แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเพียงผู้ให้เช่ารถเพื่อใช้บรรทุกและเก็บสินค้าคือเครื่องจักรพิพาทไว้ในบริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทยจนกว่าเจ้าของสินค้าจะขนย้ายออกไปเท่านั้น ไม่ได้มีสัญญาต่อกันว่าโจทก์จะต้องขนสินค้าดังกล่าวไปส่งให้แก่เจ้าของสินค้า ณ สถานที่แห่งอื่นอย่างไรจึงไม่มีค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ที่โจทก์จะเรียกเอาจากเจ้าของสินค้าได้ คงมีเฉพาะค่าเช่าที่เจ้าของสินค้าค้างชำระอยู่สัญญาระหว่างโจทก์กับเจ้าของสินค้าจึงไม่ใช่สัญญารับขนของโจทก์จึงอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 630ยึดหน่วงเครื่องจักรพิพาทที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 ประมูลซื้อไว้เพื่อเป็นประกันการชำระค่าเช่าที่เจ้าของสินค้าค้างชำระหาได้ไม่และเมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิยึดหน่วงดังกล่าว การที่จำเลยที่ 2ร่วมกับจำเลยที่ 7 เข้าทำการตรวจค้นที่ทำการของโจทก์แล้วยึดเอาเครื่องจักรพิพาทจากโจทก์ไป จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระหนี้ในมูลละเมิดอันเป็นการขอให้ชำระหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า มีผู้นำสินค้าเครื่องจักรซึ่งเป็นของเก่าจากประเทศเยอรมนีเข้ามาในประเทศไทยทางเรือ ผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าวได้ว่าจ้างรถเทรลเลอร์ โจทก์จำนวน 2 คัน ในอัตราค่าจ้างวันละ5,000 บาท มีการขนถ่ายสินค้าขึ้นบรรทุกรถเทรลเลอร์ ทั้งสองคันแล้วแต่ยังลากจูงออกจากบริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่ได้ ทั้งนี้เพราะผู้นำเข้าจะต้องดำเนินพิธีทางศุลกากรและชำระค่าธรรมเนียมให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยเสียก่อน โจทก์คอยอยู่เป็นเวลาหลายเดือน แต่ผู้นำเข้ามิได้ดำเนินการดังกล่าว โจทก์จะขนเครื่องจักรลงวางไว้กับพื้นก็ไม่อาจทำได้ เนื่องจากเครื่องจักรแต่ละเครื่องมีน้ำหนักถึงเครื่องละ 32 ตัน การท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่อนุญาตให้วางบนพื้น ต่อมากรมศุลกากรได้ทำการขายทอดตลาดสินค้าเครื่องจักรรายนี้ จำเลยที่ 6 ประมูลซื้อได้ โจทก์ได้มีหนังสือถึงกรมศุลกากรขอรับเงินค่าขายทอดตลาด ภายหลังจากหักภาษีอากรตามกฎหมายแล้วเป็นการชำระค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ที่ผู้นำเข้าจะต้องชำระให้แก่โจทก์ แต่กรมศุลกากรแจ้งว่าไม่อาจดำเนินการให้ได้ จำเลยที่ 6และที่ 7 ได้ตกลงว่าจ้างโจทก์ขนส่งเครื่องจักรที่ประมูลได้ไปส่งยังจุดหมายปลายทางโจทก์ขอให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ชำระค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ที่ค้างชำระเสียก่อน แต่จำเลยที่ 6 และที่ 7ไม่ยอมชำระ โจทก์จึงใช้สิทธิยึดหน่วงเครื่องจักรไว้ตามกฎหมายหลังจากนั้นจำเลยที่ 6 และที่ 7 สมคบกันร้องทุกข์อันเป็นเท็จต่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ว่า โจทก์และนายแสงทองบุณย์ศุภา ลูกจ้างของโจทก์ยักยอกเครื่องจักรที่จำเลยที่ 6ประมูลซื้อได้จากกรมศุลกากร จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ร่วมกับจำเลยที่ 7 เข้าทำการตรวจคันที่ทำการของโจทก์บริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทย โจทก์ได้แจ้งให้บุคคลเหล่านั้นทราบแล้วว่าโจทก์เป็นผู้รับจ้างทำการขนส่ง เมื่อผู้นำเข้ายังไม่ชำระค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงต้องใช้สิทธิยึดหน่วงตามกฎหมาย แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบทำการยึดเครื่องจักรดังกล่าวไปจากการครอบครองของโจทก์และมอบให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 นำไปติดตั้งในโรงงานของจำเลยที่ 6โดยมีเจตนาช่วยเหลือมิให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ต้องเสียเงินค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์มีหนังสือร้องเรียนไปยังจำเลยที่ 5 กล่าวโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ว่ากระทำการโดยมิชอบด้วยหน้าที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ดำเนินการสอบสวนและใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 2,385,000 บาท จำเลยที่ 5 ทราบแล้วเพิกเฉย จำเลยที่ 5และที่ 6 ในฐานะตัวการและนายจ้างจะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของตัวแทนและลูกจ้างชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิยึดหน่วงเครื่องจักรรายนี้ เพราะเครื่องจักรดังกล่าวทั้งสองเครื่องมีถิ่นกำเนิดจากประเทศเยอรมนี และโจทก์นำรถเทรลเลอร์ ไปรับเครื่องจักรจากเรือโดยมิได้ระบุว่าผู้ใดเป็นผู้ว่าจ้าง ภายหลังเครื่องจักรตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมาย กรมศุลกากรได้ดำเนินการขายทอดตลาดตามมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329 พ.ศ. 2515 ข้อ 10 จำเลยที่ 6ประมูลซื้อได้ กรมศุลกากรจึงส่งมอบเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์ให้แก่จำเลยที่ 6 และจำเลยที่ 6 ได้ว่าจ้างโจทก์ขนเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวไปส่งให้แก่จำเลยที่ 6 โดยจำเลยที่ 6 ชำระค่าจ้างให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่พนักงานโจทก์คงนำเฉพาะอุปกรณ์ของเครื่องจักรไปส่งให้แก่จำเลยที่ 6 ส่วนเครื่องจักรจำนวน 2 เครื่องโจทก์ไม่จัดส่งให้แก่จำเลยที่ 6 โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญารับขนส่งสินค้าจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงเครื่องจักรไว้ โจทก์ไม่ใช่ผู้ครอบครองทรัพย์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 6 โดยจำเลยที่ 7 ได้ร้องทุกข์เจ้าพนักงานตำรวจสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้วเห็นว่ามีมูลจำเลยที่ 2 จึงขอหมายค้นจากจำเลยที่ 1 และร่วมกับจำเลยที่ 3และที่ 4 ตรวจยึดเครื่องจักรของจำเลยที่ 6 จำนวน 2 เครื่องจากโจทก์มาเป็นของกลาง ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ขออนุมัติจับกุมตัวนายแสงทองหัวหน้ากองเดิน รถเทรลเลอร์ ของโจทก์มาดำเนินคดีในข้อหาฐานยักยอกทรัพย์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ปฏิบัติราชการไปตามอำนาจหน้าที่มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกสูงเกินไปขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 และที่ 7 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 6และที่ 7 ประมูลซื้อเครื่องจักรพิพาทได้จากกรมศุลกากรและได้ชำระราคาแล้ว กรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรพิพาทจึงตกเป็นของจำเลยที่ 6และที่ 7 เมื่อจำเลยที่ 6 และที่ 7 ว่าจ้างโจทก์ขนส่งเครื่องจักรพิพาทโจทก์ก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาจ้าง แต่โจทก์กลับใช้สิทธิอันไม่สุจริตนำเครื่องจักรพิพาทไปโดยทุจริต เป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 6 และที่ 7 ทำให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 500,000 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่จำเลยที่ 6 และที่ 7
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 7 กระทำละเมิดต่อโจทก์ในฐานะส่วนตัวและตัวแทนของจำเลยที่ 6 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์จำเลยที่ 7 มิได้เสียหายเป็นส่วนตัว ฟ้องแย้งขาดอายุความ จำเลยที่ 6และที่ 7 ว่าจ้างโจทก์ขนส่งเครื่องจักรพิพาทและสิ่งของอื่นด้วยแต่สำหรับเครื่องจักรพิพาทโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 6 และที่ 7ทราบแล้วว่าจะไม่ทำการขนส่งให้ ก่อนซื้อเครื่องจักรพิพาทจำเลยที่ 6ที่ 7 ทราบอยู่แล้วว่า เครื่องจักรดังกล่าวบรรทุกอยู่บนรถโจทก์พร้อมทั้งค้างชำระค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ต่าง ๆ ตลอดจนค่าธรรมเนียมอื่น ๆ แก่โจทก์ด้วย ขณะที่จำเลยที่ 6 และที่ 7ติดต่อว่าจ้างโจทก์ให้ขนส่งเครื่องจักรพิพาทและสิ่งของอื่นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้แจ้งให้ทราบถึงสิทธิยึดหน่วงของโจทก์และแจ้งให้รับเงินค่าจ้างขนส่งเครื่องจักรพิพาทคืน แต่จำเลยที่ 6และที่ 7 ไม่ยอมรับคืน จำเลยที่ 6 และที่ 7 ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 6 และที่ 7ชำระเงินจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 6 ที่ 7
โจทก์ จำเลยที่ 6 และที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6และที่ 7 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,385,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ว่าโจทก์มีสิทธิยึดหน่วงเครื่องจักรพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 630หรือไม่ ปัญหานี้ พิจารณาบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวซึ่งบัญญัติว่า”ผู้ขนส่งชอบที่จะยึดหน่วงเอาของไว้ก่อนได้ตามที่จำเป็นเพื่อประกันการใช้เงินค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์” แล้วจะเห็นได้ว่า ผู้มีสิทธิยึดหน่วงต้องเป็นผู้ขนส่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 608และ 610 ผู้ขนส่งคือบุคคลผู้รับขนส่งของหรือคนโดยสารเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตน บุคคลผู้ทำความตกลงกับผู้ขนส่งเพื่อให้ขนของส่งไป เรียกว่าผู้ส่งหรือผู้ตราส่ง บุคคลผู้ซึ่งเขาส่งของไปถึงเรียกว่าผู้รับตราส่ง บำเหน็จอันจะต้องจ่ายให้เพื่อการขนส่งของนั้นเรียกว่าค่าระวางพาหนะ บทบัญญัติดังกล่าวนี้ ย่อมมีความหมายชัดแจ้งอยู่แล้วว่า การรับขนของเป็นสัญญาที่ผู้ขนส่งตกลงจะทำการขนส่งของจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยเรียกค่าระวางพาหนะจากผู้ส่งหรือผู้ตราส่ง ในชั้นนี้จึงเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับผู้นำเข้าเครื่องจักรพิพาทหรือเจ้าของสินค้าดังกล่าวเป็นสัญญารับขนของหรือไม่ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโจทก์เป็นเพียงผู้ให้เช่ารถเทรลเลอร์หรือรถบรรทุกโลบอยเพื่อใช้บรรทุกและเก็บสินค้าคือเครื่องจักรพิพาทไว้ในบริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทยจนกว่าเจ้าของสินค้าจะขนย้ายออกไปเท่านั้น ไม่ได้มีสัญญาต่อกันว่าโจทก์จะต้องขนสินค้าดังกล่าวไปส่งให้แก่เจ้าของสินค้าณ สถานที่แห่งอื่นแต่อย่างใด จึงไม่มีค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ที่โจทก์จะเรียกเอาจากเจ้าของสินค้าได้คงมีเฉพาะค่าเช่าที่เจ้าของสินค้าค้างชำระอยู่ สัญญาระหว่างโจทก์กับเจ้าของสินค้าจึงไม่ใช่สัญญารับขนของ และในกรณีดังกล่าวโจทก์ก็ไม่ใช่ผู้ขนส่ง ฉะนั้นโจทก์จะอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 630ยึดหน่วงเครื่องจักรพิพาทซึ่งจำเลยที่ 6 และที่ 7 ประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาดของกรมศุลกากรไว้เพื่อเป็นประกันการชำระค่าเช่าที่เจ้าของสินค้าค้างชำระหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิยึดหน่วงดังกล่าว การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 7 เข้าทำการตรวจค้นที่ทำการของโจทก์ แล้วจำเลยที่ 2 ยึดเอาเครื่องจักรพิพาทจากโจทก์มาเป็นของกลาง การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 7 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 อีกต่อไป คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ฟังขึ้น
เนื่องจากคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระหนี้ในมูลละเมิดอันเป็นการขอให้ชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6และที่ 7 ชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ดังวินิจฉัยมาแล้วศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247″
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์