30,000.00 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องชำระตามคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การซื้อขายไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อขายกันไว้เป็นหลักฐานจำเลยที่ 1 กับคณะกรรมการวัดจึงปฏิเสธไม่ยอมรับรู้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของพระภิกษุสมานได้จดทะเบียนรับโอนมรดก และจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 บอกให้โจทก์รื้อถอนบ้านเรือนออกไป โจทก์ตกลงจะรื้อและขอค่ารื้อถอน 2,000,000 บาท จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายไม่จำต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบถึงการมรณภาพของพระภิกษุสมาน ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์มิใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิในที่ดินก่อนจำเลยที่ 2 ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินกว่าความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับพระภิกษุสมาน สมบูรณ์จริงโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นอีกต่อไป พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าสัญญาจะซื้อขายและวางมัดจำเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3ที่โจทก์นำสืบมีข้อความไม่ชัดเจน และขัดแย้งกันเองไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดกับพระภิกษุสมาน สมบูรณ์จริง และพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นโจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นคนมีความรู้น้อย และผู้มีชื่อซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากของพระภิกษุสมานเป็นคนเขียนสัญญาตามคำบอกของพระภิกษุสมานเอง แม้ข้อความในสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 จะไม่ชัดเจนเรียบร้อย แต่พยานหลักฐานอื่นของโจทก์ก็มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่าโจทก์ได้ชำระราคาที่ดินตามสัญญาครบถ้วนแล้ว และพระภิกษุสมานได้ส่งมอบสำเนาโฉนดที่ดินและที่ดินแก่โจทก์เข้าครอบครองตั้งแต่วันทำสัญญาเป็นการชำระหนี้บางส่วนแล้วศาลควรรับฟังว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับพระภิกษุสมานตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 และชำระราคาที่ดินแก่พระภิกษุสมานครบถ้วนตามสัญญากับพระภิกษุสมานได้ส่งมอบที่ดินให้โจทก์ครอบครองแล้ว และฎีกาในประเด็นข้ออื่น ๆ ว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้สมคบกันโอนและรับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนเสียเปรียบโจทก์ได้รับความเสียหายฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัย เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า ที่ดินมีโฉนดตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุสมานในปี 2522 พระภิกษุสมานได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ โดยโจทก์ชำระราคาครบถ้วนแล้วในปี 2524 ซึ่งเป็นเวลาที่พระภิกษุสมานยังมีชีวิตอยู่แต่พระภิกษุสมานยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ตามสัญญาและได้ถึงแก่มรณภาพเสียก่อนเมื่อปี 2530ที่วัดศรีบุญเรือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นดังนั้น ขณะถึงแก่มรณภาพพระภิกษุสมานจึงยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททางพิจารณาได้ความว่า พระภิกษุสมานจำพรรษาอยู่วัดศรีบุญเรืองตั้งแต่ปี 2519 จนมรณภาพในปี 2530วัดศรีบุญเรืองจึงเป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุสมาน และตามสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.1ปรากฏว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเดิมได้จดทะเบียนขายแก่พระภิกษุสมานในปี 2516 โดยระบุชื่อผู้รับสัญญาในโฉนดว่า พระภิกษุสมาน สมบูรณ์จริง ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของพระภิกษุสมานที่ได้มาระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 บัญญัติว่าทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้นเมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้นเว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรม ดังนั้น ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุสมานในขณะถึงแก่มรณภาพจึงตกเป็นสมบัติของวัดศรีบุญเรือง โดยผลแห่งบทกฎหมายดังกล่าวแม้ต่อมาศาลจังหวัดขอนแก่นได้มีคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.9ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุสมานตามคำร้องของของวัดศรีบุญเรือง แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะมรดกไม่ได้บัญญัติให้วัดเป็นทายาทโดยธรรมของพระภิกษุที่ถึงแก่มรณภาพ ดังนั้น การที่วัดศรีบุญเรืองร้องขอให้ศาลจังหวัดขอนแก่นตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุสมานจึงไม่ใช่กรณีที่ทายาทของเจ้ามรดกร้องขอให้ศาลตั้งผู้จั ดการมรดกเพื่อจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายและแบ่งปันกันระหว่างทายาท การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของพระภิกษุสมานจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทในสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดจึงมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนทายาทเพื่อแบ่งปันกัน แต่ต้องถือว่าจำเลยที่ 1ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนวัดศรีบุญเรืองซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยผลแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้นสำหรับปัญหาที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับพระภิกษุสมานไว้แล้วตั้งแต่ปี 2528 และชำระราคาแก่พระภิกษุสามเณรครบถ้วนแล้ว ตามเอกสารหมาย ล.2 แต่พระภิกษุสมานก็ไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 จนพระภิกษุสมานถึงแก่มรณภาพในปี 2530 คณะกรรมการวัดศรีบุญเรืองจึงได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2 อีกครั้งหนึ่งในปี 2532 ตามเอกสารหมาย จ.17 และต่อมาจำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 เมื่อปี 2535ตามสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.10 ก็ตาม แต่เมื่อฟังว่าเมื่อพระภิกษุสมานถึงแก่มรณภาพกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตกเป็นสมบัติของวัดศรีบุญเรืองตามกฎหมายแล้ว พระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2505 มาตรา 33(2) บัญญัติว่า ที่ธรณีสงฆ์คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัดดังนั้นจึงต้องถือว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดศรีบุญเรืองด้วย กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 34ซึ่งบัญญัติว่า ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ และห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องสิทธิอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ ดังนั้น จำเลยที่ 1หรือวัดศรีบุญเรืองจึงไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่บุคคลใด ๆ ได้ เพราะต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150นิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1และที่ 2 จึงเสียเปล่ามาแต่แรกโดยศาลไม่จำเป็นต้องเพิกถอนและโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 หรือวัดศรีบุญเรืองจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทและชำระราคาแก่พระภิกษุสมานครบถ้วนแล้ว เพราะวัดศรีบุญเรืองซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมามีฐานะเป็นวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 จึงเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 72(1) ต่างหากจากพระภิกษุสมานผู้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ และวัดศรีบุญเรืองหรือจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์แก่โจทก์ได้เพราะต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 ดังกล่าวข้างต้นดังนั้น ศาลฎีกาจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับพระภิกษุสมาน และชำระราคาที่ดินครบถ้วนแล้วตามเอกสารหมาย จ.2 จ.3 หรือไม่และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น ๆ ตามฎีกาของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share