แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากรฯ กำหนดสินค้าตามประเภทพิกัด 0508.00 ว่า “หินปะการังและสิ่งที่คล้ายกันที่ยังไม่ได้จัดทำหรือจัดทำอย่างง่าย ๆ … เปลือกของสัตว์น้ำจำพวกโมลลุสก์ ครัสตาเซีย หรือเอคไคโนเดิร์ม และลิ้นทะเลที่ยังไม่ได้จัดทำหรือจัดทำอย่างง่าย ๆ แต่ไม่ได้ตัดเป็นรูปทรง รวมทั้งผงและเศษของสิ่งดังกล่าวด้วย” และกำหนดสินค้าที่จัดอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 ว่า “ปลาหรือสัตว์น้ำจำพวกครัสตาเซีย โมลลุสก์ สัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ ที่ป่นที่ทำเป็นเพลเลต” เห็นว่า สินค้าที่จัดอยู่ประเภทพิกัด 0508.00 จำกัดว่าเป็นเปลือกของสัตว์น้ำจำพวกดังกล่าวรวมทั้งผงและเศษของสิ่งดังกล่าวที่ยังไม่ได้จัดทำหรือจัดทำอย่างง่าย ๆ ส่วนสินค้าสัตว์น้ำจำพวกเดียวกันนี้ที่จัดอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 ไม่ได้จำกัดว่าเป็นเฉพาะเปลือก แต่กำหนดลักษณะว่าได้ป่นหรือได้ทำเป็นเพลเลต และคดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทตามใบขนสินค้าขาเข้าฯ แต่ละฉบับไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 25 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางรับฟังมาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 238 ดังนั้น จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลภาษีอากรกลางรับฟังมาว่า สินค้ารายพิพาทเป็นกากกุ้งประกอบด้วยหัว เปลือก หาง และอาจมีเศษเนื้อติดอยู่บ้างที่เหลือจากการนำเนื้อกุ้งไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแล้ว มีลักษณะป่นเป็นผง เมื่อสินค้ามีลักษณะป่นเป็นผงจึงจัดอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 ตามวิธีการตีความที่ พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากรฯ ภาค 1 หลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร หลักเกณฑ์ ข้อ 3 (ก) ที่กำหนดไว้ว่า ของที่อาจจำแนกประเภทได้ตั้งแต่สองประเภทขึ้นไป ถ้าประเภทหนึ่งระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะและประเภทอื่นระบุไว้อย่างกว้าง ๆ ให้จัดของนั้นเข้าประเภทที่ระบุไว้โดยเฉพาะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 15 มกราคม 2542 ถึงวันที่ 11 มกราคม 2543 จำเลยนำเข้าสินค้าประเภทกากกุ้งจากประเทศพม่าเข้ามาในราชอาณาจักรทางท่าเรือจังหวัดระนองจำนอง 6 ครั้ง โดยสำแดงประเภทพิกัด 2301.20 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 10 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจสอบและพิจารณาแล้วเป็นที่พอใจจึงให้จำเลยชำระอากรขาเข้าและอากรพิเศษแล้วปล่อยสินค้าดังกล่าวให้จำเลยรับไป ต่อมาผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรภาคที่ 5 ทักท้วงการประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้าว่าสินค้ากากกุ้งดังกล่าวมิได้อยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 อัตราอากรร้อยละ 10 แต่อยู่ในประเภทพิกัด 1508.00 อัตราอากรร้อยละ 35 เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าและอากรพิเศษที่ขาดจากจำเลยพร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของอากรที่ต้องชำระนับแต่วันปล่อยสินค้าไปจนกว่าจะชำระอากร และเงินเพิ่มอากรพิเศษในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มอากรขาเข้า โดยแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2543 แต่จำเลยมิได้นำเงินค่าอากรที่ขาดมาชำระและมิได้โต้แย้งการประเมินคำนวณถึงวันฟ้องจำเลยต้องรับผิดชำระอากรและอากรพิเศษพร้อมเงินเพิ่มอากรสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 6 ฉบับดังกล่าวเป็นเงิน 97,253.84 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 97,253.84 บาท พร้อมเงินเพิ่มอากรในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของอากรที่ค้างชำระตามใบขนสินค้าขาเข้าแต่ละฉบับนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และเงินเพิ่มอากรพิเศษในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มอากรขาเข้า
จำเลยให้การว่า สินค้ากากกุ้งที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นสินค้าที่จัดอยู่ในประเภทอาหารสัตว์หรือกากและเศษที่เหลือจากอุตสาหกรรมผลิตอาหารหรืออาหารที่จัดทำไว้สำหรับเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีลักษณะป่น จึงอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 หมวด 4 ตอนที่ 23 ของพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 อัตราอากรร้อยละ 10 มิได้อยู่ในประเภทพิกัด 1508.00 หมวด 1 ตอนที่ 5 อัตราอากรร้อยละ 35 จำเลยชำระอากรถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางรับฟังมาได้ความว่า เมื่อระหว่างวันที่ 15 มกราคม 2542 ถึงวันที่ 11 มกราคม 2543 จำเลยนำสินค้ากากกุ้งเข้ามาในราชอาณาจักรรวม 6 ครั้ง โดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มแสดงรายการว่าสินค้าจัดอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 10 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์พิจารณาแล้วพอใจราคาและพิกัดที่จำเลยสำแดงไว้ จึงให้จำเลยชำระอากรและตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไปในวันนั้น ตามใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์อ้างว่าจำเลยสำแดงประเภทพิกัดไม่ถูกต้อง ทำให้ค่าอากรขาดไป ที่ถูกแล้วสินค้ารายพิพาทจัดอยู่ในประเภทพิกัด 0508.00 อัตราอากรร้อยละ 35 ทำให้จำเลยชำระอากรขาเข้าขาดไป จึงแจ้งให้จำเลยชำระพร้อมเงินเพิ่มและให้จำเลยชำระอากรพิเศษตามประกาศกระทรวงการคลังสำหรับการนำเข้าครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ด้วย แต่จำเลยไม่ชำระ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า สินค้ารายพิพาทที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรในคดีนี้เป็นสินค้าที่จัดอยู่ในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภท 0508.00 ตามที่โจทก์อ้างหรืออยู่ในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภท 2301.20 ตามที่จำเลยได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มในขณะนำเข้า พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 กำหนดสินค้าตามประเภทพิกัด 0508.00 ว่า “หินปะการังและสิ่งที่คล้ายกัน ที่ยังไม่ได้จัดทำหรือจัดทำอย่างง่าย ๆ… เปลือกของสัตว์น้ำจำพวกโมลลุสก์ ครัสตาเซียหรือเอคไคโนเดิร์ม และลิ้นทะเลที่ยังไม่ได้จัดทำหรือจัดทำอย่างง่าย ๆ แต่ไม่ได้ตัดเป็นรูปทรง รวมทั้งผงและเศษของสิ่งดังกล่าว” และกำหนดสินค้าที่จัดอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 ว่า “ปลาหรือสัตว์น้ำจำพวกครัสตาเซีย โมลลุสก์ สัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ ที่ป่น ที่ทำเป็นเพลเลต” พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สินค้าสัตว์น้ำจำพวกโมลลุสก์ ครัสตาเซีย หรือเอคไคโนเดิร์ม ที่จัดอยู่ในประเภทพิกัด 0508.00 จำกัดว่าเป็นเปลือกของสัตว์น้ำจำพวกดังกล่าวรวมทั้งผงและเศษของสิ่งดังกล่าวที่ยังไม่ได้จัดทำหรือจัดทำอย่างง่าย ๆ ส่วนสินค้าสัตว์น้ำจำพวกเดียวกันนี้ที่จัดอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 ไม่ได้จำกัดว่าเป็นเฉพาะเปลือก แต่กำหนดลักษณะว่าได้ป่นหรือได้ทำเป็นเพลเลต คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทตามใบขนสินค้าขาเข้าฯ แต่ละฉบับไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางรับฟังมาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ซึ่งศาลภาษีอากรกลางรับฟังข้อเท็จจริงมาว่าสินค้ารายพิพาทเป็นกากกุ้งประกอบด้วยหัว เปลือก หาง และอาจมีเศษเนื้อติดอยู่บ้าง ที่เหลือจากการนำเนื้อกุ้งไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแล้ว มีลักษณะป่นเป็นผง ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าสินค้ารายพิพาทยังไม่มีการทำให้ป่น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางรับฟังมาต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เมื่อสินค้ารายพิพาทมีลักษณะป่นเป็นผงจึงจัดอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 ตามวิธีการตีความที่พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ภาค 1 หลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร หลักเกณฑ์ข้อ 3 (ก) กำหนดไว้ว่า ของที่อาจจำแนกประเภทได้ตั้งแต่สองประเภทขึ้นไปถ้าประเภทหนึ่งระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะและประเภทอื่นระบุไว้อย่างกว้าง ๆ ให้จัดของนั้นเข้าประเภทที่ระบุไว้โดยเฉพาะ ที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มในขณะนำเข้าว่าสินค้ารายพิพาทอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 จึงถูกต้องแล้ว”
พิพากษายืน