คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6346/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฎีกา แต่ก่อนจำเลยยื่นคำแก้ฎีกา จำเลยถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเรียก พ. บุตรจำเลยเข้ามาเป็นคู่ความแทน ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์แล้ว คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ พ. เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลย แต่เมื่อ พ. เป็นทายาทของจำเลย ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งตั้ง พ. เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลย
คดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้อง ช. ข้อหาบุกรุกที่ดินพิพาท ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุว่า ช. และจำเลยบุกรุกแย่งการครอบครอง โจทก์มิได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่จำเลยบุกรุกเข้าแย่งการครอบครอง โจทก์ย่อมหมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครอง คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทของโจทก์ได้สิ้นสุดลงแล้ว และคำพิพากษาคดีส่วนอาญาย่อมผูกพันโจทก์และ ช. ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145โจทก์จะมารื้อร้องฟ้องขอให้บังคับจำเลยทายาทของ ช. ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์มีมาก่อนที่ศาลในคดีส่วนอาญาได้พิพากษาไปแล้วและให้ขับไล่จำเลยกับห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอีกไม่ได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกัน

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเชื่อม ซื่อตรง โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 53 เนื้อที่ 35 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2533นายเชื่อมกับพวกบุกรุกเข้ามาปลูกบ้านและพืชผลในที่ดินของโจทก์บางส่วน ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2533 นายเชื่อมกับโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงว่า โจทก์ยอมแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่นายเชื่อม จำนวน 5 ไร่ และช่วยค่าพันธุ์ไม้ที่นายเชื่อมปลูกในที่ดินพิพาทจำนวน 15,000 บาท และนายเชื่อมตกลงว่าจะไม่เรียกร้องสิทธิในที่ดินพิพาทและพืชผลดังกล่าว หลังจากนั้นโจทก์ติดต่อกับนายเชื่อมเพื่อดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาท แต่นายเชื่อมไม่ยินยอมและขัดขวางการรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททำให้ขาดรายได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 5,000 บาท นายเชื่อมถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 13พฤศจิกายน 2538 จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของนายเชื่อม มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ต่อมาเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2539 ถึงเดือนสิงหาคม 2539 จำเลยบุกรุกที่ดินพิพาทโดยปลูกสร้างบ้านตึกชั้นเดียวกว้างประมาณ 8 เมตร ยาวประมาณ 16 เมตร เลขที่ 10/2 ลงบนที่ดินของโจทก์แปลงดังกล่าวนอกเหนือจากพื้นที่ที่โจทก์ตกลงยกให้แก่นายเชื่อมตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้โจทก์ไม่สามารถทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ ต้องขาดประโยชน์ไม่น้อยกว่าเดือนละ 5,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยยินยอมให้โจทก์ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 53 ตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ใส่ชื่อนายเชื่อม ซื่อตรง จำนวน 5 ไร่ พร้อมรับเงินจำนวน 15,000บาท หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้ชำระค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องสำนวนแรกจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้โจทก์รังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทเสร็จ และให้จำเลยพร้อมบริวารรื้อถอนบ้านตึกชั้นเดียว เลขที่ 10/2 หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรีจังหวัดระนอง ออกจากที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 5,000บาท นับแต่วันฟ้องสำนวนหลัง จนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนบ้านและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินของโจทก์เสร็จสิ้น และห้ามจำเลยกับบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเชื่อม ซื่อตรง นายเชื่อมและจำเลยเป็นเจ้าของและได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 53 โดยปลูกบ้านและพืชผลตั้งแต่ปี 2521 โจทก์ไม่ใช่เจ้าของและไม่เคยครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว โจทก์เคยฟ้องนายเชื่อมเป็นคดีอาญาข้อหาบุกรุกต่อมาศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง สัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีผลบังคับ เพราะก่อนทำสัญญานั้นจำเลยและนายเชื่อมได้ครอบครองทำประโยชน์อันเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทเกินกว่า 1 ปีแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปรากฏว่าก่อนยื่นคำแก้ฎีกา จำเลยถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกนางสาวพัชรา ซื่อตรง บุตรจำเลยซึ่งเป็นทายาทจำเลยเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะ ศาลชั้นต้นอนุญาต เห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์แล้ว คดีจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้นางสาวพัชราเข้ามาเป็นคู่าความแทนที่จำเลยผู้มรณะได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบ ให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นางสาวพัชราเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางสาวพัชราเป็นทายาทของจำเลยศาลฎีกาจึงมีคำสั่งตั้งนางสาวพัชรา ซื่อตรง เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยผู้มรณะต่อไป ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ตามที่คู่ความต่างไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ว่า โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 53 ตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง เนื้อที่ 35 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา เมื่อปี 2533 นายนพดล มีกุล ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาแก่นายเชื่อม ซื่อตรง สามีจำเลยในข้อหาบุกรุกที่ดินพิพาทบริเวณพื้นที่ที่ระบายด้วยสีเหลืองตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.5 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4133/2536 ของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 53 ดังกล่าวต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2533 โจทก์และนายเชื่อมทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตกลงกันว่า โจทก์ยินยอมแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่นายเชื่อมจำนวน 5 ไร่ และชำระเงินจำนวน 15,000 บาท ให้แก่นายเชื่อมเป็นค่าพันธุ์ไม้ที่นายเชื่อมปลูกไว้ในที่ดินพิพาทและนายเชื่อมไม่ขอเรียกร้องสิทธิในที่ดินพิพาทและพืชผลตามบันทึกการประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.10 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4133/2536 ของศาลชั้นต้น เมื่อเดือนธันวาคม 2533 โจทก์จะขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่นายเชื่อมตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่นายเชื่อมไม่ยินยอมและแจ้งขอยกเลิกข้อตกลงที่ทำกันไว้ โจทก์จึงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่นายเชื่อมในข้อหาบุกรุกที่ดินพิพาท และพนักงานอัยการจังหวัดระนองได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเชื่อมต่อศาลชั้นต้นผลคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4133/2536 ของศาลชั้นต้น ต่อมานายเชื่อมถึงแก่ความตาย จำเลยได้ปลูกบ้านหลังใหม่ในที่ดินพิพาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นทายาทของนายเชื่อมปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว และโจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า หลังจากที่นายเชื่อมทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ และไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว โจทก์ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่นายเชื่อมในข้อหาบุกรุก ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดระนองได้ฟ้องนายเชื่อมตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4133/2536 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้องด้วยเหตุว่า นายเชื่อมและจำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2528 หรือก่อนปี 2528 อันเป็นการบุกรุกแย่งการครอบครอง เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่จำเลยบุกรุกเข้าแย่งการครอบครอง โจทก์ย่อมหมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองและสิทธิครอบครองของโจทก์ย่อมสิ้นสุดลง คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว ในการวินิจฉัยคดีนี้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทของโจทก์ได้สิ้นสุดลงแล้วและคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และนายเชื่อมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 โจทก์จะมารื้อร้องฟ้องขอให้บังคับจำเลยทายาทของนายเชื่อมปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์มีมาก่อนที่ศาลในคดีส่วนอาญาได้พิพากษาไปแล้ว และให้ขับไล่จำเลยกับห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอีกไม่ได้ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 6155/2534 ระหว่างนางไล พามา โจทก์ นางบัวลา โจรสา จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share