แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
มาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 บัญญัติว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด หรือราคาแห่งของอย่างใดนั้นหมายความว่า ราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร)ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่นำของเข้าหรือส่งออกแล้วแต่กรณี โดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด โจทก์นำของเข้าเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2531 แต่ของตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าที่จำเลยนำมาใช้เปรียบเทียบนำเข้าเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2530 และวันที่ 15กันยายน 2530 อันเป็นการนำเข้าในเวลาที่แตกต่างกันจนไม่อาจจะนำเอาราคามาเทียบกันได้ เมื่อราคาของที่ขายกันตามใบเสนอขาย และใบกำกับสินค้าเป็นไปตามปกติธรรมดาของของที่ซื้อขายกัน ราคานั้นเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ. กรุงเทพมหานคร จึงเป็นราคา ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าซึ่งจะพึงขายได้โดยไม่ขาดทุน อันถือได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อเครื่องจักรโรงงานเกี่ยวกับการรีดอบผ้าจากไต้หวันเข้ามาในราชอาณาจักรไทย จำนวน 1 ชุด เป็นของเก่าที่ผู้ขายเลิกใช้แล้วขายต่อให้โจทก์ เมื่อของมาถึงเขตท่าศุลกากรประเทศไทย โจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเพื่อชำระภาษีอากรขาเข้าต่อจำเลย เจ้าพนักงานศุลกากรของจำเลยตรวจสอบใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าของโจทก์แล้วพอใจในเรื่องพิกัดอัตราภาษีอากรตามที่โจทก์สำแดง แต่ไม่พอใจราคาตามที่โจทก์สำแดงต่อมาเจ้าพนักงานจำเลยได้ประเมินราคาสินค้าโจทก์เพิ่มขึ้น และคำนวณเงินค่าภาษีอากรออกแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีการค้าให้โจทก์ชำระเพิ่ม ซึ่งโจทก์ต้องชำระเพิ่มให้แก่จำเลยตามระเบียบแล้วเป็นเงินอากรขาเข้าเพิ่ม 505,394.17 บาทภาษีการค้าเพิ่ม 199,456.92 บาท และภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่ม19,944.89 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินราคาสินค้าเพิ่มของจำเลย จึงได้มีหนังสืออุทธรณ์โต้แย้งการประเมินราคาและคำนวณเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มต่อจำเลย จำเลยได้พิจารณาแล้วได้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ การที่เจ้าพนักงานของจำเลยประเมินราคาสินค้าของโจทก์เพิ่มขึ้น คำนวณเรียกเก็บเงินค่าภาษีอากรเพิ่มและยกอุทธรณ์ของโจทก์แล้วแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีอากรเพิ่มอีกนั้นก็เป็นการไม่ชอบ ขอให้ศาลพิพากษาว่า การประเมินของจำเลยไม่ชอบ ให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์505,394.17 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าราคาของหรือสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้นั้นต่ำกว่าราคาที่แท้จริงในท้องตลาด เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงได้ประเมินราคาเพิ่มขึ้นเพื่อให้เป็นราคาถูกต้องแท้จริงตามท้องตลาดเมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยในคดีนี้ชอบด้วยข้อเท็จจริง เหตุผลและข้อกฎหมายแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกคืนเงินจำนวน 505,394.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยคืนจากจำเลย
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงยุติว่าของที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเลขที่ 041-50767 นำเข้าวันที่ 4 เมษายน 2531 สำแดงราคาไว้754,800 บาท อากรขาเข้า 150,960 บาท เจ้าพนักงานของจำเลยเห็นว่าราคาที่สำแดงไว้ไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงได้ประเมินราคาใหม่ ทำให้โจทก์ต้องเสียอากรขาเข้าเพิ่มขึ้นเป็นเงิน505,394.17 บาท โจทก์ได้ชำระค่าอากรที่ประเมินเพิ่มแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของของที่โจทก์นำเข้านั้นจะมีราคาตามที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าหรือตามที่เจ้าพนักงานประเมิน…บทบัญญัติในมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ที่บัญญัติว่า “คำว่า “ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด” หรือ “ราคา” แห่งของอย่างใดนั้น หมายความว่าราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่นำของเข้าหรือส่งออกแล้วแต่กรณี โดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด”โจทก์นำของเข้าเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2531 แต่ของตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าที่จำเลยนำมาใช้เปรียบเทียบตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 5 นำเข้าเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2530แผ่นที่ 7 นำเข้าเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2530 อันเป็นการนำเข้าในเวลาที่แตกต่างกัน ทั้งเครื่องจักรที่ผลิตมาใช้เมื่อ 20 ปีมาแล้วกับเครื่องจักรที่ผลิตขึ้นมาใหม่ในระยะสองสามปีนี้เป็นที่เห็นได้ว่าจะมีการพัฒนาต่างกันไปมากจนไม่อาจจะนำเอาราคามาเทียบกันได้ในการสั่งซื้อเครื่องจักรรายพิพาทนี้ได้ความว่าเป็นการซื้อขายเฉพาะราย ผู้ขายในต่างประเทศไม่เคยติดต่อค้าขายกับโจทก์เป็นประจำการที่จะมีการสมรู้กันเพื่อให้มีการสำแดงราคาสินค้าต่ำลงไปจึงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ และในการชำระราคาสินค้ารายนี้โจทก์ก็ดำเนินการโดยผ่านทางธนาคารตามเลตเตอร์ออฟเครดิต เอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 6 และเมื่อพิจารณาจากหลักฐานการเสนอราคาของบริษัทจากไต้หวันตามใบเสนอราคาเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 และ 2 และใบกำกับสินค้าตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 3 ก็ไม่มีข้อที่จะแสดงให้เห็นว่ามีการขายกันในราคาที่มีการหักทอนลดหย่อนจากราคาที่ควรจะเป็นตามทางนำสืบของจำเลยก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใด ๆ ในทางที่จะทำให้เห็นว่า โจทก์และผู้ขายในต่างประเทศนั้นได้มีการสมคบกันกำหนดราคาตามใบแสดงราคาให้ต่ำกว่าปกติ จึงต้องฟังว่าราคาของที่ขายกันตามที่ปรากฏในใบเสนอขายและใบกำกับสินค้านั้นเป็นไปตามปกติธรรมดาของของที่จะซื้อขายกัน เมื่อราคาที่ปรากฏนั้นเป็นราคาซี.ไอ.เอฟ. กรุงเทพมหานคร จึงเป็นราคา ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าซึ่งจะพึงขายของที่นำเข้าได้โดยไม่ขาดทุน อันถือได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเชื่อได้ว่าราคาที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าซึ่งเท่ากับราคาที่ปรากฏในใบกำกับสินค้าจะเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ราคาที่เจ้าพนักงานนำมาใช้ในการประเมินใหม่นั้นถือไม่ได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของของที่โจทก์นำเข้า เจ้าพนักงานประเมินนำเอาราคาดังกล่าวมาประเมินเพื่อเก็บอากรเพิ่มจากโจทก์จึงเป็นการไม่ถูกต้องการประเมินของเจ้าพนักงานจำเลยจึงไม่ชอบ จำเลยจึงต้องคืนเงินอากรขาเข้าที่โจทก์จ่ายเพิ่มจำนวน 505,394.17 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอนับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2521ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชำระค่าอากรแก่จำเลย…”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน 505,394.17 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2521จนถึงวันที่จำเลยชำระเสร็จ.