คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6327/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุก จึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องสอบถามจำเลยก่อนเริ่มพิจารณาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลชั้นต้นตั้งทนายความให้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ มาตรา 3 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในการพิจารณาคดีของศาล เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินการสอบถามจำเลยในเรื่องดังกล่าวในวันสอบคำให้การของจำเลย แม้จำเลยจะแต่งตั้งทนายความเข้ามาในคดีในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ตาม แต่ก็เป็นการแต่งตั้งทนายความหลังจากศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ โดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2), มาตรา 225 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดกระทงที่สองให้จำคุก 4 เดือน ลงโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 เดือน เมื่อรวมโทษทั้งสองกระทงแล้ว เป็นจำคุก 5 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุก จึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องสอบถามจำเลยก่อนเริ่มพิจารณาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลชั้นต้นตั้งทนายความให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในการพิจารณาคดีของศาล เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินการสอบถามจำเลยในเรื่องดังกล่าวตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 วันที่ 7 กันยายน 2546 และวันที่ 18 สิงหาคม 2546 ซึ่งเป็นวันสอบคำให้การของจำเลย แม้จำเลยจะแต่งตั้งทนายความเข้ามาในคดีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ตาม แต่ก็แป็นการแต่งตั้งทนายความหลังจากศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ โดยจำต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้วย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share