คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6349/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ก่อนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลาย จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาจากโจทก์แล้ว อันทำให้เกิดมูลหนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิด ต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน หนี้ตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 3 จึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาดอยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้แม้หนี้ตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 3 จะยังไม่ถึงกำหนดชำระในขณะที่จำเลยที่ 3 ถูก พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เพราะจำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัดโจทก์ก็ต้องยื่นขอรับชำระหนี้ตามมูลหนี้สัญญาค้ำประกันในคดีล้มละลายภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 27,91 และ 94 เมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าว จนได้มีการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและ ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลยที่ 3 แล้วโจทก์ก็ต้องถูกผูกมัดโดยการประนอมหนี้ด้วยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 56 โจทก์จะนำหนี้ตามสัญญา ค้ำประกันมาฟ้องให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดและล้มละลายอีกไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาปากเกร็ด เป็นสาขาหนึ่งของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้ต่อโจทก์ สาขาปากเกร็ด ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2526จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีโดยมีจำเลยที่ 3เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ทุกชนิดของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์และยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นหนี้โจทก์คิดถึงวันที่ 23 ธันวาคม 2528 เป็นจำนวน 10,288,795.99 บาทโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 เพิกเฉยโจทก์จึงมีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันและจำเลยทั้งสามได้รับหนังสือทวงถามแล้วแต่ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า นับแต่ พ.ศ. 2527 จำเลยที่ 3พ้นจากตำแหน่งหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 แล้วจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์จำเลยที่ 3 ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายในคดีหมายเลขแดงที่ ล.305/2526 ขณะนี้ยังเป็นบุคคลล้มละลายอยู่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลล้มละลายในคดีนี้อีก ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 จำเลยที่ 3อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 140 กับธนาคารโจทก์ สาขาปากเกร็ด ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2526จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน3,000,000 บาท กำหนดชำระหนี้ภายในวันที่ 27 กันยายน 2527ในวันเดียวกันจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ โจทก์และจำเลยที่ 1 หักทอนบัญชีกันเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2528 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์10,288,795.99 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์แล้วสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และจำเลยทั้งสามได้รับหนังสือทวงถามแล้วแต่ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 6ธันวาคม 2526 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ ล.305/2526 จำเลยที่ 3 ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2528ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า โจทก์จะนำหนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 3 ให้ล้มละลายได้หรือไม่ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ได้ความจากคำเบิกความของนายพรชัย พาณิช พยานโจทก์ว่าหลังจากทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้วได้มีการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินออกไปมากกว่านำเงินเข้าบัญชี และปรากฏตามเช็คเอกสารหมาย จ.17 ที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลเป็นหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวโดยสั่งจ่ายเช็ค ลงวันที่ 30 กันยายน 2526 จำนวนเงิน 175,019.18 บาท วันที่ 18 ตุลาคม 2526 จำนวนเงิน 2,000,000 บาท วันที่ 12 ตุลาคม 2526จำนวนเงิน 592 บาท วันที่ 31 ตุลาคม 2526 จำนวนเงิน 180,853.15บาท วันที่ 9 พฤศจิกายน 2526 จำนวนเงิน 2,343 บาท วันที่ 10พฤศจิกายน 2526 จำนวนเงิน 2,500 บาท วันที่ 14 พฤศจิกายน 2526จำนวนเงิน 651 บาท และวันที่ 30 พฤศจิกายน 2526 จำนวนเงิน175,019.18 บาทเป็นต้น ดังนี้ แสดงให้เห็นว่าก่อนจำเลยที่ 3ถูกพิทักษ์เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ ล.305/2526 ของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาจากโจทก์แล้วอันทำให้เกิดมูลหนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 3 จึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาดอยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้แม้หนี้ตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 3 จะยังไม่ถึงกำหนดชำระในขณะที่จำเลยที่ 3ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เพราะจำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัดโจทก์ก็ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมูลหนี้สัญญาค้ำประกันในคดีหมายเลขแดงที่ ล.305/2526 ของศาลชั้นต้น ภายในกำหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91 และ 94 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าว จนได้มีการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลยที่ 3 แล้ว โจทก์ก็ต้องถูกผูกมัดโดยการประนอมหนี้ด้วยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 56โจทก์จะนำหนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยที่ 3ต้องรับผิดและล้มละลายอีกไม่ได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 153 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share